EIC คาด ก่อสร้าง ปี2566 มูลค่าโตแตะ 1.48 ล้านล.

26 ต.ค. 2565 | 05:17 น.

EIC ประเมิน ก่อสร้างไทยปีหน้า ขยายตัว 5% มูลค่าแตะ 1.48 ล้านล้านบาท จากการเดินหน้าเมกะโปรเจ็กต์รัฐ และ การขยายตัวของโครงการอสังหาฯ แนะผู้ประกอบการคุมต้นทุน หลัง ราคาวัสดุก่อสร้างยังปรับตัวสูง

นางสาวกัญญารัตน์ กาญจนวิสุทธิ์ นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ระบุ ถึง แนวโน้มภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยปี 2566 ว่า คาดการณ์ปีหน้า การก่อสร้าง ที่ครอบคลุมการดำเนินการของภาครัฐ และ เอกชน จะมีมูลค่าการเติบโตแตะ ที่ 1.48 ล้านล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปี 2565 
 

ทั้งนี้ ประเมินว่า การก่อสร้างในหมวดของภาครัฐ มีแนวโน้มขยายตัวราว 5% หรือ มูลค่า แตะ 8.75 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นการเติบโต จากการเดินหน้าเร่งสร้างโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆจำนวนมากทั่วประเทศ รวมถึง การประมูลโครงการใหม่ๆ เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-หนองคาย ช่วง นครราชสีมา - หนองคาย ,โครงการทางด่วนพิเศษ สายกะทู้ - ป่าตอง จ.ภูเก็ต ,โครงการ การขยาย -ปรับปรุง สนามบินดอนเมือง และ สุวรรณภูมิ เพื่อรองรับการฟื้นตัวภาคท่องเที่ยว 
 

ขณะการก่อสร้างโครงการภาครัฐ จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากกรอบการลงทุนที่ขยายตัวราว 6% หรือ 2.7 หมื่นล้านบาท สะท้อนสัญญาณการฟื้นตัวอย่างดี 

EIC คาด ก่อสร้าง ปี2566  มูลค่าโตแตะ 1.48 ล้านล.

สำหรับการก่อสร้างในหมวดของภาคเอกชน EIC คาดว่า ในปี 2566 มูลค่าภาพรวมจะเติบโตที่ 4% ขยายตัวแตะระดับ 6.03 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่ มาจากแนวโน้มการขยายตัวของการเปิดโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมาจากปัจจัยเร่ง อย่างการเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ทั้งอาคารสำนักงาน และ พื้นที่ค้าปลีก เพื่อรองรับการฟื้นตัวของกำลังซื้อชาวไทยและชาวต่างชาติ 

 

'จากมูลค่าการก่อสร้าง มีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในปีหน้านั้น นับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ รับงานทั้งงานก่อสร้างของภาครัฐ เช่น โครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่ และ งานภาคเอกชน ทั้งโครงการบ้าน ,คอนโดมิเนียม และ โครงการเชิงพาณิชยกรรมต่างๆ '

 

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการรายกลาง-รายเล็ก อย่าง เอสเอ็มอี ก็มีโอกาสจากแนวโน้มดังกล่าว ในฐานะเป็นผู้รับเหมาต่อช่วงจากรายใหญ่ได้เช่นกัน 

 

ทั้งนี้ EIC ระบุว่า แม้ปี 2566 ภาคก่อสร้างจะมีโอกาสรออยู่ แต่ก็มีอุปสรรค ความท้าทายเช่นกัน โดยเฉพาะ จากต้นทุนการก่อสร้าง เช่น ต้นทุนแรงงาน และ ต้นทุนจากวัสดุก่อสร้าง หลังจาก ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด19 ที่แรงงานต่างด้าวกลับประเทศ ทำให้ที่ผ่านมา ผู้รับเหมาก่อสร้าง มีการพึ่งพาแรงงานในประเทศเป็นหลัก ประกอบกับ  1 ต.ค. มีการประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการเผชิญกับ ต้นทุนการก่อสร้างที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

ขณะต้นทุนวัสดุก่อสร้าง ยังมีแนวโน้มราคาปรับขึ้น ซึ่งต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 พบ แม้ราคาเหล็กปรับตัวลง แต่ราคาซีเมนต์ และ วัสดุอื่นๆ ยังคงมีราคาแพงสูงขึ้น ทำให้เป็นแรงกดดันแบกรับต้นทุนเพิ่มเติม 

 

'มีคำถาม ว่า ในปีหน้า ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง จะไปทางไหน ต้องปรับตัวอย่างไร EIC มองว่า ต้องให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุนเป็นหลัก ควรทำสัญญาสั่งซื้อวัสดุก่อสร้างล่วงหน้าอย่างสอดคล้องกับความต้องการใช้ เป็นหนึ่งในทางออก'

 

EIC ยังแนะว่า ในแนวทางการเพิ่มรายได้ของภาคก่อสร้างปี 2566 นั้น ผู้ประกอบการอาจต้องหลีกเลี่ยงกลยุทธ์ การเข้าประมูลแบบแข่งขันด้านราคา ควบคู่กับการทำความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าประมูลงานได้อย่างหลากหลายยิ่งขึ้น