กรมที่ดินนำร่อง เทศบาลนนทบุรีชำระภาษีที่ดินผ่านออนไลน์

22 มี.ค. 2565 | 04:35 น.

กรมที่ดินนำร่อง เทศบาลนนทบุรีรับชำระภาษีที่ดินผ่านออนไลน์ก่อนขยายครบ7,850แห่งทั่วประเทศ เพื่อความสำดวกของประชาชน ที่ต้องชำระภาษีประจำปี หลังพัฒนาระบบค้นหารูปแปลงที่ดิน (LandsMaps) ซึ่งมีผู้เข้าใช้บริการปีละมากกว่า 20 ล้านราย

 

การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี2565กระทรวงการคลังยืนยันเรียกเก็บในอัตราเต็มอัตรา100%ไม่มีลดหย่อน อย่างไรก็ตาม เพื่อความสำดวกของประชาชน ที่ต้องชำระภาษีประจำปี กรมที่ดินได้พัฒนาระบบค้นหารูปแปลงที่ดิน (LandsMaps) ซึ่งมีผู้เข้าใช้บริการปีละมากกว่า 20 ล้านราย

 

เป็นระบบที่ให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปในการสอบถามรายละเอียดที่ดินได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือผ่านอินเทอร์เน็ต และกรมที่ดินได้มีแนวคิดในการพัฒนา LandsMaps ให้สามารถแสดงข้อมูลเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

กรมที่ดินนำร่อง เทศบาลนนทบุรีชำระภาษีที่ดินผ่านออนไลน์

เชื่อมโยงข้อมูลกับระบบจัดการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยสแกน QR code  เพื่อติดต่อชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกับเทศบาลนครนนทบุรีได้ ในส่วนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น    จะสนับสนุนการพัฒนาระบบจัดการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และกำกับดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

 

รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเทศบาลนครนนทบุรี จะร่วมพัฒนาระบบจัดการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของกรมที่ดิน

อย่างไรก็ตามการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาระบบให้บริการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่เทศบาลนครนนทบุรี ระหว่างกรมที่ดิน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และเทศบาลนครนนทบุรี จึงเป็นความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน

 

ในการเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการ เทคโนโลยี และสร้างเครือข่ายการทำงานอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มช่องทางให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

 

รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของประชาชน และในอนาคตจะได้พัฒนาระบบเพื่อนำไปใช้จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 7,850 แห่งทั่วประเทศต่อไป