บิ๊กอสังหาฯ แห่เปิดโครงการแสนล้านสวน ‘โควิด’

14 ม.ค. 2565 | 04:01 น.

บิ๊กอสังหาฯ เปิดศักราชปี65 ลงทุนสวนโอมิครอน-เศรษฐกิจ-เงินเฟ้อ แสนสิริ ประเดิมรายเดียว 5 หมื่นล้าน ศุภาลัย ลลิล พฤกษา กางโมเดล เน้นบริหารต้นทุน กระทุ้งตลาดบ้าน-คอนโดฯ แสนล้านเจ้าพ่อ BOI ดัน 8 พันยูนิต เขย่าเมือง

 

แม้ขณะนี้เศรษฐกิจโลกและประเทศไทย กลับมามีความเปราะบางอีกครั้ง จากการแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ “โอมิครอน” ลุกลามระบบสาธารณสุข จำนวนผู้ติดเชื้อเร่งตัวสู่จุดสูงสุด ในรอบหลายเดือน เปิดฉากทัศน์ ความเสียหายครั้งใหม่ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) ประเมิน เลวร้ายสุด ช่วงกลางเดือน กุมภาพันธ์นี้ ไทยอาจติดเชื้อมากกว่า 3 หมื่นรายต่อวัน ฉุดภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ให้ล่าช้าออกไปอี

อย่างไรก็ตาม ภาพความน่ากังวลของการระบาดระลอกที่ 5 คงไม่น่ากลัวเท่า การล้มหายตายจากของภาคธุรกิจไทย หากยังชะลอการลงทุน หยุดโอกาสสร้างรายได้ใหม่ๆ อีกทั้ง กรณีกรมควบคุมโรค เตรียมประกาศ “โรคโควิด19” เป็นโรคประจำถิ่น สะท้อนความรุนแรงของโรคต่ำลงแล้ว จึงเริ่มเห็นภาคเอกชน ประเมินความเสี่ยง และออกมาลงทุนตามจังหวะอย่างต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประเดิม ปี 2565 เปิด ศักราชการลงทุนใหม่ ล็อตแรก อย่างน่าสนใจ ท่ามกลางความเชื่อมั่น ตลาดปีนี้จะฟื้นตัวได้ดี แม้ยอมรับ มีโจทย์ยากและหินรอท้าทายอยู่ จากภาพกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ และแนวโน้มต้นทุนที่แพงขึ้นทั้ง ราคาที่ดิน, ภาษีที่ดิน รวมถึง เงินเฟ้อ ดันเทรนด์ขาขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้าง และค่าแรงงงานอีกด้วย

 

แสนสิริผุดใหม่ 5 หมื่นล้าน

 สร้างปรากฎการณ์ใหม่ในแง่การระดมทุน และ โมเดลธุรกิจอย่างน่าจับตาตั้งแต่ต้นปี สำหรับ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) โดย นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กางแผนธุรกิจปี 2565 ว่าเตรียมเปิดโครงการใหม่ทั้งสิ้น 46 โครงการ มูลค่าสูงถึง 5 หมื่นล้านบาท นับหนึ่งวัฎจักรการเติบโตครั้งใหม่ เป้าหมาย 3 ปี (2565-2567) เปิดโครงการใหม่รวม 1.5 แสนล้านบาท พร้อมตั้งเป้าหมายยอดขาย - ยอดโอนปีนี้ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท กินรวบตลาดบ้าน-คอนโดฯ ตั้งแต่ล้านต้นถึงระดับไฮเอนด์

 ทั้งนี้ นายเศรษฐา ระบุ แม้สถานการณ์ ปี 2565 มีความเสี่ยงรอบด้านจากโอมิครอน, สินค้าราคาแพง และหนี้ครัวเรือน รวมถึงปัจจัยลบทางการเมือง แรงกดดันเสถียรภาพ ของรัฐบาล แต่บริษัทมั่นใจ หลังมีสภาพคล่องทางการเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท สูงสุดในอุตสาหกรรม พร้อมรองรับทุกสถานการณ์ ประกาศพันธกิจ

“เติบโต ยั่งยืน ทุกมิติ” เน้นกระจายสัดส่วนสินค้าระดับราคาเข้าถึงได้ 50% (เริ่ม 1 ล้านบาท) และสินค้าระดับบน-พรีเมียม อีก 50% เจาะเรียลดีมานด์ (ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง) เป็นหลัก โดยจะเร่งเครื่องธุรกิจตั้งแต่ไตรมาสแรกเปิดตัวโครงการใหม่ราว 13 โครงการ

  “เปิดปีใหม่ อสังหาฯ เผชิญปัจจัยลบหลายเรื่อง ความเปราะบางหนี้ครัวเรือน อาจส่งผลให้อัตราการปฎิเสธสินเชื่อมากขึ้น แต่หวังว่ารัฐบาลจะออกมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องและไม่ประกาศล็อกดาวน์ เรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคร้าย เพื่อให้การค้าขาย กิจกรรมเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ เราในฐานะเบอร์ใหญ่พร้อมลงทุน”

ลลิล ลุยลงทุนใหม่ฝ่าเงินเฟ้อ

 ขณะซีอีโอรุ่นเก๋า นายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บมจ. ลลิล เปิดแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ลุ้นภาคส่งออก การบริโภค- การลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยว จะผลักดันจีดีพีไทย (การเติบโตทางเศรษฐกิจ) โตได้ราว 3-4% และดันคนในระบบภาคการท่องเที่ยว 5-7 ล้านคนออกมาจับจ่ายใช้สอย เป็นแรงส่งต่อภาคที่อยู่อาศัย

โดยมีปัจจัยบวก เรื่องมาตรการต่ออายุมาตรการ ลดค่าธรรมเนียมการโอน-จำนอง ที่อยู่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท, การผ่อนปรนเกณฑ์ LTV และดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน ที่ยืนอัตราต่ำ เป็นแรงหนุนสำคัญทำให้อสังหาฯฟื้นประเมินโตได้ราว10%

กางแผนปี 2565 ลุยเปิดโครงการใหม่แนวราบบ้านเดี่ยว-ทาวน์โฮม 10-12 โครงการ ราคาตั้งแต่ 2-12 ล้านบาท เช่น แบรนด์ ไลโอ ฯล มูลค่ารวม 7- 8 พันล้านบาท มากกว่าปีก่อนหน้า ภายใต้เป้ายอดขาย 8.5 พันล้านบาท และเป้าหมายการรับรู้รายได้ที่ 7.2 พันล้านบาท ขณะเดียวกัน เตรียมงบซื้อที่ดินใหม่ไว้ที่ 1- 1.2 พันล้านบาท อีกด้วย แม้ยอมรับปีนี้ไม่ง่าย

 

พฤกษาปีนี้ลุยเปิด 3 หมื่นล้าน

 ด้านเจ้าใหญ่ของอุตสาหกรรม บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท โดยนายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ระบุ เปิดโครงการใหม่ทั้งหมดในปีนี้  31-35 โครงการ มูลค่ารวม 3 หมื่นล้านบาท เทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด เน้นทาวน์เฮ้าส์ กลุ่ม 3-5 ล้านบาท, บ้านเดี่ยว 5-7 ล้านบาท รวมถึง ระบุว่าจะกลับมาเปิดคอนโดฯใหม่อีกครั้ง อย่างต่ำ 6 โครงการ เจาะกลุ่มราคา 3-5 ล้านบาท หลังจากเชื่อมั่นว่า ลูกค้าต่างชาติ อย่างชาวจีนจะกลับมาได้ในปีนี้

เจาะโมเดลธุรกิจของพฤกษา นอกจากเน้นทำเลที่ตั้ง, ดีไซน์พ่วงด้านสุขภาพแล้ว หัวใจสำคัญ คือ การบริหารต้นทุน ลดการใช้แรงงานภายใน ผ่านการว่าจ้างคู่ค้า แทนการทำเองทั้งหมดอย่างในอดีต เป็นการลุยลงทุนแบบรัดกุม ประเมินความเสี่ยงรอบทิศ

“พฤกษาผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ปีนี้วางเป้าหมายเติบโต 20% อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจยุคนี้ สำคัญสุด คือ การบริหารสภาพคล่อง ต่อให้แบงก์ไม่ปล่อยกู้ ต้องมีเลือด-มีน้ำหล่อเลี้ยงบริษัท ขณะเดียวกัน เราจะลงทุนใหม่ ก็ต่อเมื่อเห็นว่าคุ้ม สร้างบ้านต้องได้เงิน”

ศุภาลัยบุกคอนโดฯต่ำ 3 ล้าน

 ขณะอีกค่ายใหญ่ บมจ.ศุภาลัย แม้ยังไม่เปิดเผยแผนธุรกิจของปีนี้อย่างเป็นทางการ แต่ล่าสุด เปิดโครง การคอนโดฯใหญ่ ตัดหน้าคู่แข่งในตลาด ด้วยราคาเริ่มต้นต่ำกว่า 2 ล้านบาท ผ่านโครงการ ศุภาลัย ลอฟท์ รัชดา-วงศ์สว่าง อาคารสูง 18 ชั้น มูลค่า 3.2 พันล้านบาท จำนวน 1,302 ยูนิต ใกล้ MRT สถานีวงศ์สว่าง เปิดพรีเซล 22-23 ม.ค.นี้ นับเป็นจิกซอว์ตัวที่ 1 ของศุภาลัย ที่เข้ามาเขย่าตลาดคอนโดฯ

 นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการบริษัท ประเมิน ตลาดคอนโดฯ จะเริ่มฟื้น โดยเฉพาะกลุ่มราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ตลาดกำลังซื้อคนไทยมาแรง จากสัญญาณที่พลิกฟื้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าพร้อมอยู่ ส่วนโครงการใหม่พรีเซล ปีนี้น่าจะเริ่มกลับมา สำคัญคือราคาต้องสอดคล้องกับความต้องการด้านพื้นที่ของผู้บริโภคยุคใหม่ด้วย ฉะนั้นภาระหนัก คือ การบริหารต้นทุน

เจ้าพ่อ BOI เขย่า 8พันยูนิต

อีกความเคลื่อนไหวน่าจับตามอง แง่การลงทุนใหม่ขนาดใหญ่ในปีนี้ โดยบริษัท รีเจ้นท์ กรีน เพาเวอร์ ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น “เจ้าตลาดคอนโดฯ BOI (ราคาถูก)” เตรียมปั้ม โครงการขนาดยักษ์ถึง 2 ทำเล รวมกันมากกว่า 8,000 ยูนิต ได้แก่ “โครงการ รีเจ้นท์ โฮม วุฒากาศ” ตึกสูง 2 อาคาร (37ชั้น และ 38 ชั้น) รวมจำนวน 3,098 ยูนิต ใกล้สถานี BTS วุฒากาศ ขายราคาเดียว 1.2 ล้านบาททั้งโครงการอีกทำเล บนไพร์ม แอเรีย

เส้นเลือดใหญ่สู่ประตูอีอีซี ใกล้สถานี BTS บางนา “โครงการรีเจ้นท์ โฮม” ใกล้แยกบางนา ตึกสูงรวม 4 อาคาร จำนวนมากถึง 5,007 ยูนิต นับเป็นความหาญกล้า ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและสถานการณ์การแพร่ระบาดของ “โอมิครอน”

บิ๊กอสังหาฯ แห่เปิดโครงการแสนล้านสวน ‘โควิด’