4 สมาคมอสังหาฯ จ่อชงรัฐบาล ขอผ่อนปรน LTV ต่อ - ยืดค่าโอนบ้าน 5 ลบ.

27 พ.ย. 2565 | 09:39 น.

4 สมาคมอสังหา เผย จ่อเข้าหารือรองนายก 'สุพัฒนพงษ์' ต้นเดือน ธ.ค. ชงขอผ่อนปรนมาตรการ LTV ต่อ พร้อม ขอยืดเพดานลดค่าธรรมเนียม โอนบ้าน ถึง 5 ล้านบาท

27 พ.ย.2565 - นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า ทาง 4 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ได้เตรียมขอเข้าพบ นาย สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์  รองนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ในต้นเดือนธันวาคมนี้ 

 

โดย 2 มาตรการ ที่อยากให้พิจารณา ทบทวน  ได้แก่ 

  1. ขยายเวลาผ่อนปรนมาตรการ LTV ออกไปอีก 1 ปี สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านหลังที่สองได้เต็มวงเงินกู้ 100%  
  2. ขยายเวลามาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์ 0.01% จะสิ้นสุดในสิ้นปี 2565 ขยายระเวลาออกไปอีก  และขยายเพดานราคาจากครอบคลุมบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็นบ้านราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท

4 สมาคมอสังหาฯ จ่อชงรัฐบาล ขอผ่อนปรน LTV ต่อ - ยืดค่าโอนบ้าน 5 ลบ.

ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าว ยังสอดคล้องกับ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) หลังให้มุมมองว่า แนวโน้มตลาดอส่งหาริมทรัพย์ในส่วนของที่อยู่อาศัยปี 2566 จะมีแรงกดดันอีกครั้ง จากการไม่ต่ออายุการผ่อนคลายมาตรการเงินดาวน์ขั้นต่ำในการขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย หรือ LTV อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่


ด้านอุปสงค์คาดว่าจะทีการโอนกรรมส์ทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศในปี 2566 อยู่ที่ 320,227 หน่วย มูลค่า 9.53 แสนล้านบาท ลดลง 14.2% และลดลง 4.4% ตามลำดับ ทำให้คาดว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เป็นสินเชื่อปล่อยใหม่ในปี 66 จะลดลง 4% จากปี 65 หรือมาอยู่ที่ 6.14 แสนล้านบาท

สำหรับข้อเสนอแนะนั้น REIC เห็นว่า  หากรัฐไม่สามารถ เปลี่ยนแปลง LTV ได้แล้วนั้น แต่อยากเสนอให้รัฐบาลพิจารณา ยืดมาตรการกระตุ้นตลาดที่สำคัญ อย่าง การลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์ 0.01% ที่จะหมด 31 ธ.ค.2565 ออกไปอีก 1 ปี เพื่อเป็นการบรรเทา จูงใจการซื้อที่อยู่อาศัยของคนไทยในช่วงปี 2566 และ ขอให้ขยายเพดานราคา จากครอบคลุมไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 5 ล้านบาท ทั้งบ้านใหม่ และ บ้านมือสอง เพื่อลดผลกระทบของทิศทางตลาดในปี 2566 เพราะไม่เช่นนั้น อาจได้เห็นตลาด หดตัวมากกว่า 20%