ธุรกิจบริหารทรัพย์สิน ทศวรรษหน้า...2561

23 ธ.ค. 2560 | 08:59 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

MP31-3324-1A ประเทศไทยมีความเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สังเกตได้ง่ายๆ จากการไปไหนมาไหนแม้จะมีการสร้างถนนเส้นใหม่ๆ รวมทั้งผุดรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นหลายเส้นทาง แต่การจราจรก็ยังติดขัดเป็นตังเม โดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่ ทั้งภูเก็ต พัทยา และเชียงใหม่ แม้จะขยายถนนอีกกี่สิบสาย รถราก็ยังเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ เช่นเดิม

ต้นสายปลายเหตุมาจากที่ดีเวลอปธุรกิจอสังหาฯ ผุดโปรเจ็กต์บ้านจัดสรรและอาคารชุดที่โน่นที่นี่แทบไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีการเปิดตัวคอนโดฯใหม่ๆ เลียบเส้นทางรถไฟฟ้ากันสลอน
ว่ากันว่าอาคารชุดกลางกรุงกำลังเข้าสู่ยุค “โอเวอร์ซัพพลาย” เหมือนเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนอีกหน

ตึกรามบ้านช่องจะลํ้ายุคสมัยหรือไดโนเสาร์ แต่พลันที่ผุดโผล่ขึ้นมาก็ต้องดูแลบำรุงรักษา ซ่อมแซมนั่นนู่นนี่รวมทั้งเตรียมเงินเตรียมทองสำหรับใช้จ่ายตลอดปี

อีกส่วนที่สำคัญคือ “ผู้บริหารจัดการ” ที่มีความรู้ความชำนาญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ที่ตัวเองบริหารจัดการทุกด้าน โดยเฉพาะระเบียบข้อกฎหมายทั้ง พ.ร.บ.อาคารชุด ทั้งพ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน รวมทั้งการดูแลบำรุงรักษางานระบบความปลอดภัยและบัญชีการเงิน

ปัจจุบันบุคลากรที่มีหน้าที่รับผิดชอบในด้านนี้ ทั่วโลกเขาต้องผ่านการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา แต่สำหรับประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มตั้งไข่ แปลว่าจบหรือไม่จบการศึกษาระดับชั้น ปวช. ปวส. หรือปริญญาตรีก็ทำหน้าที่บริหารจัดการหลังขายได้ ขอแต่ผ่านงานมาบ้างนิดๆ หน่อยๆ ก็พอ

MP31-3324-2A แล้วลองตรึกตรองดูในขณะที่บ้านจัดสรรและอาคารชุดผุดขึ้นที่โน่นที่นี่ตลอดเวลา แต่บุคลากรยังขาดแคลนหรือมีจำนวนไม่เพียงพอที่จะรองรับกับการเจริญเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ แล้วอะไรจะเกิดขึ้น

เอาเฉพาะหมู่บ้านจัดสรรที่เกิดขึ้นทั้งเก่าและใหม่ 4-5 หมื่นโครงการบวกรวมกับอาคารชุด ณ ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ และจดทะเบียนนิติบุคคลเรียบร้อยแล้วกว่า 15,000 อาคาร หรือเบ็ดเสร็จทั้งประเทศมีห้องชุดรวมประมาณ “1 ล้าน 5แสนหน่วย” เศษๆ

จำนวนหมู่บ้านและอาคารชุดที่มากมายขนาดนี้ เอาแค่แต่ละโครงการมีผู้บริหารเพียงแค่ 4-5 คนเบ็ดเสร็จจะต้องมีบุคลากรที่ทำงานในด้านนี้2-3 แสนคนเป็นอย่างน้อย

ทรัพย์สินเกิดใหม่ขึ้นทุกเวลานาที แต่ผู้ทำหน้าที่บริหารโครงการหลังขายยังเดินยํ่าเท้าอยู่กับที่ หากจะก้าวตามให้ทันกับความเจริญเติบโตของเมืองถึงเวลาต้องยกเครื่องผู้ประกอบอาชีพพร็อพเพอร์ตีแมเนจเมนต์อย่างด่วนจี๋ โดยเฉพาะบริษัทที่ทำธุรกิจรับดูแลหมู่บ้านและอาคารชุดต้องเร่งรัดขวนขวายพัฒนาปรับปรุงอย่างขนานใหญ่หลายๆ ด้าน อาทิ ระเบียบข้อกฎหมายต้องรู้ลึกซึ้งถ่องแท้ทุกด้าน, การดูแลรักษาเชิงป้องกันโดยเฉพาะความปลอดภัยต้องแม่นเป๊ะ, การพิทักษ์ภูมิสถาปัตย์และสร้างมูลค่าเพิ่มต้องทำให้ได้ และการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้กับผู้อยู่อาศัยต้องการันตีความสุขสบาย

ทั้ง 4 เรื่องข้างต้นสมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทยหนีไม่พ้นที่จะต้องเป็นตัวตั้งตัวตีผลักดันให้สำเร็จลุล่วงภายในระยะเวลาอันสั้น

จะว่าไปตลอด 2 ทศวรรษกว่าๆ ที่สมาคมนี้จดทะเบียนจัดตั้งบนผืนแผ่นดินขวานทองมีนายกมาแล้ว 6 ยุคสมัย
คนแรกผมเอง นคร มุธุศรี รับหน้าที่เป็นผู้ก่อตั้งเมื่อปี 2535 และกว่าจะจดทะเบียนได้ต้องเตรียมการทำโน่นทำนี่ 3-4 ปี จนสำเร็จเมื่อปี 2535 พลันที่ได้รับการรับรองยังต้องออกแรงรณรงค์ยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มอาคารชุด ทั้งขอลดอัตราค่านํ้าคอนโดฯ ทั้งร่วมกับองค์กรอื่นๆ เข็นกฎหมายบริหารหลังขายบ้านจัดสรรและทั้งปรับ ปรุงแก้ไขพ.ร.บ.อาคารชุดจนเหงื่อหยดอีกหลายแหมะ

นายกอีก 5-6 ท่านต่อๆ มา ก็มีภารกิจหนักเบาไม่แตกต่างกัน ส่วนทศวรรษหน้านับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป นายกและกรรมการบริหารสมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทยจะต้องรับหน้าสื่อในอีก 4-5 ภารกิจสำคัญไล่เลียงลำดับตั้งแต่ ผลักดันให้มีการบรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัย ถัดมาต้องผลิตบุคลากรมืออาชีพป้อนเข้าสู่ตลาดปีละ 300-400 คนเป็นอย่างน้อย

หน้าที่ประการต่อมาต้องฝึกอบรมสัมมนาบุคคลในอาชีพและส่งเข้าสอบเพื่อได้ใบรับรองคุณวุฒิผู้ประกอบวิชาชีพบริหารทรัพย์สินของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (Thailand Professional Qualification Institute : TPQI )
ภารกิจสุดท้ายผลักดันให้มีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินให้มีกำหนดคุณสมบัติผู้บริหาร และหรือยกร่างกฎหมายวิชาชีพบริหารทรัพย์สินออกมาบังคับใช้โดยตรง

ทั้งหลายทั้งปวงที่ว่าๆ มาข้างต้น คงไม่เหลือบ่ากว่าแรง เพราะตอนสมัยที่ผมรับตำแหน่งนายกก่อตั้งเมื่อหลายปีก่อนนู้น ยังทำได้ตั้งหลายๆ รายการ อย่างเช่น รณรงค์ให้ยกเลิก VAT Condo, ผลักดันให้เกิดพ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 แทนคำสั่งคณะปฏิวัติ, ยกร่างแก้ไขพ.ร.บ.อาคารชุดฉบับที่ 4 จนสำเร็จเมื่อปี 2551 และลดค่านํ้าประปาอาคารชุดจากหน่วยละกว่า 18 บาท ลดลงเหลือ 10.50 บาทต่อลูกบาศก์เมตร

ขออำนวยพรล่วงหน้าให้ปฏิบัติภารกิจทศวรรษหน้าให้สำเร็จลุล่วงเพราะหากหยุดนิ่งอยู่กับที่ก็จะเข้าสุภาษิตไทยคือ ก้าวถอยหลังนั่นเอง ...!!!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,324 วันที่ 21 - 23 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9