ผ่าทางตัน คดีแอชตัน อโศก หาที่ดินทำถนนเข้า-ออกสุดหิน ชงครม.ใหม่อุ้มลูกบ้าน

02 ส.ค. 2566 | 00:58 น.

   อนันดา-กทม.-กูรูผ่าทางตัน กู้วิกฤตลูกบ้าน “แอชตัน อโศก” ไม่ต้องทุบทิ้ง หากซื้อที่ดินทำทางเข้าออกได้ตามกฎหมาย ชงรัฐบาลใหม่ผ่อนปรน ใช้ที่ดิน รฟม.เพื่อสาธารณะ

 

มหากาพย์ “คดีแอชตัน อโศก” คอนโดมิเนียมหรูกลางใจเมืองมูลค่า 6,481 ล้านบาท ถูกปิดฉากลง ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ยืนตามศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง เพราะออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

กรณีอนุญาตให้ บริษัทอนันดา เอ็มเอฟ เอเชียอโศก จำกัด ดำเนินการก่อสร้างโครงการอาคารชุดที่พักอาศัยแอชตัน อโศก โครงการอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษ ขนาดความสูง 50 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น ในพื้นที่ขนาด 2 ไร่ 3 งาน 47.6 ตารางวาในซอยสุขุมวิท 19 แยก2 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากที่ดินดังกล่าวมีด้านที่ดินถนนสาธารณะเพียง 6.40 เมตรเท่านั้น ไม่ถึง12 เมตรตามที่กฎหมายควบคุมอาคารกำหนด แม้จะขอเช่าจาก รฟม.เพิ่มอีก 6.60 เมตร แต่ ที่ดินดังกล่าว ไม่ใช่ที่สาธารณะ

สำหรับทางออก เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง ผลกระทบจากคำพิพากษาของคดีโครงการแอชตัน อโศก และแนวทางการแก้ไขโดยระบุว่าเบื้องต้นขอพบกับหน่วยงานที่ถูกฟ้องร้องในคดีเดียวกัน ได้แก่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ภายใน 14 วันทำการนับถัดจากวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ทั้งนี้ หน่วยงานของ กรุงเทพมหานครจะเป็นผู้สั่งการให้บริษัทดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

รายงานข่าวจากกรุงเทพ มหานครระบุว่า กทม.สามารถ พิจารณาแก้ไขหรือออกใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ได้ แต่โครงการแอชตันอโศกต้องทำทางเข้า-ออกให้ถูกต้องก่อน ปัญหาใหญ่ คือ การซื้อที่ดิน เพื่อทำทางเข้า-ออกติดถนนอโศกมนตรี เป็นไปได้ยาก เพราะที่ผ่านมา อนันดาฯ เคยเจรจาซื้อที่ดินต่อจากสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ แต่ยืนยันไม่ขาย|มาตั้งแต่ต้น

ขณะที่ดินของสมาคมอีกแห่งของชาวซิกข์ สามารถทำทางเข้าออกได้ แต่ หน้ากว้างไม่ได้ตาม เกณฑ์กฎหมายควบคุมอาคาร และหากทำได้ต้องซื้อตึกแถวบริเวณด้านหน้าสมาคมฯ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะราคา ตกคูหาละกว่า 200 ล้านบาท เนื่องจากเป็นที่ดินทำเลทอง ราคาที่ดิน ราคา 2.6 ล้านบาทต่อตารางวา

ทางออกอีกทาง ซื้อที่ดินบริเวณด้านหลัง ซอยสุขุมวิท 19 คู่ กรณี ซึ่งเป็นไปได้ยาก เพราะนอกจากไม่ขายแล้ว ยังต้องซื้อตึกแถวอีกจำนวนมากไม่ต่ำกว่า16คูหา เพื่อทะลุถนนสายหลักแต่ ขนาดถนน ความกว้างไม่ถึง 18 เมตร

สอดคล้องกับ นาย สุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด ประเมินทางทางออกของเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า แนวทางแรกทุบทิ้ง ซึ่งคงเป็นเรื่องที่รุนแรงและสร้างความเสียหายในหลายๆ เรื่องตามมาและใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในการรื้อถอน

แนวทางที่ 2 ซื้อที่ดินเพื่อเป็นทางเข้า-ออกเพิ่มเติม กรณี ฝั่งถนนอโศกมนตรี หากของเดิมมีทางเข้า-ออกติดถนนอโศกอยู่แล้วกว้าง 6.4 เมตร ก็หาซื้อที่ดินที่ติดกับทางเข้า-ออกนี้เพิ่มเติมให้ได้ไม่น้อยกว่า 12 เมตรตามกฎหมาย โดยการเจรจากับทางสยามสมาคมฯ ที่ตั้งอยู่ติดกับที่ดินที่เป็นทางเข้า-ออกปัจจุบัน แต่ก็คงไม่ง่าย เพราะสยามสมาคมฯ เป็นหนึ่งในผู้ฟ้องร้องโครงการนี้เช่นกัน  หรือหากเกิดการตกลงจะซื้อ-ขายกันได้ขึ้นมาราคาก็คงมหาศาลมาก แต่ก็คงไม่สูง เพราะต้องการที่ดินอีกประมาณ 100 ตารางวา จะไปจบที่ตารางวาละเท่าใดก็ว่ากันไป แต่คงไม่ง่ายขนาดนั้น

เช่นเดียวกับ ฝั่งซอยสุขุมวิท 19 ซึ่งมีความเป็นไปได้มากกว่า และมีหลายคนพูดถึงกันมาก เพราะซอยสุขุมวิท 19 แยก 2 ที่เชื่อมต่อกับที่ดินของโครงการนี้มีความกว้าง 4 เมตร สามารถหาซื้ออาคารพาณิชย์ที่อยู่ทั้ง สอง ฝั่งของซอยนี้เพิ่มเติมเพื่อให้มีทางเข้า-ออกถูกต้องตามกฎหมาย แม้ว่าอาจจะต้องซื้อที่ดินเพื่อเปิดทางรวมแล้วประมาณ 291.3 ตารางวาตามที่คำนวณไว้ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 873.9 ล้านบาท หรือตารางวาละ 3 ล้านบาทไปเลย ซึ่งอาจจะมองว่าสูงแล้วแต่อาจจะสูงกว่านี้ได้อีก หากไม่อยากขายจริงๆ และต้องซื้อให้ได้ทั้งหมดแบบ 100%

ทั้งสอง ทางออกที่ต้องมีการซื้อที่ดินเพื่อเปิดทางเข้า-ออกนี้ล้วนต้องใช้เงิน แต่อย่างไรก็ตาม มูลค่าของเงินที่ต้องจ่ายออกไป ถึงอย่างไรก็น้อยกว่าการเสียโครงการนี้ไป

แนวทางที่3 การนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีทันทีที่มีการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อขอให้มีการพิจารณาเรื่องการขออนุมัติธุรกรรมเจ้าปัญหาของทางเจ้าของโครงการและทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือรฟม. โดยเป็นการพิจารณาและอนุมัติย้อนหลังซึ่งไม่แน่ชัด ว่าเป็นไปได้หรือไม่ และจะทำได้เมื่อใด

  อย่างไรก็ตาม แนวทางที่ 2 เป็นแนวทางในการแก้ไขที่ทางเจ้าของโครงการสามารถทำได้เลย และมูลค่าของเงินที่ต้องจ่ายออกไปไม่สูงมาก และเมื่อทางเจ้าของโครงการยังมียูนิตเหลือขายอยู่ในโครงการอีกประมาณ 13% ของมูลค่าโครงการ 6,481 ล้านบาท ดังนั้น เจ้าของโครงการมีความเป็นไปได้ที่จะขายได้เงินกลับมาประมาณ 842.5 ล้านบาท เมื่อหักกลบกับส่วนที่ต้องจ่ายค่าที่ดินก็ยังพอเป็นไปได้

กรณีดำเนินการแบบนี้ได้จะเป็นผลดีกับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง และส่วนที่เหลือของโครงการน่าจะขายได้หมดตามที่ตั้งใจ เพราะปัญหาเรื่องนี้ได้รับการแก้ไขแล้ว ขณะกรุงเทพมหานครเองได้เปิดทางให้แล้วว่าสามารถออกใบอนุญาตก่อสร้างให้ถูกต้องได้ ถ้าปัญหาเรื่องของทางเข้า-ออกได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายไม่ว่าจะด้วยแนวทางใด

เรื่องนี้นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า แม้ว่าโครงการแอชตัน อโศกจะถูกศาลให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง แต่ก็สามารถไปแก้ไขให้ถูกต้องได้

สภาพด้านหลังโครงการแอชตันอโศก ที่มีตึกแถวปิดล้อม(สุขุมวิท 19 แยก2)  ทางออกอนันดาฯต้องเจรจาซื้อเพื่อทำทางเข้าออกเพิ่ม