“ชัชชาติ” แจงปม “คดีแอชตันอโศก“ไม่เอื้อประโยชน์แก่ผู้ใด

03 ส.ค. 2566 | 08:10 น.

“ชัชชาติ” แจงปม “คดีแอชตันอโศก “ไม่เอื้อประโยชน์แก่ผู้ใด ผ่าทางตัน อาศัยอำนาจ ตามกฎหมายควบคุมอาคาร หาทางออกร่วมกันกับเอกชน

 

กลายเป็นประเด็นร้อนสำหรับคดีแอชตันอโศกที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรุงเทพมหานคร หนึ่งในผู้ถูกฟ้องต้อง ออกมาหาแนวทางแก้ปัญหา ร่วมกับภาคเอกชน เพื่อลดผลกระทบให้กับลูกบ้าน หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่ง เพิกถอนใบรับรองดัดแปลงอาคารโครงการแอชตัน ยื่นแจ้งครั้งแรกเมื่อปี 2558

วันที่ 3 ส.ค.66   นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อธิบายถึง แนวทางการดำเนินงาน โครงการอาคารชุดแอชตัน อโศกว่า ที่ผ่านมา แม้ปัญหาจะเกิดมาก่อนที่จะเข้ามาดูแลกรุงเทพมหานคร แต่ จะต้องเร่งเข้าไปแก้ปัญหาเพราะ กระทบกับลูกบ้านจำนวนมากและจะอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ปี2522

ให้เจ้าของโครงการแอชตันเพื่อหารือร่วมกันว่ามีแนวทางอย่างใดบ้าง โดยเปิดโอกาสให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงและยื่นแจ้งการก่อสร้างอาคารใหม่ให้ถูกต้องโดยเฉพาะทางเข้าออกอย่างไรก็ตามไม่ได้เอื้อประโยชน์กับฝ่ายใด แต่ ต้องการดำเนินการให้ถูกต้องเมื่อเกิดปัญหา      

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า กฎหมายมาตรา 41 ระบุชัดถึงเจตนารมณ์ว่า สามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ โดยให้ระยะเวลา 30 วัน ซึ่งทาง กทม. จะต้องเชิญทางบริษัทอนันดาเจ้าของโครงการแอชตันและผู้เกี่ยวข้องมาร่วมหารือว่าสามารถปรับปรุงและแก้ไขตามที่กฎหมายกำหนดได้หรือไม่หากไม่ได้ทาง กทม. อาจจะขยายระยะเวลาให้ได้ตามเหตุอันสมควรและขอยืนยันว่ากทม. ไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ใดทั้งสิ้น แต่คำพิพากษาของศาลตัดสินให้เพิกถอนใบรับแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารฯ ไม่ใช่การรื้อถอน ดั้งนั้น กทม. จึงต้องให้โอกาสในการยื่นขอใบรับแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารฯ ใหม่ เพื่อความเป็นธรรมของทุกฝ่าย

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ในขณะนี้ทางเข้า-ออกอาคารที่เป็นปัญหาดังกล่าวยังเปิดใช้การได้ตามปกติ ซึ่งกทม.จะเร่งดำเนินการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด แต่เรื่องดังกล่าว ไม่ใช่กรณีที่เร่งด่วนในเรื่องของความปลอดภัยของตัวอาคาร อาทิ เรื่องโครงสร้างอาคารไม่ถูกต้องจนอาจมีความเสี่ยงเกิดการถล่ม หรือรถดับเพลิงไม่สามารถเข้าไปที่อาคารดังกล่าวได้ซึ่งนั้นเป็นกรณีที่เร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการ เพราะฉะนั้นอาคารดังกล่าวยังปลอดภัยดีอยู่ทุกประการ แต่ปัญหาเป็นเรื่องของทางเข้า-ออกอาคารที่ต้องดำเนินการตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างรอบคอบ

ผังโฉนดที่ดินที่ตั้งโครงการแอชตัน อโศก

เนื่องจากมีผู้ได้รับผลกระทบกว่า500 ราย และเป็นความรับผิดชอบของผู้ขออนุญาตก่อสร้างอาคารที่ต้องแก้ไขปัญหาซึ่งภายในสัปดาห์นี้จะทำหนังสือถึงเจ้าของโครงการเพื่อรับทราบแนวทางในการแก้ปัญหาแล้วจึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงรวมถึงการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลจากรฟม. เพื่อถอดบทเรียนถึงปัญหา กระบวนการในการแก้ปัญหาหากพบกรณีดังกล่าวในอนาคต ที่กทม.จะนำข้อมูลไป พิจารณาปรับปรุงแนวทางในการอนุญาตก่อสร้างอาคารต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่คอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ไม่ได้มีปัญหาในกรณีดังกล่าว

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการแอชตัน อโศก แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ เรื่องการยื่นแจ้งเพื่อขออนุญาตก่อสร้าง กับเรื่องการขอใบรับรองดัดแปลงอาคาร โดยบริษัทอนันดาเจ้าของโครงการแอชตัน ยื่นแจ้งครั้งแรกเมื่อปี 58 ซึ่งกทม.มีหนังสือทักท้วงไป และมีการยื่นต่อมาอีกรวม 3 ครั้ง กทม. ก็มีหนังสือทักท้วงไปตลอด จนกระทั่งมีการฟ้องเป็นคดีกันในปี 58 และหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะต้องมีการยื่นขอเปิดอาคาร ทางบริษัทฯ ได้ยื่นขอมาในเมื่อปี 60 ซึ่งกทม. ก็ทักท้วงไปเนื่องจากยังมีคดีเรื่องทางเข้า-ออก ซึ่งไม่ได้ตามที่กฎหมายกำหนดอยู่

โดยโครงการแอชตันได้ยื่นอุทธรณ์ไปที่กรรมการควบคุมอาคาร จนกรรมการอุทธรณ์ พิจารณาเห็นว่า กทม. ควรออกใบรับแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารฯให้ ซึ่งทางสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร จึงออกใบรับแจ้งฯ ให้แบบมีเงื่อนไข โดยระบุว่า เรื่องที่ดินที่ตั้งโครงการซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ที่มีผู้ฟ้องคดีกรณีโครงการใช้ที่ดินของรฟม. ผ่านเข้า-ออก นั้น หากศาลมีคำพิพากษาสิ้นสุดแล้ว ผลพิจารณาทำให้อาคารดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย ผู้ได้ใบรับรองจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อตนเองและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งต้องดำเนินการแก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารต่อไป

นาย วิศณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรุงเทพมหานคร จะออกหนังสือถึงบริษัทอนันดา เจ้าของโครงการแอชตัน อโศก ให้ปรับปรุงแก้ไขตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เบื้องต้นจะให้เวลาไม่น้อย 30 วัน แต่หากไม่สามารถแก้ไขได้ภายในกรอบระยะเวลา บริษัทฯ สามารถยื่นขอขยายเวลาได้ โดย กทม.จะพิจารณาประเมินเหตุผลว่า สมควรขยายเวลาให้หรือไม่ ตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ระบุไว้ว่า

หากไม่สามารถทำได้ตามกำหนดระยะเวลาได้ ก็สามารถขยายเวลาออกไปได้ แต่ต้องสมเหตุสมผล ในส่วนของการตรวจสอบการขออนุญาตก่อสร้างอาคารในกรุงเทพฯ ในปัจจุบันเพิ่มเติม ได้มอบหมายให้สำนักงานควบคุมอาคาร สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เป็นผู้รวบรวมข้อมูลเพื่อตรวจสอบปัญหาของอาคารอื่น ๆ ที่อาจจะพบปัญหาคล้ายกรณีดังกล่าว เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาในอนาคตต่อไป