รีไฟแนนซ์ ดีหรือไม่ เรื่องสำคัญคนซื้อบ้านต้องรู้

22 ต.ค. 2565 | 01:59 น.

รีไฟแนนซ์ (Refinance) หนีดอกเบี้ยสูง ดีหรือไม่ เรื่องสำคัญของคนซื้อบ้าน-คอนโด ต้องรู้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ธอส. REIC พาไปค้นหาข้อเท็จจริง

ใครก็ตามที่กู้ซื้อบ้านหรือคอนโดอยู่ เชื่อเหลือเกินว่าจะต้องเคยได้ยินคำว่า “รีไฟแนนซ์” ผ่านหูแน่นอนไม่มากก็น้อย ซึ่งในความหมายของการ “รีไฟแนนซ์” (Refinance) นั้น ก็คือ การกู้เงินก้อนใหม่มาโปะหนี้เก่าให้หมดไป

 

เพื่อ “หนีอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น” ในการผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโดที่จำนวนปีสูงขึ้นนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม เราจะพิจารณาเพียงแค่ตัวเลขอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใหม่ที่ต่ำลงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่สำคัญไม่แพ้กันดังนั้น ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ REIC พาไปค้นหาข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้

1. ค่าใช้จ่ายในการทำรีไฟแนนซ์

 

ในการทำรีไฟแนนซ์นั้น จะมีค่าใช้จ่ายหลายอย่างที่เราจะต้องเสีย อาทิ ค่าปรับการคืนเงินกู้ก่อนสัญญา ประมาณ 2-3% ของวงเงินกู้เต็มจำนวน ค่าจัดการสินเชื่อสัญญาใหม่ ค่าธรรมเนียมในการจดจำนอง ค่าประเมินหลักประกันใหม่ ค่าประกันอัคคีภัย ค่าอากรแสตมป์ เป็นต้น ซึ่งเราจะต้องคำนวณค่าใช้จ่ายเหล่านี้ออกมาให้ชัด จะได้เห็นว่า ดอกเบี้ยที่ลดลงแล้วนั้น

 

เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายดังกล่าว ก็ยังทำให้เราเสียค่าใช้จ่ายน้อยลงจากการทำรีไฟแนนซ์หรือไม่ คุ้มค่ากันหรือเปล่าที่จะทำการรีไฟแนนซ์ รวมถึงค่าใช้จ่ายนี้ก็นับเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายทันทีด้วย ซึ่งรวมกันก็ไม่ใช่เงินน้อย ๆ หากเราไม่วางแผนให้พร้อมก่อน ก็จะกลายเป็นต้องดึงเงินก้อนใหญ่มาใช้จนอาจทำให้เกิดปัญหาทางการเงินตามมาภายหลังได้

2. ระยะเวลาในการผ่อนชำระนานขึ้น

 

ถือเป็นข้อเสียอันดับหนึ่งเลยของการทำรีไฟแนนซ์ คือทำให้เรามีภาระการผ่อนชำระยาวนานออกไปอีก เพราะเมื่อเราไปกู้หนี้ใหม่มาโปะหนี้เดิม แม้ค่างวดจะลดลงได้ ดอกเบี้ยลดลงได้ แต่ระยะเวลาภาระผูกพันในการผ่อนจะยืดยาวออกไป ซึ่งหากเราไม่ได้มีเป้าหมายในการผ่อนนาน ๆ ไม่ได้อยากเป็นหนี้ไปนาน ๆ

 

ที่หากเสียชีวิตไประหว่างทาง หนี้ก้อนนี้จะกลายเป็นภาระลูกหลานล่ะก็ การรีไฟแนนซ์ก็อาจไม่ได้ตอบโจทย์เท่าไร แต่การหาเงินก้อนมาจบหนี้ให้ไวน่าจะเป็นทางออกที่ตอบโจทย์มากกว่า

 

3. สถานะความมั่นคงทางการเงิน

 

ไม่ใช่ว่าใครก็จะสามารถทำรีไฟแนนซ์บ้านได้เลยง่าย ๆ แต่การจะทำรีไฟแนนซ์หรือขอกู้หนี้ก้อนใหม่มาโปะก้อนเดิมได้นั้น สถานะทางการเงินของเราจะต้องมั่นคงมากพอให้ธนาคารยอมอนุมัติเงินกู้ให้ด้วย กล่าวคือ ถ้าเรากำลังตกงาน เพิ่งเริ่มงานใหม่ได้ไม่นาน หรือเงินเดือน รายได้ ไม่ได้มากพอ

 

ที่จะขอกู้วงเงินใหม่ผ่านได้ ก็จะไม่สามารถทำการรีไฟแนนซ์ได้สำเร็จ ซึ่งการทำเรื่องขอรีไฟแนนซ์นั้น จะต้องใช้เวลาและการเตรียมเอกสารจำนวนมาก ดังนั้น หากตัดสินใจจะทำรีไฟแนนซ์จริง ๆ ก็ต้องมั่นใจด้วยว่าในช่วงเวลานั้น การเงินของเราไม่มีปัญหา

 

การรีไฟแนนซ์ เป็นการทำเพื่อให้เราแบกรับภาระค่างวดผ่อนที่น้อยลง ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงเป็นสำคัญ ซึ่งย่อมเป็นเรื่องที่ดีมากกว่าเสีย แต่การจะการันตีว่าการรีไฟแนนซ์จะเป็นประโยชน์ได้จริง ๆ นั้น เราก็จะต้องพิจารณาปัจจัยรอบด้านให้รอบคอบก่อนด้วย โดยเราจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบหาอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่า

 

ให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้อย่างแท้จริง โดยต้องไม่ลืมคำนวณค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์เข้าไปด้วย ไม่เช่นนั้นแล้ว ก็จะทำให้การรีไฟแนนซ์ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนเสียเวลาทุ่มเทในการดำเนินการเท่าที่ควร