เอกชน ฝากโจทย์ เลือกตั้ง 66 ดูดเงินอสังหาฯ 3 แสนล้าน นำเศรษฐกิจยุคใหม่

10 ต.ค. 2565 | 02:47 น.

'เงินเฟ้อ' กำลังไล่ล่า ราคาที่อยู่อาศัย ขณะคนไทยวัยหนุ่ม-สาว กลุ่มคนทำงาน ลดน้อยถอยลง จากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคม โดยประเทศไทยเข้าสู่ 'สังคมผู้สูงวัย' อย่างเต็มรูปแบบ นั่นคือภาพของ 'กำลังซื้อ' ที่อ่อนแอน่ากังวลในอนาคต

หากประเทศไทยต้องใช้ระยะเวลานานถึง 5 ปี เพื่อผลักดัน ให้รายได้ต่อหัวประชากร ขยับขึ้นมาเกิน 3 แสนบาทต่อปี ตามเป้าหมาย แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570)ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อหวังให้ไทยก้าวพ้น มาอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว 

 

ความจำเป็นในการพลิกโฉมโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การปรับแก้สภาพแวดล้อมโดยรอบ เพื่อให้เอื้อต่อการสร้างงาน สร้างรายได้ เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ จากการจับจ่ายใช้สอยของคนในประเทศเป็นหลัก ก็คงจะเป็นสิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการมากที่สุด 

เลือกตั้งใหม่ VS โจทย์อสังหาฯ

การส่งสัญญาณ ประกาศวันเลือกตั้งใหม่ทั่วประเทศ  เคาะ 7 พ.ค.2566 เกิดภาพความหวังในภาคอุตสาหกรรมทุกแขนง ว่ามิติใหม่ จะนำมาซึ่งนโยบายขับเคลื่อนแวดล้อมเศรษฐกิจ และมาตรการที่เอื้อต่อการทำธุรกิจนั้นๆอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะกลไกเศรษฐกิจเพื่ออนาคต 'อุตสาหกรรม New S-curve' ที่ถูกมองว่าจะดึดดูดการลงทุน และ คนเก่งๆเข้ามาในประเทศอย่างมหาศาล

 

สำหรับในภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น ผ่าโจทย์ใหญ่ในวันนี้ แม้ตลอด 9 เดือน ของปี 2565 'ตลาดที่อยู่อาศัย' ส่งสัญญาณฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้ดี จากยอดขายคอนโดมิเนียม ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาทเติบโตขึ้นจากปีก่อน การโอนกรรมสิทธิ์บ้าน ทั้งใน กทม.และปริมณฑล มูลค่าถูกผลักดันด้วยโครงการระดับบน ดีมานด์ความต้องการทั้งบ้านใหม่และบ้านมือสองยังเกิดขึ้น 

แต่อย่างไรก็ตาม 'เงินเฟ้อ' กำลังไล่ล่า ราคาที่อยู่อาศัย ขณะคนไทยวัยหนุ่ม-สาว กลุ่มคนทำงาน ลดน้อยถอยลง จากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคม โดยประเทศไทยเข้าสู่ 'สังคมผู้สูงวัย' อย่างเต็มรูปแบบ นั่นคือภาพของ 'กำลังซื้อ' ที่อ่อนแอน่ากังวลในอนาคต 

 

ชูอสังหาฯนำเศรษฐกิจแสนล.

'ฐานเศรษฐกิจ' เจาะชุดความคิด 3 สมาคมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ต่อมุมมอง ภาคอสังหาฯไทยในยุคหน้า พบ ต่างฝากโจทย์ไว้ให้กับรัฐบาลใหม่ ในแนวทางที่สอดคล้องกันอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะ การปลุกกระแส เชื่อมโยง New S-curve - ภาคท่องเที่ยว และ ภาคอสังหาฯ ไว้ด้วยกัน 

 

เริ่มจาก นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ที่มี'จีดีพี' ต่ำติดต่อกันมานานหลายปี และถูกประเทศคู่แข่งเพื่อนบ้าน ไล่บี้ในทุกมิตินั้น หากไทยยังคง ยึดมั่นกับอุตสาหกรรม เช่น การส่งออก ที่เคยเฟื่องฟูใน 2 ทศวรรษก่อน เราอาจไปไม่รอด ทางออก คือ การเร่งหาเครื่องจักรใหม่ๆ มาทดแทน แก้ปัญหา การบริโภคภายในประเทศที่กำลังชะลอตัวอย่างรุนแรง

 

ซึ่งเครื่องจักรใหม่ที่ว่า คือ การสนับสนุนภาคอสังหาฯ ผ่านการดึงความต้องการของ 'ชาวต่างชาติ' มาเป็นตัวพลิกเกม โดยใช้โอกาสความเป็นเบอร์ 1 เมืองเป้าหมาย ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ,เบอร์ 1 ในดีมานด์ความต้องการของ 'ชาวจีน' มาเป็นตลาดสร้างเม็ดเงิน ผ่านการปรับแก้เงื่อนไขที่เป็นอุปสรรค และให้กระทบกับคนไทยน้อยที่สุด เพื่อกระตุ้นการจ้างงานในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีขนาดใหญ่และกว้างที่สุด ตั้งแต่ ภาคก่อสร้าง ,เฟอร์นิเจอร์ และ ตกแต่งบ้าน 

 

อีกทาง การเข้ามาอยู่อาศัยของชาวต่างชาติ จะสร้างรายได้เข้าชุมชน และ ภาคครัวเรือนโดยตรง ต่างจากภาคการส่งออก คาดหากสำเร็จ อสังหาฯจะส่งผ่านสัดส่วน จีดีพีได้ถึง 11% หรือ 1.5 แสนล้านบาทต่อปี 

 

'ประเด็นคัดค้านต่างชาติในอสังหาฯ จะถูกตัดจบได้ เพราะ นิยมกันคนละโซน อยากให้รัฐบาลริเริ่มทำ แซนบ็อกซ์ เช่นโมเดลในต่างประเทศ หากมีปัญหาก็สั่งยกเลิกได้ทันที แต่ความท้าทายอยู่ที่ วิธีการดึงเม็ดเงิน ให้มาเป็นแรงหนุนรายได้ชุมชน หมุนกลับมาให้คนไทยมีกำลังซื้อบ้านเป็นของตัวเอง ดึงให้เข้าอยู่อาศัย และนำเงินมาใช้ในระบบ จะทำอย่างไรมากกว่า'

 

แนะปั้นไทย สู่ 'โกลบอล รีไทร์เมนท์'

ด้าน นายพีระพงศ์ จรูญเอก นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังท้าทาย ต่อการกลับไปแข่งขันบนเวทีโลก แม้มีอุตสาหกรรมดาวรุ่ง อย่าง ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ ธุรกิจด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม นำทัพ แต่ก็อาจเสียท่าให้เพื่อนบ้านโดยรอบได้เช่นกัน 

 

กลไกสำคัญ ที่รัฐบาลใหม่ อาจต้องพิจารณาเพิ่มเติม คือ การสนับสนุน จุดแข็ง ด้านการท่องเที่ยวของไทย ต่อยอดให้เกิดประโยชน์ เปรียบเป็น 'ซอฟพาวเวอร์' ทางเศรษฐกิจ จากการวางตัวเป็นกลางได้ดี ภายใต้ความขัดแย้งหลายขั้วทั่วโลก ดึงดูดทั้งการลงทุนของต่างชาติ และ ใช้วัฒนธรรม สภาพบ้านเมืองที่น่าอยู่อาศัย และ ราคาอสังหาฯถูก มีสิทธิครอบครอง มาเป็นจุดขายใหม่ เทียบ ญี่ปุ่น หรือ อิตาลี ปลุกปั้นให้ไทยเป็น 'เดสสิเนชั่น ลิฟวิ่ง' หรือ 'โกลบอลรีไทร์เมนท์' ทั้งระบบบน และ ระดับล่าง ก็ย่อมได้เช่นกัน เช่น การดึงความต้องการของ คน สปป.ลาว ,กัมพูชา และ เมียนมาร์ ปั้นโมเดลร่วม บีโอไอ ทำโครงการราคาถูก ได้เพิ่มทั้งจำนวนแรงงานในระบบ และเม็ดเงินเศรษฐกิจ หรือ การสร้างคอมมูนิตี้ระดับบน เก็บค่าธรรมเนียมต่างชาติ 5 แสน - 1 ล้านบาท เงินดังกล่าวของต่างชาติ 1 คน จะใช้ดูแลคนสูงวัยบ้านเราได้ 4-5 คน เป็นต้น

 

"สนับสนุนการเปิดช่องต่างชาติ เป็น แซนบ็อกซ์ใน EEC ,ภูเก็ต,พัทยา และ เชียงใหม่ เทียบอสังหาฯเคยมีมูลค่าตลาดเมื่อปี 2562 ถึง 9 หมื่นล้านบาท ถ้าระยะ3-5 ปีข้างหน้าปลดล็อค เช่น แบ่งสัดส่วนบ้าน 25% ให้ต่างชาติ คนไทย 75% ในโครงการ อาจเพิ่มมูลค่าตลาดได้มาก 2-3 แสนล้านบาทต่อปี สนับสนุนจีดีพีโดยตรง "


ราคาที่ดินตัวแปรใหญ่

ขณะ นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ให้มุมมองว่า ในระยะข้างหน้า ตัวแปรสำคัญของราคา'ที่อยู่อาศัย' ไทย มากกว่า อัตราเร่งของเงินเฟ้อนั่น กลับเป็น ราคาต้นทุนการพัฒนาโครงการ อย่าง 'ที่ดิน' ซึ่งเงินเฟ้อแทบไม่มีอิทธิพล ซึ่งแม้แต่ในช่วงโควิด ราคาก็ยังกระโดดขึ้นมา 10-20% ต่อปี  เทียบในอดีต ราคาที่ดินเพื่อการพัฒนาบ้านจัดสรร มีราคาต่อไร่ 5 ล้านบาท 

 

แต่ปัจจุบัน ราคา 8 ล้านบาท ก็ไม่สามารถหาซื้อได้ อาจเป็นอุปสรรคที่ทำให้ คนไทยเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ยากขึ้น หากการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยยังต่ำ และ รายได้ต่อหัวประชากรไม่ขยับ จึงต้องย้อนกลับไปที่พื้นฐานสำคัญ ว่าจะทำอย่างไร ให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดีและยั่งยืน ซึ่งโจทย์ในภาคอสังหาฯนั้น รัฐบาลใหม่หรือเก่า ก็คงต้องมองให้กว้างและลึกขึ้น จากความสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ 

 

"ถ้าเศรษฐกิจไทย อยากฟื้นตัวเองกลับ เวลานี้ต้องหาอุตสาหกรรมใหม่มาทดแทน นอกเหนือจากความหวัง EEC หรือ New S-curve' ซึ่งการดึงคนนอกเข้ามา จะสำเร็จได้ต้องมีแวดล้อม กฎระเบียบที่เอื้อรองรับ ดึงเม็ดเงินอย่างต่ำ 4 ปี เพิ่มการเข้าถึงที่อยู่อาศัย เพราะตอนนี้ไม่ใช่แค่ประโยชน์อสังหาฯ แต่คือ อนาคตของเศรษฐกิจไทย " 

 

แนวโน้มหอมหวานในประเด็นโอกาสต่างชาติ กับ อสังหาฯไทย ยังมาจาก องค์การท่องเที่ยวโลก จัดอันดับให้ประเทศไทย เป็นเบอร์ 1 ที่มีการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยวมากที่สุด ในแง่จำนวนการจองห้องพัก การเข้ามาของต่างชาติต่อเดือนทะลุ 1 ล้านคนอย่างต่อเนื่อง จนคาดตลอดทั้งปี 2565 ไทยจะมีนักท่องเที่ยวมาก 9-10 ล้านคน ก่อนขยับเป็น 20 ล้านคนในปี 2566 ซึ่งในจำนวนนั้น คือ เป้าหมายต่อยอดที่ภาคอสังหาฯอยากเห็นมากที่สุด ...