ปั้นคลองเตย ขุมทรัพย์แสนล้าน 2.3พันไร่ผุดมิกซ์ยูส-เวลเนส ระดับ เวิลด์คลาส

10 พ.ค. 2567 | 09:25 น.

“มนพร” เปิดแผนพัฒนาท่าเรือคลองเตย 2.3 พันไร่ มูลค่า 1 แสนล้านบาท ลุยปั้นมิกซ์ยูสผุดศูนย์สุขภาพใจกลางเมืองครบวงจร ดึงดูดนักท่องเที่ยว 1.3 หมื่นครัวเรือน ย้ายขึ้นตึกสูง “เศรษฐา” สั่งตั้งคณะทำงานทบทวนแผนปี 62 ให้อัปเดต ปี 78เปิดใช้ เอกชนหนุนสร้างเมืองเศรษฐกิจใหม่

 

 

 แผนย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) จุดประกายมาตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ มีแผนพัฒนาเป็นมารีน่าเบย์ เทียบชั้น สิงคโปร์ มีเป้าหมาย สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประเทศ เนื่องจากทำเลมีศักยภาพเป็นที่ดินแปลงใหญ่ติดริมแม่นํ้าเจ้าพระยา สามารถรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองประกอบกับชุมชนในพื้นที่ต่อต้านทำให้โครงการถูกพับแผนออกไป

 

 กระทั่งมาถึงยุครัฐคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลประยุทธ์ มีนโยบายให้รัฐวิสาหกิจนำที่ดินแปลงศักยภาพออกพัฒนาสร้างรายได้ และหนึ่งในนั้น คือ ท่าเรือคลองเตย ขุมทรัพย์ขนาดใหญ่ บนที่ดิน 2,353 ไร่ทำเลศักยภาพบนถนนพระราม4 ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กลายเป็นย่านศูนย์กลางธุรกิจ

มีโครงการขนาดใหญ่ของภาคเอกชนเกิดขึ้นรายรอบอย่าง อาณาจักรของตระกูลสิริวัฒนภักดี โครงการวันแบงค็อก ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เดอะปาร์ค ฯลฯ มีระบบโครงข่ายทั้งระบบราง ถนน และทางพิเศษ(ทางด่วน) เชื่อมเข้าพื้นที่ หากคลองเตยมีการพัฒนาจะเชื่อมเป็นเนื้อเดียวแบบไร้รอยต่อ

 

ปั้นขุมทรัพย์คลองเตย แสนล้าน

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแผนพัฒนาท่าเรือคลองเตยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการ มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับกทท. กรุงเทพมหานคร (กทม.) เร่งศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของการย้ายท่าเรือคลองเตย ออกจากพื้นที่กทม.ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

อีกทั้งให้พิจารณาจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือคลองเตย เพื่อใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้นและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่นั้น ปัจจุบันกระทรวงอยู่ระหว่างรอหนังสือเวียนสั่งการดังกล่าว คาดว่าหลังจากได้รับหนังสือแล้วจะตั้งคณะทำงานศึกษาโครงการการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพหรือท่าเรือคลองเตย (Smart City Port)

 ปัจจุบันมีความจำเป็นที่ต้องทบทวนแผนพัฒนาฯ ในปี 2562 ใหม่ เพราะแผนเดิมมีการศึกษาในกรอบระยะเวลา 5 ปี แต่ปัจจุบันเลยกำหนดระยะเวลาแผนดำเนินการแล้ว แต่ยังยืนยันว่าจะเป็นแผนต้นแบบ ซึ่งจะต้องพิจารณาดูว่าจะต้องพัฒนาระยะใดบ้าง โดยหลักการในการย้ายท่าเรือคลองเตย ยังคงพื้นที่ไว้บางส่วน เพื่ออำนวยความสะดวกต่อนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ากรุงเทพฯชั้นในผ่านเรือสำราญ นอกจากนี้บางพื้นที่เช่าอยู่ในความดูแลหน่วยงานอื่นๆจะต้องพิจารณาความเหมาะสมและระยะเวลาที่เหมาะสม

สำหรับโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้พื้นที่ท่าเรือคลองเตยมีพื้นที่ 2,353 ไร่ มูลค่าการลงทุนประมาณ 100,000 ล้านบาท ของกทท. ประกอบด้วย พื้นที่ในเขตรั้วศุลกากร 943 ไร่ นอกเขตรั้วศุลกากร 1,410 ไร่ ซึ่งการท่าเรือฯ ได้มีการศึกษาแผนแม่บท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยเป็นการใช้พื้นที่ในเขตรั้วศุลกากร 490 ไร่ และนอกเขตรั้วศุลกากร 582 ไร่ ในการปรับรูปแบบการให้บริการที่ทันสมัย ประกอบด้วย การสร้างท่าเทียบเรือและลานกองเก็บตู้สินค้าแบบกึ่งอัตโนมัติรวมถึงการพัฒนาคลังสินค้าแนวสูง ซึ่งจะช่วยลดสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทยต่อ GDP ลง 0.77 %แต่ยังคงสามารถรักษาระดับการให้บริการคงเดิมที่ประมาณ 1.4 ล้าน TEU ต่อปี

จุดพลุมิกซ์ยูส -ศูนย์สุขภาพใจกลางเมือง

สำหรับพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวม 1,281 ไร่ ประกอบด้วย โครงการมิกซ์ยูสพื้นที่สำนักงาน, ที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า และพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว, โครงการท่าเรือสำราญ เพื่อส่งเสริมและเชื่อมโยงกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวเสริมสร้าง ธุรกิจการท่องเที่ยวใหม่ ด้านการท่องเที่ยวสมัยใหม่ และสนับสนุนนโยบาย ซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล ส่งเสริมสตาร์ทอัพ ตั้งเขตการค้าปลอดภาษี ส่งเสริมการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจต่างชาติ หอประชุม ศูนย์แสดงสินค้าที่ทันสมัยริมแม่นํ้าเจ้าพระยา ที่ถูกออกแ บบทางด้านสถาปัตยกรรมจากนักออกแบบทั่วโลกในการรังสรรค์อัตลักษณ์ความเป็นไทยที่โดดเด่นเป็นที่จดจำในระดับโลก ศูนย์สุขภาพใจกลางเมืองที่ทันสมัยและครบวงจร

ดูแล1.3หมื่นครัวเรือน ขึ้นตึกสูง

ส่วนการจัดพื้นที่บางส่วนสำหรับเป็นพื้นที่พักอาศัยเพื่อชุมชนในแนวสูง และศูนย์ฝึกอาชีพ เพื่อช่วยเหลือชาวชุมชนคลองเตย ซึ่งเป็นตลาดแรงงานสำคัญของเมืองหลวง เพื่อพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิต สร้างงาน สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมลํ้า ลดปัญหาชุมชนแออัด ส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มเปราะบางตามนโยบายของรัฐบาล ปัจจุบันพบว่ามีชุมชนโดยรอบเขตท่าเรือ จำนวน 26 ชุมชน จำนวน 12,545 ครัวเรือน และชุมชนใต้ทางด่วน จำนวน 455 ครัวเรือน เบื้องต้นทางการท่าเรือฯได้ ประมาณการวงเงินอยู่ที่ 9,856 ล้านบาท บนพื้นที่ 58 ไร่

ทั้งนี้การก่อสร้างโครงการลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ในชุมชนคลองเตย เป็นอาคารพักอาศัยสูงรวมประมาณ 6,048 ยูนิต พร้อมด้วย อาคารส่วนกลางเพื่อรองรับอาคารสำนักงาน หน่วยงานราชการ สถานบริการสาธารณสุข องค์กรหรือมูลนิธิภายในชุมชน อาคารที่จอดรถ พื้นที่ตลาด พร้อมทั้งพื้นที่สำหรับโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก และพื้นที่สีเขียวเพื่ออำนวยความสะดวกในแก่ประชาชนภายในโครงการ ทั้งนี้ตามแผนจะดำเนินการแล้วเสร็จทุกโครงการในปี 2578

ตั้งบริษัทดูแลลงทุน PPP

ขณะรูปแบบในการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อให้สามารถนำนโยบายรัฐบาลไปปฏิบัติได้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมนั้น สามารถดำเนินโครงการในลักษณะการจัดตั้งบริษัทเพื่อดูแลการลงทุนระหว่างประเทศ International Holding Company (Case study: PSA สิงคโปร์) โดยนำที่ดินของการท่าเรือฯ เป็นหลักทรัพย์ตั้งต้นในการจัดตั้งบริษัท มุ่งเน้นการใช้สินทรัพย์ของการท่าเรือฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ

สามารถเชิญชวนนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศร่วมลงทุนในโครงการต่าง ๆ ในรูปแบบ PPP ระยะยาว รวมถึงการพิจารณาจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการระดมทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการนำรูปแบบความสำเร็จจากเมืองท่าเศรษฐกิจชั้นนำของโลก มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาโครงการฯ ให้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

ลุยศึกษาออกแบบ

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้กทท.อยู่ระหว่างจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาออกแบบรายละเอียดการพัฒนาท่าเรือคลองเตย ในรูปแบบท่าเรือกึ่งอัตโนมัติ และศูนย์กระจายสินค้า ภายในเขตรั้วของศุลกากร ซึ่งเป็นการลดขนาดพื้นที่และการใช้คน โดยจะนำเทคโนโลยีเข้ามาดำเนินการมากขึ้น คาดว่าจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2567 หลังจากนั้นตามขั้นตอนจะเสนอต่อคณะกรรมการ กทท.,กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป

“การพัฒนาท่าเรือกรุงเทพในพื้นที่เขตรั้วศุลกากรไม่ใช่เรื่องยาก แต่นอกเขตรั้วศุลกากรเป็นเรื่องที่ยากต้องทำความเข้าใจกับชุมชนด้วย”

ดันศูนย์ท่องเที่ยว ปลอดภาษี

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการกทท. กล่าวว่า ปัจจุบันกทท.อยู่ระหว่างศึกษาแผนพัฒนาท่าเรือในปัจจุบันให้เกิดประสิทธิภาพและมีความคุ้มค่า โดยเป็นการพัฒนาพื้นที่ในเขตรั้วศุลกากรประมาณ กว่า 900ไร่ ส่วนพื้นที่เหลือจะดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐ หากส่วนใดที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและประเทศ กทท.จะดำเนินการ เช่น การพัฒนาท่าเรือครุยส์, การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รูปแบบมิกส์ยูส,ศูนย์บริการ, ศูนย์ท่องเที่ยว รวมทั้งเขตปลอดภาษี ฯลฯ ซึ่งจะทำให้กรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ อย่างต่อเนื่อง

 “ส่วนการย้ายพื้นที่ชุมชนคลองเตยนั้น เราจะต้องดูแผนศึกษาพัฒนาท่าเรือฯทั้งหมดก่อนว่าเป็นอย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบต่อคนในพื้นที่ชุมชนโดยรอบ เพราะเขาถือเป็นผู้บุกเบิกไม่ใช่ผู้บุกรุก”

หนุนเมืองเศรษฐกิจใหม่

ด้านนายวรพจน์ กันตพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มที แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้บริหารอสังหา ริมทรัพย์, โรงแรม, ศูนย์การค้าในพื้นที่กรุงเทพฯโซนเหนือ กล่าวแสดงความคิดเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เห็นด้วยกับการที่ภาครัฐจะพัฒนาพื้นที่บริเวณคลองเตยให้เป็น Health Space เกรด A ท่าเรือยอร์จ ศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งใหม่

 “ถือเป็นทำเลที่มีศักยภาพ และสามารถพัฒนาให้เมืองเศรษฐกิจใหม่ เช่นเดียวกับหลายประเทศ จะเป็นท่าจอดเรือ อาคารสำนักงาน มิกซ์ยูส โรงแรม ถือเป็นเดสติเนชั่นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ประเทศได้ จากการสร้างงาน สร้างอาชีพ อีกทั้งการย้ายท่าเรือคลองเตยออกไปจะช่วยลดปัญหาการจราจร และลด PM2.5 จากรถใหญ่ที่เข้า-ออกจำนวนมากในแต่ละวัน ซึ่งที่ผ่านมานายกฯ เดินทางไปต่างประเทศเพื่อเชิญชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนอยู่แล้ว หากมีนโยบายที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเมืองเศรษฐกิจใหม่ให้เกิดขึ้นในบริเวณคลองเตยอย่างชัดเจน เชื่อว่าจะมีผู้สนใจเข้ามาลงทุนอย่างแน่นอน”

 

  แผนพัฒนาท่าเรือคลองเตย