เวนคืน รื้อบ้าน400หลัง สร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม กระทบ7ชุมชนประชาสงเคราะห์อ่วม

05 ส.ค. 2567 | 10:26 น.
อัพเดตล่าสุด :06 ส.ค. 2567 | 01:13 น.

เวนคืนที่ดิน รื้อบ้าน 400หลัง สร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก กระทบ7ชุมชน ประชาสงเคราะห์ ใจกลางรัชดา-วิภาวดี 1000หลังคาเรือน ชาวบ้านลุยฟ้อง ศาลปกครองชี้ ข้ามขั้นตอนอีไอเอไม่จัดประชุมทำความเข้าใจชาวบ้าน

 กรณีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)  ออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) ต่อบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM

 เพื่อก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)  ในส่วนตะวันตกเรียบร้อยแล้ว และมีกำหนดเข้าพื้นที่ในเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป

สายสีส้ม

โดยเงื่อนไขสัญญาร่วมทุนฯแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนแรกงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้าช่วงตะวันออกจากศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรีแล้วเสร็จภายใน 3 ปี 6 เดือน

ส่วนที่สอง ก่อสร้างงานโยธาอุโมงค์ตลอดแนวพร้อมสถานีใต้ดิน รวมถึงการติดตั้งระบบรถไฟฟ้า รถไฟฟ่าสายสีส้มส่วนตะวันตก บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯให้แล้วเสร็จภายใน 6 ปี

 

 

ขณะการเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2567 จำนวน 40 เขตที่ดิน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ์พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า กรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดสร้างโครงการขนส่งด้วยระบบรถไฟฟ้า และกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการรถไฟฟ้า

ตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ เพื่อนำที่ดินไปชดเชยให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วง บางขุนนนท์- มีนบุรี (สุวิทวงศ์ )

จากการตรวจสอบพบว่ามีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนประกอบด้วยที่ดินจำนวน380แปลง อสังหาริมทรัพย์จำนวน410แปลง และสิ่งปลูกสร้างจำนวน400หลัง ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดอยู่บริเวณเขตดินแดง จำนวน2แขวง

ได้แก่แขวงรัชดาภิเษกและแขวงดินแดงจำนวน7ชุมชนหรือย่านประชาสงเคราะห์ จำนวน182 หลังคาเรือน ที่รถไฟฟ้าสายสีส้มวิ่งผ่ากลางชุมชน แต่ตามข้อเท็จจริงชาวชุมชนระบุว่าได้รับผลกระทบมากถึง1,000หลังคาเรือนโดยคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย

มองว่าค่าชดเชยจากการเวนคืนอาจไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับการได้อยู่กับย่านที่เจริญแล้วและใกล้แหล่งงานอีกทั้งยังมีรถไฟฟ้าสายสีส้มเข้ามา แต่แทนที่ชุมชนจะได้รับประโยชน์แต่กลับเป็นฝ่ายที่ถูกเลือกให้เดินออกจากบ้านของตัวเองไป และมีคนใหม่ๆเข้ามาอยู่แทนรับกับความเจริญที่เปลี่ยนแปลงไป

ที่สำคัญไปกว่านั้น ชาวบ้านอ้างว่า เวลาผ่านไป11ปีจนกระทั่งจะลงมือก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม แต่ยังไม่เห็นรฟม.เข้ามาพูดคุยกับชาวบ้าน หากมีการพูดคุยและมีการชดเชยที่สมเหตุสมผลมองว่าทุกคนในพื้นที่อาจจะยินยอม

 ทั้งนี้ นายประทีป นิลวรรณ ประธานชุมชนแม่เนี้ยวแยก3 หนึ่งในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืน และแกนนำชุมชนเปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ภายในไม่เกินวันที่5กันยายน ในฐานะผู้แทนชุมชนเตรียมยื่นต่อศาลปกครอง

เพื่อฟ้องรัฐบาลซึ่งประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรฟม.โดยอ้างว่าร่วมกันออกพรฎเวนคืน ขัดต่อขั้นตอน การขออนุญาตจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ( อีไอเอ)  ปี2564

ที่สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) อนุมัติอีไอเอ ให้กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มแต่มีเงื่อนไขว่ารฟม.ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนในรัศมีก่อสร้าง และให้ผู้ที่ถูกกระทบนั่งเป็นกรรมการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชน อย่างน้อย1คน เป็นต้น

ส่วนเขตทางที่เวนคืนมองว่ากำหนดเขตทางกว้างจนเกินจำเป็นคือ ข้างละ100เมตร และมีเกาะกลาง กว้าง16เมตร จากถนนวิภาวดีไปสิ้นสุด ถนนรัชดาฯ ยาว 22กิโลเมตร มองว่าได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า1000หลังคาเรือน เพราะมีเขตทางที่ถูกกันค่อนข้างกว้าง  

ขณะการก่อสร้างจะใช้เทคนิค เปิดหน้าดินและฝังกลบเพื่อทำเป็นเขตทางให้รถยนต์วิ่งผ่าน ซึ่งชาวบ้านต้องการให้ใช้หัวเจาะเพื่อลดผลกระทบ และสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องย้ายถิ่นฐานโดยยืนยันว่าจะไม่ยอมออกจากพื้นที่ แม้จะชดเชยตารางวะ1แสน-2แสนบาทต่อตารางวาก็ตาม   

ไม่เคยมีใครมาคุยกับชุมชน สุดท้ายมายื่นออกอีไอเอฉบับสมบูรณ์ กับสผ.โดยคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติอีไอเอเขียนระบุชัดว่าก่อนจะลงมือก่อสร้างต้องจัดประชุมประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และต้องได้ข้อยุติ ถ้าจะเวนคืนต้องเอาคนที่ได้รับผลกระทบ มานั่งเป็นคณะกรรมการเพราะส่วนใหญ่เป็นตึกแถวอาคารพาณิชย์ สูง4-5ชั้น และบ้านปลูกสร้างเองบนที่ดินของตัวเองไม่ใช่ที่ดินบุกรุก

ที่ผ่านมาชุมชนประชาสงเคราะห์ทั้ง7ชุมชนอยู่มาตั้งแต่ปี2500 ตั้งแต่รัชดาภิเษกและวิภาวดียังไม่เจริญยังเป็นท้องนา แต่ปัจจุบันมีความเจริญอย่างมากสะท้อนจากค่าชดเชยเวนคืน ให้กับ แปลงที่ดินเอกชนรายใหญ่ คราวที่สร้างรถไฟสายสีส้มส่วนตะวันออก บริเวณสถานีร่วมศูนย์วัฒนธรรมฯได้รับชดเชยค่าเวนคืน ตารางวาละ6แสนบาท

สำหรับชุมชนทั้ง7ย่านประชาสงเคราะห์  ที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนได้แก่  ชุมชนสุรศักดิ์มนตรี  กว่า100-200หลังคาเรือน ชุมชนแม่เนี้ยวแยก3 มี280หลังคาเรือน  ชุมชนแยกแม่เนี้ยวแยก2  มี 100หลังคาเรือน ชุมชน ผาสุก กว่า100หลังคาเรือน ชุมชนแสนสุขกว่า100หลังคาเรือน ชุมชนสวัสดี กว่า100หลังคาเรือน ชุมชนชานเมือง กว่า1,000หลังคาเรือน

แนวเส้นทาง หลังออกจากสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯแล้วจะลอดใต้ห้างเอสพานาด รัชดาฯ วิ่งผ่ากลาง7ชุมชนประชาสงเคราะห์ไปที่สถานีประชาสงเคราะห์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนดรุณพาณิชยการเดิมจากนั้น วิ่งต่อไปยังสถานีดินแดง ถนนวิภาวดี ใกล้กับสถานีบริการน้ำมันปตท. บริเวณโค้งถนนมิตรไมตรี ศาลาว่าการกทม.2

หากมาทางถนนวิภาวดี จะเบี่ยงเข้าสนามกีฬาโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรีตัดตรงเข้าชุมชน  ตัดผ่ากลางซอยย่อยที่ประชาชนสัญจรมากถึง17ซอย ทำให้ ปากซอย และท้ายซอยแยกออกจากกันโดยมี รถไฟฟ้าสายสีส้มคั้นกลาง