ภูมิทัศน์ “อสังหาฯไทย” กับความท้าทายปี 2566

14 ธ.ค. 2565 | 04:47 น.

รายงานพิเศษ : " ราคาอสังหาฯ เปิดใหม่ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 5-10% แต่ถือเป็นโอกาสของบ้านมือสอง หรือ บ้านราคาต้นทุนเดิม"

14 ธ.ค.2565 - ท่ามกลาง แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อ รวมไปถึงอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังไม่มีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัว ดังนั้นการซื้อ “ที่อยู่อาศัย” อาจจะใช้เวลาในการตัดสินใจค่อนข้างนานกว่าปกติ 


แต่การถดถอยของเศรษฐกิจที่กังวลกันนั้น ต่างถูกประเมินว่า คงไม่หนักเท่าพิษเศรษฐกิจ อันเกิดจากโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้คาดการณ์ว่า อย่างไรเสียกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น บวกกับการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ โดยเฉพาะในหัวเมืองหลักๆ เพื่อรองรับการกลับมาท่องเที่ยว และ ลงทุนของชาวต่างชาติ จะเป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้ภาคอสังหาฯ ไทยกลับมาคึกคักอย่างน่าสนใจ 

นายไนเจีย ลี หัวหน้าฝ่ายข้อมูลเชิงลึกด้านอสังหา ริมทรัพย์ พร็อพเพอร์ตี้กูรู กรุ๊ป บริษัทเทคโนโลยีด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นเบอร์ต้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า ท่าม กลางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของตลาดอื่นๆ ในภูมิภาค สิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และไทย เป็นไปอย่างช้าๆ นั้น

 

สำหรับทิศทางอสังหาฯไทย ปี 2566 มีทั้งโอกาสและความเสี่ยง โดยปัจจัยที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้นอีก ส่งผลต่อผู้ที่กู้ซื้อบ้าน หรือกำลังผ่อนบ้านอยู่ ต้องจ่ายค่างวดมากขึ้น หรือใช้ระยะเวลาผ่อนนานขึ้น รวมถึง มาตรการรัฐที่หมดไปในสิ้นปี 2565 เช่น การลดค่าโอน-จดจำนอง เหลือ 0.01% รวมถึงมาตรการผ่อนคลาย LTV ทำให้ผู้ซื้อบ้านหลังที่สองขึ้นไป หรือบ้านหลังแรกที่ราคาเกิน 10 ล้านบาท ต้องวางเงินดาวน์ 10-30% อาจทำให้ตลาดอสังหาฯ ชะลอตัวได้ 
 

ภูมิทัศน์ “อสังหาฯไทย” กับความท้าทายปี 2566

ราคาอสังหาฯแพงขึ้น 5-10% 

นอกจากนี้ ยังระบุว่า ต้นทุนการก่อสร้างทั้งค่าวัสดุ ค่าแรงขั้นตํ่า และราคาที่ดินที่สูงขึ้น อาจทำให้  ราคาอสังหาฯ โครงการเปิดใหม่ในปี 2566 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 5-10% แต่ถือเป็นโอกาสของบ้านมือสอง หรือ บ้านราคาต้นทุนเดิม ที่คาดว่าจะได้รับความสนใจจากผู้ซื้อมากขึ้น ขณะ บ้านเดี่ยวมีแนวโน้มที่ราคาจะปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการพื้นที่ใช้สอยที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค และความคืบหน้าของเส้นทางรถไฟฟ้าที่ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอก ซึ่งมักเป็นทำเลของบ้านเดี่ยวส่งผลภาพราคาอสังหาฯ เพิ่มขึ้นอย่าง

 

สอดคล้อง แผนพัฒนาของผู้ประกอบการใหญ่ในตลาด ที่คาดว่าจะมีผลต่อ ราคาที่ดิน และ ราคาที่อยู่อาศัยภาพรวม ในโซนต่างๆ  เช่น ปี 2566 บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ประกาศ เตรียม เพิ่มเซกเม้นท์โครงการบ้านในกลุ่มลักชัวรีมูลค่านับหมื่นล้านบาท นำร่องต้นปี เตรียมเปิด โครงการ “นาราสิริ พหล-วัชรพล” บ้านหรูระดับ 100 ล้าน  และ “บูก้าน” เอ็กซ์คลูซีฟ เรสซิเดนท์ รวม 3 ทำเล รวมถึง การเปิดตัวครั้งแรกอีก 3 แบรนด์ใหม่ ได้แก่  นัมเบอร์นายน์ทีน, สิริณสิริ และณรินสิริ  โดยการเปลี่ยนแปลงของรายใหญ่ มักจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของตลาด

 

ขณะการขยับของ บมจ.อนันดา ที่เน้นการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ บนทำเลศักยภาพใกล้สถานีรถไฟฟ้า และ บุกหนักมากขึ้น ในการพัฒนาโครงการแนวราบหรู ก็ประกาศจะใส่เกียร์เร่งเต็มที่ หลังเชื่อมั่น เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะไปต่อ มีการทยอยเตรียมเงินทุนรองรับ รับแรงหนุนของลูกค้า 2 กลุ่มหลัก ที่ยังขับเคลื่อนตลาด ได้แก่ กลุ่มที่ต้องการที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และ กลุ่มที่ต้องการมีอสังหาฯเพื่อการลงทุนทั้งหมด คาดจะปลุกบรรยากาศ การซื้อ-ขาย ในตลาดอย่างปี 2566 อย่างน่าสนใจเช่นกัน 


สอดคล้อง นางสาวสุมิตรา วงภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด แพลตฟอร์มด้านอสังหาริมทรัพย์ เผยว่า จากการสำรวจแนวโน้มผู้บริโภค พบว่า ความเชื่อมั่นมีสัญญาณดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปี 2564 ที่ 45.4  ล่าสุดขยับมาอยู่ที่ 79.3 โดยเฉพาะกลุ่มเจ้าของกิจการมีความเชื่อมั่นมากขึ้น หลังส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่าขณะนี้ สถานะทางการเงินดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และเชื่อมั่นว่าในอีก 1 ปีข้างหน้าภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น อสังหาฯ หรือ รถยนต์ เป็นต้น