ส่อง "โครงการรถไฟความเร็วสูง" หลังมีทั้งเสียงหนุน-ค้าน สถานีอยุธยา

31 ต.ค. 2566 | 05:03 น.

ส่อง "โครงการรถไฟความเร็วสูง" พัฒนาเศรษฐกิจ เชื่อมโยงตลาดการค้า หลังมีทั้งเสียงหนุน-ค้าน สถานีอยุธยา ห่วงกระทบมรดกโลก จับตาผลกระทบมรดกวัฒนธรรม HIA

โครงการรถไฟความเร็วสูง ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ถือเป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ มีเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจ และเชื่อมโยงตลาดการค้า ระหว่างกลุ่มประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางของอินโดจีน ตามแผนจะก่อสร้างทั้งหมด 4 สาย ได้แก่ สายเหนือ, สายตะวันออก, สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้

โดยรถไฟความเร็วสูง ตามแผนมีการพัฒนาทั้งหมด 4 สาย กระจายเส้นทางไปในภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ 

สายเหนือ กรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทางรวม 669 กิโลเมตร ประกอบไปด้วยสถานีรถไฟความเร็วสูง จำนวน 12 สถานี คาดว่าจะเปิดใช้ระยะที่ 1 กรุงเทพ-พิษณุโลก ในปี 2572 และเปิดใช้ระยะที่ 2 พิษณุโลก-เชียงใหม่ ในปี 2575

สายตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทางรวม 609 กิโลเมตร ประกอบไปด้วยสถานีรถไฟความเร็วสูง จำนวน 11 สถานี คาดว่าจะเปิดใช้ระยะที่ 1 กรุงเทพ-นครราชสีมา ในปี 2568 และเปิดใช้ระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย ในปี 2573

สายตะวันออก  เชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทางรวม 220 กิโลเมตร ประกอบไปด้วยสถานีรถไฟความเร็วสูง จำนวน 9 สถานี คาดว่าจะเปิดใช้ระยะที่ 1 ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ในปี 2570 และเปิดใช้ระยะที่ 2 อู่ตะเภา-ระยอง-ตราด ในปี 2576

สายใต้ กรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ ระยะทางรวม 970 กิโลเมตร ประกอบไปด้วยสถานีรถไฟความเร็วสูง จำนวน 12 สถานี คาดว่าจะเปิดใช้ระยะที่ 1 กรุงเทพ-หัวหิน ในปี 2575 และเปิดใช้ระยะที่ 2 หัวหิน-สุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์ ในปี 2580

รถไฟความเร็วสูง

เสียงหนุน เสียงต้าน เมื่อรถไฟความเร็วสูงต้องผ่านพื้นที่มรดกโลก

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ทางผ่านของโครงการรถไฟความเร็วสูง 2 สาย นั่นคือ สายเหนือ กรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย โดยทั้ง 2เส้นทางนี้ ล้วนมีสถานีอยุธยาด้วยกันทั้งคู่

ล่าสุด สภาวันอาทิตย์ ได้จัดเสวนา “รถไฟจะไปอโยธยา” หาข้อยุติ โครงการรถไฟความเร็วสูงผ่านพื้นที่มรดกโลก(29 ตุลาคม 2566 ) ในงานเสวนาดังกล่าว มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยกับโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ต้องพาดผ่านพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผู้ที่เห็นค้านโครงการรถไฟความเร็วสูงนี้

ฝ่ายที่เห็นด้วย ซึ่งมีทั้งคนในพื้นที่รวมอยู่ด้วยนั้น เห็นว่าโครงการนี้เป็นเมกกะโปรเจค ที่ควรจะเชื่อมต่อไปต่างประเทศ มีส่วนที่จะสร้างเศรษฐกิจ ให้เติบโตอย่างมาก เป็นผลดีในระยะยาว มากกว่าจะใช้แต่เพียงภายในประเทศ และ ที่ผ่านมาได้ผ่านการทำ EIA มาแล้ว   

ซึ่งควรตรวจสอบให้ชัดเจนว่า เส้นทางที่จะก่อสร้าง มีส่วนที่ไปสร้างความเสียหาย ต่อ วัตถุโบราณที่มีคุณค่า ทั้งที่พบแล้ว และ ที่ยังไม่พบ อีกหรือไม่ ซึ่งผลของการทำแบบสำรวจ HIA  (heritage impact assessment) จะแล้วเสร็จในเร็วๆนี้ ที่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพให้มีการจัดทำตามขั้นตอนของ UNESCO ซึ่งคงจะได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณชนต่อไป 

เสวนา “รถไฟจะไปอโยธยา” จัดโดยสภาวันอาทิตย์

ด้านฝ่ายที่ห่วงเรื่องผลกระทบมรดกโลก นอกจาก เสนอให้ ทบทวนเส้นทางใหม่แล้ว  
ยังมองว่า อยากให้ทำประชาพิจารณ์เรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ครั้งเดียวจบ 
โดยเฉพาะ ที่ผ่านมา ได้จัดทำในช่วงบริหาร ของ คสช ทำให้การ วิพากษ์วิจารณ์ มีข้อจำกัด

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา มรดกโลก

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดก จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ณ กรุงคาร์เธจ ประเทศตูซิเนีย เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534 

โดยขอบเขตปัจจุบันของมรดกโลกอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยาที่ UNESCO รับรอง (ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2560) จากข้อมูลในเว็บไซต์ของ UNESCO พบว่าวัดที่อยู่ในพื้นที่มรดกโลกได้แก่

  1. วิหารพระมงคลบพิตร (Phra Mongkhon Bophit)
  2. วัดพระศรีสรรเพชญ์
  3. วัดพระราม (Wat Phra Ram)
  4. วัดราชบูรณะ (Wat Ratchaburana)
  5. วัดมหาธาตุ (Wat Mahathat)
  6. วัดธรรมิกราช (Wat Thammikarat)
  7. วัดโลกยสุธาหรือวัดพระนอน ( Wat Lokaya Sutha )    

ซึ่งมีขอบเขตพื้นที่ดังแผนที่ด้านล่าง

มรดกโลกอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 กรมศิลปากรได้มีหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อแจ้งว่าพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงอยู่ในเขตโบราณสถาณ และอยู่ใกล้เขตมรดกโลกพระนครศรีอยุธยา

จึงขอให้มีการพิจารณาทางเลือกในการออกแบบสถานี ที่เหมาะสมอีกครั้งเช่น ปรับลงเป็นทางลอดใต้ดิน หรือเบี่ยงไปใช้เส้นทางใหม่ หรือย้ายที่ตั้งสถานี และไม่เห็นด้วยกับรูปแบบสถานีที่มีการนำเสนอ

และขอให้การรถไฟฯ ส่งรายละเอียดรูปแบบรางและอาคารสถานี ในแนวเส้นทางรถไฟตลอดทั้งเส้นให้กรมศิลปากรตรวจสอบพิจารณา และขอให้มีการนำเสนอต่อคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกเพื่อทราบต่อไป

วันที่ 6 ตุลาคม 2563 กรมศิลปากรได้มีข้อเสนอต่อ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ,รองอธิบดีกรมขนส่งทางราง ,ผู้แทน การรถไฟแห่งประเทศไทย และผู้แทนกรมการขนส่งทางราง ในการหารือร่วมกันว่า โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงมีส่วนเข้าใกล้พื้นที่มรดกโลกพระนครศรีอยุธยา จึงควรให้ความสำคัญต่อบริบทความเป็นมรดกโลกของพื้นที่ และร่วมกันพิจารณาหาทางเลือกในการออกแบบสถานีที่เหมาะสมร่วมกัน 

และต้องดำเนินการศึกษาผลกระทบต่อมรดกทางวัฒนธรรม หรือHIA ต่อแหล่งมรดกโลกพระนครศรีอยุธยารวมถึงให้ดำเนินการจัดทำการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน(TOD) ตามความจำเป็น