6 ปัจจัยเสี่ยง ลงทุนอสังหาฯ ปี 2565 ต้องจับตาอะไรบ้าง?

08 พ.ค. 2565 | 06:01 น.

ไม่อยากตัดสินใจพลาด จะซื้อ หรือ ลงทุนอสังหา โครงการที่อยู่อาศัย บ้าน ,คอนโดมิเนียม ปี 2565 ต้องพิจารณาอะไรบ้าง REIC เปิด 6 ปัจจัยเสี่ยง ต้องจับตามอง เช่น ดอกเบี้ย เงินเฟ้อ

8 พฤษภาคม 2565 - การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นหนึ่งในรูปแบบการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง และยังสามารถสร้างเป็นธุรกิจที่ทำ Passive Income ให้กับผู้ลงทุนได้อย่างมั่นคงอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามความเสี่ยงในการลงทุนอสังหาฯ นั้นก็ถือว่ามีมากไม่แพ้กัน 

6 ปัจจัยเสี่ยง ลงทุนอสังหาฯ ปี 2565 ต้องจับตาอะไรบ้าง?

ซึ่งผู้ลงทุนจำเป็นจะต้องวิเคราะห์จากข่าวสารในแวดวงเศรษฐกิจและแวดวงอสังหาฯ อย่างรอบด้าน เพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับใช้ประกอบการตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ และมีความเสี่ยงน้อยที่สุด ทั้งนี้ สำหรับปัจจัยเสี่ยงในปี 2565 ของการลงทุนอสังหาฯ ที่จำเป็นต้องเฝ้าจับตานั้น ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) วิเคราะห์และสรุปไว้ มีดังต่อไปนี้

 

6 ปัจจัยเสี่ยงลงทุนอสังหาฯ 

 

  • ภาวะราคาน้ำมันในตลาดเพิ่มสูงขึ้น

สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกนั้นส่งผลต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง เนื่องจากในกระบวนการก่อสร้างต่าง ๆ จำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานน้ำมัน รวมถึงวัสดุก่อสร้างทั้งหลาย ก็ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น ค่าขนส่งต่าง ๆ ในการนำเข้าวัสดุก่อสร้างก็จะแพงขึ้น และกระทบต่อดัชนีราคาก่อสร้างที่จะถูกผลักให้สูงขึ้น กลายเป็นว่าหากราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 100 เหรียญดอลล่าห์สหรัฐต่อบาเรล เราอาจจะต้องเผชิญหน้ากับภาวะราคาบ้านและคอนโดที่แพงเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมได้

6 ปัจจัยเสี่ยง ลงทุนอสังหาฯ ปี 2565 ต้องจับตาอะไรบ้าง?

  • อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น

เงินเฟ้อคือการที่เงินนั้นมีมูลค่าด้อยลง จากที่เงิน 30 บาทสามารถซื้อข้าวได้ 1 จาน หากเงินเฟ้อมากขึ้น การจะได้ข้าว 1 จานก็จะต้องใช้เงินมากกว่า 30 บาท ดังนั้น ภาระค่าใช้จ่ายของผู้คนจะยิ่งสูงขึ้น ยิ่งหากรายได้หาได้น้อย ข้าวของราคาแพง เศรษฐกิจก็จะหยุดชะงัก กำลังซื้อของคนที่ต้องการอสังหาฯ ก็จะลดน้อยตามลงไปด้วย จึงทำให้โอกาสในการลงทุนที่จะประสบความสำเร็จนั้นเป็นไปได้ยาก โดยคาดการณ์กันว่าหากเงินเฟ้อทั่วไปสูงเกินกว่า 4% ภาคธุรกิจอสังหาฯ ก็จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

  • การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงิน

ดอกเบี้ยนโนบายการเงิน คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางแห่งประเทศไทยจะกำหนดให้ใช้เป็นดอกเบี้ยอ้างอิง เป็นการกำหนดเพื่อดำเนินนโยบายทิศทางทางการเงินเพื่อรักษาสมดุลให้กับระบบเศรษฐกิจ ซึ่งหากมีการกำหนดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น จะทำให้ต้นทุนในการซื้อและลงทุนอสังหาฯ เพิ่มสูงขึ้น

  • สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราทุกคนตระหนักดีอยู่แล้วว่าโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนทั้งโลกมากเพียงใด ซึ่งแน่นอนว่าหากสถานการณ์โควิด 19 ยังไม่คลี่คลาย หรือหากมีการแพร่ระบาดหนักมากขึ้นจนทำให้ต้องเกิดการล็อคดาวน์อีกครั้ง ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้คน ที่ขายรายได้ ตกงาน เศรษฐกิจหยุดชะงัก ทำให้โอกาสในการลงทุนอสังหาฯ หรือการเติบโตขยายตัวของภาคธุรกิจอสังหาฯ นั้น เป็นไปได้ยากมากขึ้นกว่าเดิม

 

  • สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน

เนื่องจากรัสเซียและยูเครน เป็นแหล่งส่งออกเหล็กอันดับต้น ๆ ของประเทศ เช่นเดียวกับน้ำมัน ดังนั้น ยิ่งสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน และวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ สูงขึ้น ทำให้แนวโน้มอสังหามีราคาปรับตัวเพิ่มสูงมากขึ้น ซึ่งพอเมื่อรวมกับปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้กำลังซื้อหดหาย การจะหวังผลในการลงทุนอสังหาฯ ในสภาวะที่สงครามยังไม่มีทิศทางคลี่คลายที่แน่นอน จึงถือว่ามีความเสี่ยงอย่างมาก

 

  • ภาวะหนี้ NPL สถาบันการเงินสูงขึ้น

เมื่อเศรษฐกิจหยุดชะงัก ประชาชนไม่มีรายได้ กำลังซื้อหดหาย ธุรกิจทุกภาคส่วนเริ่มล้มหายปิดกิจการ ภาคธุรกิจที่กู้เงินธนาคารมาไม่สามารถส่งเงินชำระหนี้ได้ จึงทำให้เกิดเป็นหนี้เสียเพิ่มมากขึ้น ธนาคารจึงจำเป็นต้องเข้มงวดและระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขอกู้เพื่อนำเงินมาลงทุนทำอสังหาฯ หรือการหวังจะขายอสังหาฯ ออกง่าย ๆ จึงกลายเป็นเรื่องยากมากกว่าเดิม

 

" จากภาพรวมสถานการณ์ทั้งในไทยและต่างประเทศทั่วโลกทั้งหมด จะเห็นได้ว่าภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้นถูกแวดล้อมด้วยปัจจัยลบรอบด้าน ทำให้คาดการณ์แนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจและธุรกิจภาคอสังหาฯ นั้น น่าจะยังคงเติบโตช้าลง โดยหากจะเข้าซื้อเพื่อลงทุนอสังหาฯ ในช่วงเวลานี้ และต่อไปจากนี้ ผู้ประกอบการหรือผู้ลงทุนจำเป็นจะต้องปรับผลิตภัณฑ์ ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคจริง ๆ ต้องโฟกัสที่กลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้ออย่างแม่นยำ เพราะหากเปิดตัวโครงการใหม่ออกมาไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด จะมีโอกาสเสี่ยงสูงมากกว่าประสบความสำเร็จ" 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : REIC