นักธุรกิจญี่ปุ่นสุดช้ำ  ผู้รับเหมาไทยเทงานเสียหายหลักล้าน

20 มี.ค. 2566 | 00:23 น.

นักธุรกิจญี่ปุ่น สุดช้ำ จ้างผู้รับเหมาสร้างบ้านกลับไม่ได้บ้าน เจอเท งานเสียหายหลักล้าน ยันให้กลับมาชดใช้ค่าเสียหาย

 

การสร้างบ้านแล้วไม่ได้บ้าน  มีเกิดขึ้น เป็นจำนวนมาก และกลายปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากผู้รับเหมาที่ขาดความรับผิดชอบและทิ้งงานกะทันหัน สร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้กับประชาชน ซึ่งกว่าจะได้รับการเยียวยาหรือได้รับการชดเชยค่าเสียหายต้องใช้เวลานาน หรือบางท่านอาจต้องสูญเสียเงินและเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์

นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นรายนี้ก็เช่นกัน  นาย โคทะโร มะรุ กรรมการผู้จัดการบริษัท ลิงค์ (ไทยแลนด์) จำกัดผู้เคยบุกเบิกสวนสนุกหิมะในร่มขนาดใหญ่ สโนว์ทาวน์ ไทยแลนด์ ในศูนย์การค้าชื่อดังแห่งแรกในประเทศไทยจนเป็นที่ฮือฮา ปัจจุบันเป็นนักธุรกิจที่เปิดบริษัทในไทยเพื่อประกอบธุรกิจระหว่างประเทศและอาศัยอยู่กับภรรยาคนไทยในประเทศไทยมากว่า 20 ปี มีใบอนุญาตและวีซ่าประกอบการทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายมาโดยตลอด

โดยนายโคทะโร ร้องเรียนผ่าน"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2020 ได้จ้างผู้รับเหมารายหนึ่ง ออกแบบรับเหมาก่อสร้างบ้านแต่กลับไม่ดำเนินการตามที่เสนอแต่อย่างใด  สุดท้ายพาลูกน้องหนีออกจากไซต์งานพร้อมเชิดเงินค่าจ้างหายเข้ากลีบเมฆ และในเวลาต่อมาทราบว่า ได้อยู่อาศัยแบบสุขสบายในหมู่บ้านใหญ่ไฮโซย่านคุ้มเกล้า

"ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้เก็บหอมรอมริบเงินมาทั้งชีวิต ซึ่งตั้งใจและเลือกปักหลักที่จะสร้างบ้านอาศัยอยู่ในไทยยามแก่ชราตามที่วาดฝันไว้ จึงได้ตัดสินใจว่าจ้างผู้รับเหมาชาวไทยรายหนึ่ง อ้างสรรพคุณว่ามีประสบการณ์ในการรับเหมาสร้างบ้านอย่างเชี่ยวชาญ แต่ผลงานที่เกิดขึ้นไม่ตรงสเปค"

 

 

 

ร่องรอยความเสียหายจากผู้รับเหมาทิ้งงาน

นายโคทะโร ขยายความต่อว่า ที่ผ่านมาให้บริษัทรับเหมาดังกล่าว รับงานก่อสร้างและตกแต่งบ้านเดี่ยวเพราะอยากได้ที่พักอาศัยในไทยหลังเกษียณจากการทำธุรกิจที่ไทยมานานกว่า 20 ปี จึงตัดสินใจลงทุนสร้างบ้านแบบในฝันมูลค่าหลายสิบล้านบาท ซึ่งได้มีการว่าจ้างสถาปนิกออกแบบงานและให้ผู้รับเหมารายนี้ดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ฐานรากแต่ไม่ได้มาตรฐานตามแบบที่กำหนด

โดยเฉพาะการลงเสาเข็มที่วางศูนย์กลางผิดไปจากแบบจนน่าตกใจ ซึ่งต่อมาได้แจ้งให้แก้ไขเพราะกลัวมีปัญหาเรื่องโครงสร้างอย่างแน่นอน จึงได้นัดผู้รับเหมาเคลียร์งานแบบและแก้ไขให้เรียบร้อยตามสัญญา ทั้ง ๆ ที่ได้เบิกเงินไปแล้วเกือบสองล้านบาท สุดท้ายก็ไม่ยอมแก้ไขใดๆ ให้แล้วเสร็จ แถมติดต่อกลับมาว่าถ้าอยากคุยให้ไปคุยกันที่ศาล

ผู้เสียหาย

       ในเวลาต่อมา ได้ดำเนินคดีกับผู้รับเหมารายนี้ตามกฎหมาย ได้รับพิจารณาให้เป็นผู้ชนะคดี พร้อมศาลมีคำสั่งให้จำเลยคือผู้รับเหมา จ่ายค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 1.6 ล้านบาทตามที่เรียกร้องให้มีการชดใช้ แต่ผู้เสียหายเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งดูเหมือนว่าผู้รับเหมาไทยรายนี้ไม่ได้เกรงกลัวต่อกฎหมายใด ๆ ไม่เดินทางมาฟังคำตัดสิน

แถมยังท้าทายให้ไปฟ้องล้มละลายต่อ แม้มีการติดต่อทวงถามไปเป็นระยะ ๆ ก็ไม่ได้รับการติดต่อ ทำให้โจทย์นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นรายนี้ ต้องเดินทางไปแจ้งความสน.ลาดกระบัง เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 11.00 น. ที่ผ่านมา

พร้อมส่งจดหมายติดตามทวงถามไปยังที่อยู่ของผู้รับเหมาเพื่อนัดมาไกล่เกลี่ยและเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้น แต่จำเลยบ่ายเบี่ยงมาตลอด ทุกวันนี้ยังหลบหน้าไม่ติดต่อขอไกล่เกลี่ยใด ๆ ทั้งสิ้น โดยเลือกการหนีความผิด ไม่รับผิดชอบ ไม่จ่ายเงินคืน สร้างความหม่นหมองให้วงการผู้รับเหมาต้องเสียชื่อ

นายโคทะโร ทิ้งท้ายว่า "ผมรักประเทศไทยและเคารพวัฒนธรรมไทยมา 20 ปี แต่ดูเหมือนไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาได้แม้ว่าจะมีคนมาหลอกลวงผมก็ตาม กรณีนี้อยากให้เป็นอุทาหรณ์แก่บุคคลทั่วไปเพิ่มความระมัดระวังจะได้ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อเหมือนที่ผมโดนมา ซึ่งตอนนี้รู้สึกกังวลใจเป็นอย่างมากว่าจะได้รับการชดใช้จากจำเลยหรือไม่ จึงอยากวิงวอนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เมตตาหาทางช่วยเหลือตนให้ได้รับความยุติธรรม อย่างน้อยก็ถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศไทย และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ ที่จะมาลงทุนในประเทศไทย โดยย้ำว่า  อยากปลุกจิตสำนึกให้เกิดความรับผิดชอบ และเรียกร้องความยุติธรรมต่อผู้ว่าจ้างและผู้ที่ต้องการสร้างบ้าน ต้องการได้บ้านไม่ว่าคนไทยหรือคนต่างชาติ”

 

สภาพการทิ้งงานจากผู้รับเหมา