เทียบชัดๆ "ภาษีที่ดิน" VS "ภาษีโรงเรือน" อดีตกับปัจจุบัน ต่างกันอย่างไร

29 พ.ค. 2566 | 11:49 น.
อัพเดตล่าสุด :29 พ.ค. 2566 | 12:16 น.

เทียบชัดๆ "ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง"ที่บังคับใช้ในปัจจุบัน กับ "ภาษีโรงเรือน และที่ดิน" ในอดีต มีความแตกต่างกันอย่างไร เหตุใดผู้ว่าฯชัชชาติ สิทธิพันธ์ ร้องให้รัฐบาลใหม่ทบทวน

หลังจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ได้ฝากการบ้านให้รัฐบาลใหม่ทบทวนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พร้อมเปรียบเทียบรายได้ของเขตจากการจัดเก็บภาษีจากการใช้ที่ดิน โดยห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในพื้นที่พญาไท เดิมเสียภาษี 10 ล้านบาท แต่เมื่อเก็บภาษีรูปแบบใหม่ เสียภาษีเพียง 1 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าภาษีลดลงถึง 10 เท่า 

ส่วนห้องเช่าซึ่งเป็นอาคาร เดิมเก็บได้ 4 ล้านกว่าบาท ภาษีใหม่เก็บได้เพียง 7 หมื่นกว่าบาท เพราะเจ้าของได้ย้ายชื่อมาอยู่ในห้องเช่า ทำให้กลายเป็นที่อยู่อาศัย และจะเสียภาษีในอีกอัตราหนึ่ง 

นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ขอให้ทบทวนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ความแตกต่างระหว่างการจัดเก็บ "ภาษีโรงเรือน และที่ดิน" ในอดีต กับ "ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง" ในปัจจุบัน มีอะไรบ้าง ฐานเศรษฐกิจ รวบรวบไว้ให้ที่นี่

"ภาษีโรงเรือน และที่ดิน"

"ภาษีโรงเรือน และที่ดิน" มีการจัดเก็บตาม พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และได้ยกเลิกไปเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2562 ตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

"ภาษีโรงเรือน และที่ดิน" คือเงินที่เก็บจากรายได้ หรือรายได้ประเมิน จากอาคารพาณิชย์ โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ กับที่ดินที่ติดกับสิ่งปลูกสร้างนั้น รวมถึงสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ที่ก่อสร้างบนที่ดินนั้นอย่างถาวร เช่น สะพาน ท่าเรือ อ่างเก็บน้ำ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับเจ้าของที่ดินได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น ให้เช่า ,ใช้เป็นที่ค้าขาย ,ใช้เป็นคลังสินค้า ,ใช้ประกอบอุตสาหกรรม หรือใช้ประกอบกิจการอื่นๆ เพื่อหารายได้

"ภาษีโรงเรือน และที่ดิน" เป็นภาษีท้องถิ่นที่ต้องชำระให้กับสำนักงานเขต หรือเทศบาลที่โรงเรือนหรือที่ดินนั้นตั้งอยู่ โดยการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินนั้นเป็นแบบรายปี โดยอัตราภาษีโรงเรือนและที่ดิน อยู่ที่ร้อยละ 12.5 ของค่ารายปี 

"ค่ารายปี" ถูกประเมิณโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีสามารถยื่นภาษีได้ตั้งแต่เดือนมกราคม - เดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีที่มีการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้นในปีก่อนหน้า ยกเว้นบ้านที่อยู่อาศัยเอง และทรัพย์สินที่ถูกยกเว้นตามกฎหมาย ตามมาตรา 8

วิธีคำนวณอัตราภาษีโรงเรือนและที่ดิน

1. กรณีให้เช่าโรงเรือนหรือที่ดิน
(ค่าเช่าต่อเดือน x จำนวนเดือนที่ประกอบการ) x ร้อยละ 12.5 = ภาษีที่ต้องจ่าย

2. กรณีโรงเรือนหรือที่ดินที่ใช้ประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่สามารถประเมินค่ารายปีได้จากค่าเช่า จะคำนวณโดย ((พื้นที่หน่วยตารางเมตร x อัตราทำเล) x จำนวนเดือนที่ประกอบการ) x ร้อยละ 12.5 = ภาษีที่ต้องจ่าย

ภาษีที่ดิน

"ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง"

"ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง" จัดเก็บตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพอันจะเป็นประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจของประเทศ

โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมี เป็นผู้จัดเก็บจากที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของตนเอง และให้เป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ผู้ที่ต้องชำระภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง คือผู้ที่เป็นเจ้าของ หรือครอบครองที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอยู่ในวันที่ 1 มกราคมของปีใด เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีสำหรับปีนั้น

วิธีคำนวณ "ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง"

ฐานภาษีเพื่อการคำนวณภาษีตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่ มูลค่าทั้งหมดของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง โดยราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นห้องชุด ให้เป็นไปตามราคาประเมินทุนทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน

อัตราการจัดเก็บภาษี

1. ผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหลังเดียว

  • 0-50 ล้านบาท  ได้รับการยกเว้นภาษี
  • 50-75 ล้านบาท  เสียภาษีในอัตรา 0.03%  หรือคิดเป็นล้านละ 300 บาท
  • 75-100 ล้านบาท  เสียภาษีในอัตรา 0.05%  หรือคิดเป็นล้านละ 500 บาท
  • 100 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษีในอัตรา 0.1% หรือคิดเป็นล้านละ 1,000 บาท

2. ผู้เป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้างหลังเดียว

  • 0-10 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี
  • 10-50 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.02% หรือคิดเป็นล้านละ 200 บาท
  • 50-75 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.03% หรือคิดเป็นล้านละ 300 บาท
  • 75-100 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.05% หรือคิดเป็นล้านละ 500 บาท
  • 100 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษีในอัตรา 0.1% หรือคิดเป็นล้านละ 1,000 บาท

3. ผู้เป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างหรือที่ดินตั้งแต่ 2 หลังขึ้นไป

  • 0-50 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.02% หรือคิดเป็นล้านละ 200 บาท
  • 50-75 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.03% หรือคิดเป็นล้านละ 300 บาท
  • 75-100 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.05% หรือคิดเป็นล้านละ 500 บาท
  • 100 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษีในอัตรา 0.1% หรือคิดเป็นล้านละ 1,000 บาท

4. บุคคลธรรมดาผู้เป็นเจ้าของที่ดินเกษตรกรรม

  • 0-50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี
  • 50-125 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.01% หรือคิดเป็นล้านละ 100 บาท
  • 125-150 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.03% หรือคิดเป็นล้านละ 300 บาท
  • 150-550 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.05% หรือคิดเป็นล้านละ 500 บาท
  • 550-1,050 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.07% หรือคิดเป็นล้านละ 700 บาท
  • 1,050 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษีในอัตรา 0.1% หรือคิดเป็นล้านละ 1,000 บาท

5. นิติบุคคลเป็นเจ้าของที่ดินเกษตรกรรม

  • 0-75 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.01% หรือคิดเป็นล้านละ 100 บาท
  • 75-100 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.03% หรือคิดเป็นล้านละ 300 บาท
  • 100-500 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.05% หรือคิดเป็นล้านละ 500 บาท
  • 500-1,000 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.07% หรือคิดเป็นล้านละ 700 บาท
  • 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษีในอัตรา 0.1% หรือคิดเป็นล้านละ 1,000 บาท

6. ผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเชิงพาณิชย์ เช่น ร้านอาหาร ออฟฟิศ โรงแรม สำนักงาน เป็นต้น

  • 0-50 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.3% หรือคิดเป็นล้านละ 3,000 บาท
  • 50-200 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.4% หรือคิดเป็นล้านละ 4,000 บาท
  • 200-1,000 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.5% หรือคิดเป็นล้านละ 5,000 บาท
  • 1,000-5,000 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.6% หรือคิดเป็นล้านละ 6,000 บาท
  • 5,000 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษีในอัตรา 0.7% หรือคิดเป็นล้านละ 7,000 บาท

7. ผู้เป็นเจ้าของที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์เกิน 3ปีติดต่อกัน 

  • 0-50 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.3% หรือคิดเป็นล้านละ 3,000 บาท
  • 50-200 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.4% หรือคิดเป็นล้านละ 4,000 บาท
  • 200-1,000 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.5% หรือคิดเป็นล้านละ 5,000 บาท
  • 1,000-5,000 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.6% หรือคิดเป็นล้านละ 6,000 บาท
  • 5,000 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษีในอัตรา 0.7% หรือคิดเป็นล้านละ 7,000 บาท

และจะถูกเก็บเพิ่มอีก 0.30% ในทุกๆ 3ปี หากยังไม่มีการใช้ประโยชน์ เก็บสูงสุดไม่เกิน 3%