จับตา“เอเวอร์แกรนด์”ชนวนฉุด 1.4ล้านยูนิตกำลังสร้างในจีนพัง

20 ก.ย. 2564 | 13:57 น.
อัพเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2564 | 21:25 น.

จับตา“เอเวอร์แกรนด์” ฉุด โครงการอสังหาฯกำลังสร้าง1.4ล้านยูนิตมูลค่า200,000 ล้านดอลล่าร์หรือ 6.6 ล้านล้านบาท  ในจีนพัง หลังมีกำหนดชำระหนี้ก้อนมหึมา ให้ธนาคารเส้นตาย 21 ก.ย.นี้ จากหนี้สิน คิดเป็นเงินบาทไทย 11ล้านล้านบาททางออกต้องตัดขายทรัพย์สิน-รัฐบาลจีนอุ้ม

 

 

หนี้สินกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 11 ล้านล้านบาท ของ ไซน่าเอเวอร์แกรนด์กรุ๊ป หรือเอเวอน์แกรนด์ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกของจีน ที่กำลังเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่อง  และอาจเป็นชนวนให้ธุรกิจอสังหาฯในจีนล้มเป็นโดมิโน่ได้

เส้นตายชำระหนี้จี-ลุ้นรัฐบาลจีนอุ้ม

 นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด ระบุว่า  ว่ากันว่า “เอเวอร์แกรนด์” มีกำหนดชำระหนี้ให้ธนาคารวันที่ 21 กันยายนนี้ (จำนวนที่ต้องชำระยังไม่ชัดเจน)

หากสามารถขายทรัพย์สินออกไปได้ก็สามารถหาเงินมาชำระหนี้สินบางส่วนได้เช่นกัน เพียงแต่ในภาวะแบบนี้ก็คงยากที่จะหาคนมาซื้ออสังหาฯมูลค่าสูงๆ หลายรายพร้อมๆ กันความวิตกกังวลจึงเกิดขึ้น เพราะกรณีมีปัญหาจริงคาดว่า คงก่อให้เกิดปัญหาอีกมากมายในประเทศจีน เนื่องจากโครงการที่อยู่อาศัยของพวกเขาที่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกไม่น้อยกว่า 1.4 ล้านยูนิตมูลค่ารวมกันประมาณ 200,000 ล้านดอลล่าร์หรือ 6.6 ล้านล้านบาท  อาจได้รับผลกระทบตามไปด้วย คงต้องลุ้นกันว่ารัฐบาลจีนจะเข้ามาจัดการเรื่องนี้หรือไม่ เพราะผลกระทบนั้นรุนแรงแน่นอน

5ยักษ์อสังหาฯจีน

สำหรับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ในแง่ของรายได้ 5 อันดับแรกของโลกนั้นเป็นบริษัทที่อยู่ในประเทศจีนแต่มีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงทั้งหมดซึ่งส่วนใหญ่มีการลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเป็นหลัก เช่น โครงการบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม รวมไปถึงการพัฒนาเมืองขนาดใหญ่ เพราะบางโครงการอสังหาฯในประเทศจีนมีจำนวนโครงการรวมกันหลายหมื่นยูนิต ไม่ใช่ใหญ่แบบในประเทศไทยที่มีจำนวนรวมกันหลักพันหรือประมาณ 10,000 ยูนิต เท่านั้น นอกจากนี้บริษัทเหล่านี้ยังมีการขยายไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอสังหาฯ เช่น โรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเม้นต์ โครงการพื้นที่ค้าปลีก และโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย

เอเวอร์แกรนด์ไม่ใช่รายแรก

บางบริษัทมีการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ แม้ว่ารัฐบาลจีนจะห้ามไม่ให้บริษัทเหล่านี้ออกไปลงทุนนอกประเทศจีนก็ตาม แต่ด้วยความที่บริษัทประเภทนี้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ซึ่งค่อนข้างสะดวกในการบริหารจัดการ ระดมทุนหรือออกไปลงทุนและขยายกิจการในต่างประเทศ

เพียงแต่ถ้าเป็นการลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะโครงการที่อยู่อาศัยอาจจะต้องใช้ชื่ออื่น เช่น บริษัท ริสแลนด์ (ประเทศไทย) จำกัด คือ บริษัทของคันทรี่การ์เด้น โฮลดิ้งส์ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีรายได้สูงที่สุดในโลกตามตาราง แต่ถ้าเป็นการลงทุนเข้าซื้อกิจการ อาคาร หรือโครงการอะไรต่างๆ นั้น ส่วนใหญ่ใช้ชื่อบริษัทในประเทศจีนเลย ซึ่งมีบางบริษัทที่มีการขยายกิจการด้วยวิธีในลักษณะนี้

จับตา“เอเวอร์แกรนด์”ชนวนฉุด 1.4ล้านยูนิตกำลังสร้างในจีนพัง

2ยักษ์อสังหาฯลงทุนเกินตัว

เช่นต้าเหลียนแวนด้ากรุ๊ป หรือเรียกสั้นๆ ว่า แวนด้ากรุ๊ปที่เข้าซื้อกิจการ อาคาร โครงการต่างๆ จำนวนมากในต่างประเทศ และประสบปัญหาในเรื่องของเงินหมุนเวียนที่ต้องนำมาชำระหนี้สิน ซึ่งมีการแก้ปัญหาโดยการขายกิจการบางอย่างในต่างประเทศออกไปเพื่อนำเงินมาชำระหนี้สินดังกล่าว และหลุดพ้นจากภาวะนั้นมาได้

ล่าสุดตามด้วย  เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป บริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่อันดับที่ 2 ของโลกมีรายได้ในปีพ.ศ.2563 ประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท กำไรกว่า 82,553 ล้านบาท โดยบริษัทมีทรัพย์สินรวมกันประมาณ 10 ล้านล้านบาท ปัญหาของเอเวอร์แกรนด์ในตอนนี้เกิดจากการขยายกิจการที่รวดเร็วและต่อเนื่องมาโดยตลอดแบบที่แวนด้ากรุ๊ป

โดยแหล่งรายได้หลักของเอเวอร์แกรนด์นั้นมาจากการขายโครงการที่อยู่อาศัยในประเทศจีน ซึ่งตลาดที่อยู่อาศัยในประเทศจีนเกิดปัญหาทั้งจากภาวะเศรษฐกิจ และจากการควบคุมของรัฐบาล ประกอบกับเรื่องของปัญหาทางการเงินที่มีข่าวออกมาเป็นระยะจนมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ซื้อ และพันธบัตรหรือหุ้นกู้ต่างๆ ของบริษัท มีผลให้รายได้ของพวกเขาในปีพ.ศ.2563 ลดลงจากปีพ.ศ.2562 ประมาณ 1.9% อาจจะไม่มาก แต่กำไรลดลงกว่า 55.7% ซึ่งมีผลต่อสภาพคล่องของบริษัทแน่นอน

ระดมทุนในตลาดตราสารหนี้จึงไม่ใช่ทางรอด

ทั้งนี้ชัดเจนว่าพวกเขามีต้นทุนหรือมีการลงทุนที่มากขึ้นกว่าปีก่อนหน้านี้ เมื่อรายได้หลัก รวมไปถึงรายได้จากกิจการอื่นๆ ลดลงต่อเนื่อง จึงมีผลต่อเนื่องแบบชัดเจนมายังเงินหมุนเวียนในบริษัทที่ต้องใช้ชำระหนี้สินนั้นเกิดจากสินเชื่อธนาคาร และการออกหุ้นกู้เพื่อนำมาใช้ขยายกิจการ ความน่าเชื่อของบริษัทจึงตกลงมาเรื่อยๆ หุ้นกู้ของพวกเขาไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป การระดมทุนในตลาดตราสารหนี้จึงไม่ใช่ทางรอดของบริษัทอีกแล้ว 

เอเวอร์แกรนด์จะผ่านขีดอันตรายได้หรือไม่ ก็อกแรกต้องลุ้นการชำระหนี้ก้อนโตให้กับธนาคารภายในกำหนดเวลา ก็อกสองรัฐบาลยื่นมือเข้ามาช่วย  หากทำไม่ได้  อาจเกิดสถานการณ์เลวร้ายฉุดธุรกิจอสังหาฯในจีนที่อยู่ระหว่างก่อสร้างนับล้านหน่วยพังครืนได้

อย่างไรก็ตามผลกระทบดังกล่าวแม้ไม่ลามมาถึงไทยแต่ก็ไม่ควรประมาท !!!