อสังหาฯท้าทาย เผชิญต้นทุน 'พัฒนาที่อยู่อาศัย' สูง

06 มิ.ย. 2565 | 03:50 น.

EIC เผย ผู้พัฒนาอสังหาฯ เผชิญ 3 ความท้าทาย ต้นทุนการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสูงขึ้น ขณะตลาด มีข้อจำกัด ด้าน 'กำลังซื้อ' ฟื้นตัวช้า แนะเปิดโครงการใหม่ เน้นตอบโจทย์กลุ่มคนศักยภาพ - สร้างความแตกต่าง

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) รายงานว่า การฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยไทย ยังต้องอาศัยปัจจัยกระตุ้น โดยมาตรการภาครัฐ ทั้งมาตรการผ่อนคลายอัตราส่วนสินเชื่อต่อราคาที่อยู่อาศัย (LTV) ซึ่งทำให้สามารถกู้ได้ 100% และการต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนองที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท รวมถึงการจัดโปรโมชันของผู้ประกอบการ ในช่วง COVID-19 อาจช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยให้เร็วขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม พบว่าขณะนี้ ผู้ประกอบการ กำลังเผชิญความท้าทายในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีต้นทุนที่สูงขึ้น ใน 3 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่

  1. การฟื้นตัวในระยะข้างหน้า เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์กำลังซื้อ โดยเฉพาะกลุ่มรายได้เปราะบาง
  2. ต้นทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น ทั้งราคาวัสดุก่อสร้าง แรงงาน และราคาที่ดิน
  3. ยังมีโอกาสในการเกิดภาวะอุปทานส่วนเกิน ส่งผลให้การเปิดโครงการใหม่ต้องเป็นไปอย่างอย่างระมัดระวัง และมีการบริหารความเสี่ยง

ทั้งนี้ ในการปรับกลยุทธ์ของผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัย จะมีส่วนสำคัญให้สามารถประคับประคองธุรกิจไปได้ โดยในช่วงที่ตลาดที่อยู่อาศัยได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ผู้ประกอบการ อาจยังสามารถเจาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อ / มีศักยภาพ โดยยังมีผู้ซื้อที่อยู่อาศัยบางกลุ่มตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเร็วขึ้นในช่วงที่ COVID-19 ระบาด จากการจัดโปรโมชันของผู้ประกอบการ การซื้อก่อนที่ราคาที่อยู่อาศัยจะปรับขึ้น รวมถึงมีการซื้อที่อยู่อาศัยที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อตอบโจทย์อยู่อาศัยที่บ้านมากขึ้น

 

เช่นเดียวกับ นำเสนอความคุ้มค่า ด้วยสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการอยู่อาศัยขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความปลอดภัย และความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนฟังก์ชัน / การออกแบบให้เหมาะสมต่อการอยู่อาศัย

 

รวมถึง สร้างความแตกต่างด้วยสินค้า และบริการใหม่ ๆ เช่น สภาพแวดล้อมและบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เทคโนโลยี / บริการใหม่ ๆ ทางเลือกให้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยได้เลือกจ่ายเงินเพิ่ม สำหรับบริการหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่ออำนวยความสะดวก และประหยัดค่าใช้จ่ายได้ในระยะยาว เป็นต้น