CBRE เจาะเทรนด์อสังหาฯ ปี 2565 เมื่อ 'โอมิครอน'เขย่าตลาด

28 ม.ค. 2565 | 09:24 น.

เจาะเทรนด์อสังหาฯ ปี 2565 ตลาดคอนโดมิเนียม - สำนักงาน - ค้าปลีก - โรงแรม และพื้นที่อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ จะไปทางไหน? เมื่อ "โอมิครอน" เขย่าตั้งแต่ต้นปี CBRE แนะจับตาหลายประเด็นแง่การลงทุน

28 ม.ค. 2565 - เป็นคำถามว่าทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2565 จะไปทางไหน ? จากการที่โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย    

 

ล่าสุด ซีบีอาร์อี ประเทศไทย บริษัทที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก ได้เผยแนวโน้มสำคัญและปัจจัยเสี่ยงในตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยที่ธุรกิจต่าง ๆ ควรจับตามองในปี 2565  ทั้งในตลาดที่พักอาศัย ตลาดพื้นที่สำนักงาน ตลาดพื้นที่ค้าปลีก ตลาดพื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ รวมถึงตลาดโรงแรม

นางสาวรุ่งรัตน์ วีระภาคย์การุณ กรรมการผู้จัดการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า "ปี 2565 เป็นอีกหนึ่งปีที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ต้องปรับตัวและเคลื่อนไหวในเชิงรุกมากขึ้น และเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่ไม่อาจคาดการณ์ได้   ลูกค้ามีการคัดเลือกอย่างละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้นรวมถึงมีความต้องการที่ซับซ้อนมากขึ้นด้วย   ในขณะที่นักลงทุนและผู้พัฒนาโครงการจะต้องเผชิญความท้าทายในการนำเสนอสินค้าที่เหมาะสมเข้ามาสู่ตลาดที่มีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง  ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องรับรู้ถึงแนวโน้มใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อปรับกลยุทธ์และการดำเนินการให้เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง"

CBRE เจาะเทรนด์อสังหาฯ ปี 2565 เมื่อ 'โอมิครอน'เขย่าตลาด
 

3 ปัจจัยความไม่แน่นอนของธุรกิจอสังหาฯไทย 

นายรัฐวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ หัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2565 อยู่ที่ 3.4% เพิ่มขึ้นจาก 0.9% จากปี 2564 โดยจะขึ้นอยู่กับจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้าและผลการดำเนินงานของภาคการส่งออกเป็นหลัก  นโยบายและมาตรการของรัฐบาลต่อสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงสองไตรมาสแรกของปี 2565 จะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพราะเข้าสู่ปีที่ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนเริ่มแพร่กระจายแล้ว  และเนื่องจากปัจจุบันยังเป็นช่วงเวลาที่มีความไม่แน่นอน จึงมีความเสี่ยงที่สำคัญหลายประการที่น่าจับตามองในปีนี้

 
ความเสี่ยงของการเกิดโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่และการตอบสนองของวัคซีนต่อเชื้อไวรัสจะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจและความเชื่อมั่นของตลาด  การรับมือในระดับรัฐบาลและปฏิกิริยาของผู้คนต่อสถานการณ์จะเป็นเรื่องที่สำคัญ  การตัดสินใจของรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายด้านการเงิน มาตรการกระตุ้น ข้อบังคับ รวมถึงการตัดสินใจที่สำคัญอื่น ๆ จะเป็นตัวกำหนดความเคลื่อนไหวของตลาด    จากการที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ รวมถึงการหยุดชะงักของธุรกิจอื่น ๆ ในช่วงสองปีที่มีโควิด-19

 

ประกอบกับความไม่แน่นอนที่รออยู่ข้างหน้า ทำให้รายได้สุทธิของประชากรในประเทศเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างที่ไม่เคยมาก่อน   รวมทั้งการฟื้นตัวของตลาดแต่ละภาคธุรกิจจะเกิดขึ้นไม่เท่ากันและจะปรับตัวในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป

  CBRE เจาะเทรนด์อสังหาฯ ปี 2565 เมื่อ 'โอมิครอน'เขย่าตลาด
ตลาดที่พักอาศัย - คอนโดมิเนียม

ปีที่แล้วเป็นปีที่ซบเซาสำหรับตลาดคอนโดมิเนียมใจกลางกรุงเทพมหานคร  ไม่มีการเปิดตัวโครงการใหม่เป็นเวลาต่อเนื่องเกือบ 3 ไตรมาส  ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ขณะที่ความต้องการที่พักอาศัยแนวราบยังคงแข็งแกร่ง โดยเป็นผลมาจากความนิยมของผู้ซื้อเพื่ออยู่เองที่เปลี่ยนไปสู่ที่พักอาศัยที่มีความหนาแน่นต่ำ มีพื้นที่ใหญ่ขึ้น และยืดหยุ่นมากขึ้น   ในปีนี้ ผู้พัฒนาโครงการจะพิจารณาเรื่องการเปิดโครงการใหม่อย่างรอบคอบ ซึ่งต้องมุ่งเน้นไปที่การตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของผู้ซื้อในประเทศ เนื่องจากผู้ซื้อเพื่อเก็งกำไรนั้นหายไปจากตลาด   

 

ซีบีอาร์อีคาดว่าอัตราการขายในตลาดคอนโดมิเนียมจะยังคงชะลอตัว เนื่องจากผู้ซื้อที่เป็นผู้พักอาศัยเองมักจะใช้เวลาในการตัดสินใจและพิจารณาอย่างถี่ถ้วนมากกว่า    สำหรับตลาดที่มีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง เช่น โครงการใกล้มหาวิทยาลัยหรือโครงการที่มีเครือโรงแรมบริหาร (Branded Residence) จะยังคงมีผลการดำเนินการที่ดีต่อไป     ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและนโยบายอื่น ๆ ที่มาช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ แต่ความสามารถในการซื้อยังคงเป็นปัจจัยสำคัญและผู้ซื้อยังคงมองหาข้อเสนอที่ดีที่สุด เนื่องจากผู้ซื้อมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้นถึงสถานการณ์ที่ผู้พัฒนาโครงการเผชิญอยู่

  CBRE เจาะเทรนด์อสังหาฯ ปี 2565 เมื่อ 'โอมิครอน'เขย่าตลาด
นางสาวอาทิตยา เกษมลาวรรณ หัวหน้าแผนกซื้อขายโครงการที่พักอาศัย ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า “ปีนี้ความต้องการจากผู้ซื้อที่ซื้อเพื่อพักอาศัยเองจะมีความซับซ้อนมากขึ้น   ผู้ประกอบการจำเป็นต้องใช้กุลยทธ์เชิงรุกมากขึ้นเพื่อขายยูนิตที่ยังคงเหลือ ขณะเดียวกันยังต้องสร้างจุดขายที่แตกต่างให้กับตัวโครงการอีกด้วย โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้ซื้อที่ซื้อเพื่อพักอาศัยเอง ที่เปลี่ยนแปลงไป  เทรนด์ที่พักอาศัยจะเน้นไปที่พื้นที่ขนาดใหญ่และฟังก์ชั่นที่เกี่ยวข้องกับความต้องการที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดโควิด-19 อาทิ ห้องอเนกประสงค์สำหรับครอบครัว พื้นที่สีเขียวหรือเปิดโล่ง การมีสุขภาพที่ดี และเทคโนโลยี”


“สำหรับตลาดรีเซลล์หรือตลาดที่พักอาศัยมือสอง  สถานการณ์โควิด-19 กลับมีผลดีบางประการในแง่ของการทำให้มีการปล่อยยูนิตที่หายากออกมาเสนอขาย ซึ่งยูนิตเหล่านี้จะหาซื้อไม่ได้ในช่วงเวลาที่สภาพตลาดเป็นปกติ   ขณะเดียวกันความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งมีสาเหตุจากหลายปัจจัย เช่น การมอบความสะดวกสบายให้แก่ลูกหลาน และการเติมเต็มในการใช้ชีวิต ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ซื้อชาวไทยที่ไม่มีภาระทางการเงินตัดสินใจขยายพอร์ตการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ของตนให้กว้างขึ้น” นางสาวปพิณริยา พึ่งเขื่อนขันธ์ หัวหน้าแผนกซื้อขายที่พักอาศัยรายย่อย กล่าวเสริม


สรุปเทรนด์ที่น่าจับตามองตลาดที่อยู่อาศัย

  • ผู้ประกอบการหันมาตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อในประเทศที่ซื้อเพื่อพักอาศัยเอง
  • ตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) เช่น โครงการระดับบนที่มีเครือโรงแรมมาบริหาร (Branded Residence) จะไปได้ดี
  • ผู้ซื้อยังคงมองหาข้อเสนอที่ดีที่สุดเนื่องจากยังคงมีแรงกดดันในเรื่องกำลังซื้อ
     

ตลาดพื้นที่สำนักงาน

สำหรับตลาดพื้นที่สำนักงานควรที่จะมีแนวทางที่ชัดเจนมากขึ้นในการนำรูปแบบการทำงานแบบผสมผสาน(ไฮบริด)มาใช้ในที่ทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่าการทำงานจะมีประสิทธิภาพ มีการควบคุมค่าใช้จ่าย และยังคงรักษาการมีส่วนร่วมและความผูกพันต่อองค์กรของพนักงานไว้     บทบาทหน้าที่ของสำนักงานใหญ่จะได้รับการทบทวนอย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินว่าจำเป็นต้องใช้พื้นที่จริงเท่าใดและจะใช้พื้นที่แต่ละตารางเมตรให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร  

CBRE เจาะเทรนด์อสังหาฯ ปี 2565 เมื่อ 'โอมิครอน'เขย่าตลาด

นอกจากนี้ มาตรฐานในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม (ESG) จะมีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากบริษัทข้ามชาติต่าง ๆ ได้มีการกำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ในปี 2573 เป็นต้นไป   การเปลี่ยนแปลงด้านการใช้ประโยชน์พื้นที่สำนักงานจะทำให้อาคารสำนักงานเก่าหลายแห่งไม่เหมาะสำหรับการเป็นสถานที่ทำงานยุคใหม่ รวมทั้งรักษาและดึงดูดพนักงานที่มีความสามารถได้    ด้วยจำนวนโครงการสำนักงานใหม่ ๆ ที่เพิ่มเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง อาคารสำนักงานเก่าหลายแห่งในกรุงเทพฯ ที่ยังไม่ได้รับการปรับปรุงหรือปรับโฉมใหม่จะกลายเป็นอาคารที่ล้าสมัย


“ผู้เช่าพื้นที่จำเป็นต้องสำรวจตัวเลือกต่าง ๆ ในการย้ายหรือขยายพื้นที่สำนักงานไปยังอาคารที่มีคุณภาพสูงที่จะแล้วเสร็จในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากแนวโน้มความนิยมในสำนักงานรุ่นใหมาที่มีพื้นที่ที่มีคุณภาพดีขึ้น    นอกจากนี้ กลยุทธ์การจัดพื้นที่ทำงาน (Workplace Strategy) จะเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับผู้เช่าเพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานในอนาคต    เจ้าของอาคารสำนักงานที่เข้าสู่ตลาดที่มีการแข่งขันสูง จำเป็นต้องเตรียมพร้อมในเชิงรุกด้วยการยกระดับและนำเอาองค์ประกอบใหม่ ๆ เข้าไว้ในโครงการเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดด้าน ESG    สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องทำคือการรักษาอัตราการใช้พื้นที่ในอาคาร มากกว่ามุ่งเน้นไปที่ราคาต่อตารางเมตรที่สามารถปล่อยเช่าได้” นางสาวรุ่งรัตน์กล่าวเสริม

 

สรุปเทรนด์ที่น่าจับตามองอาคารสำนักงาน

  • แนวทางที่ชัดเจนมากขึ้นในการทำงานรูปแบบไฮบริด (ผสมผสานการทำงานในสำนักงานและจากสถานที่อื่น)
  • ผู้เช่าและเจ้าของอาคารจะเริ่มนำเอานโยบายด้านความยั่งยืนมาใช้เนื่องจาก ESG มีความสำคัญ
  • อาคารสำนักงานใหม่ ๆ ที่เพิ่มเข้ามาทำให้การแข่งขันสูงขึ้น ขณะที่ผู้เช่ามองหาพื้นที่สำนักงานที่มีคุณภาพ
     

ตลาดพื้นที่ค้าปลีก

ตลาดค้าปลีกเป็นหนึ่งในตลาดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากโควิด-19 และได้รับผลกระทบโดยตรงจากข้อจำกัดต่าง ๆ ที่รัฐบาลกำหนด    อุตสาหกรรมค้าปลีกของไทยจึงต้องพัฒนาและปรับตัวไปพร้อมกับข้อจำกัดต่าง ๆ เหล่านั้น   หลังจากได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐในปี 2564  เป็นเรื่องที่น่าติดตามว่ารัฐบาลจะมีนโยบายใดในปี 2565 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตลาดให้เพิ่มสูงขึ้น   โครงสร้างของสัญญาและข้อกำหนดในการเช่าพื้นที่ที่มีความยืดหยุ่นจะได้รับความสำคัญเพิ่มขึ้นมากเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนในตลาด 

  CBRE เจาะเทรนด์อสังหาฯ ปี 2565 เมื่อ 'โอมิครอน'เขย่าตลาด
นอกจากนี้ ผู้เช่าต้องตัดสินใจว่าจะปรับตัวอย่างไรให้ดีที่สุด เนื่องจากการซื้อขายหลายช่องทาง (Omnichannel) และการเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับเทรนด์นี้ส่งผลต่อกลยุทธ์ของหน้าร้าน    ธุรกิจที่มีการยืดหยุ่นปรับตัวอย่างธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มยังคงขยายสาขาอย่างระมัดระวัง และมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เช่น การลดขนาดพื้นที่ การเปลี่ยนรูปแบบร้าน และการขายผ่านระบบออนไลน์   ซีบีอาร์อีเชื่อว่าจะมีการลงทุนในเทคโนโลยีที่มุ่งเน้นการช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI)  การจำลองภาพเสมือนจริง (Virtual Reality) และระบบควบคุมอัตโนมัติ


นางสาวจริยา ถ้ำตรงกิจกุล หัวหน้าแผนกพื้นที่ค้าปลีก ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า “ผู้ค้าปลีกจะมองหาหนทางในการสร้างความร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทอื่นเพื่อนำประสบการณ์ใหม่  ๆ มาสู่แบรนด์ของตน   ในส่วนของเจ้าของพื้นที่ค้าปลีกจะจำเป็นต้องทำงานร่วมกับผู้เช่าอย่างใกล้ชิดเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในเงื่อนไขการเช่า ในขณะเดียวกันต้องเปิดรับแนวทางใหม่ ๆ เพื่อให้ผู้คนกลับเข้ามาที่โครงการ”

 

สรุปเทรนด์ที่น่าจับตามองพื้นที่ค้าปลีก

โครงสร้างสัญญาและข้อกำหนดในการเช่าที่มีความยืดหยุ่น

เจ้าของพื้นที่ค้าปลีกและผู้ค้าปลีกปรับตัวไปพร้อม ๆ กันภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ

การจัดโปรโมชั่นหน้าร้าน กิจกรรมที่จัดขึ้นในพื้นที่ค้าปลีก และการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้า
 

ตลาดพื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์

ในตลาดพื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ ซัพพลายเชนจะยังคงมีการเปลี่ยนแปลงต่อไปในปี 2565 เนื่องจากบรรดาผู้ผลิตยังคงสร้างความยืดหยุ่นให้เกิดขึ้นในเครือข่ายของตนเองเพื่อปกป้องธุรกิจจากสภาวะหยุดชะงักในอนาคต    การย้ายฐานการผลิตให้อยู่ใกล้ซัพพลายเออร์อาจช่วยสร้างการเติบโตให้กับทั้งพื้นที่อุตสาหกรรมและพื้นที่โลจิสติกส์ในประเทศไทย     

 

อสังหาริมทรัพย์ด้านโลจิสติกส์จะให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้นในแง่ของการปฏิบัติงาน เช่น โครงการเกี่ยวกับความปลอดภัยที่หน้าไซต์งาน และความเป็นอยู่ที่ดี โดยจะมุ่งเน้นไปที่สวัสดิการของพนักงาน     ความถี่และความซับซ้อนของการเปลี่ยนแปลงข้อจำกัดด้านการเดินทางทั้งในไทยและต่างประเทศส่งผลกระทบด้านลบต่อการเดินทางมาดูที่ดินหรือโครงการ การลงนามในสัญญา และเกิดการชะลอการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์และธุรกรรมการเช่าต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในประเทศ

 

นายอาดัม เบลล์ หัวหน้าแผนกพื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า “ผู้เช่าพื้นที่ควรทำสัญญากับเจ้าของพื้นที่ล่วงหน้าเพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขึ้นตามความต้องการเฉพาะของธุรกิจตนเอง (Built-to-Suit) ขณะเดียวกันเจ้าของพื้นที่จะจำเป็นต้องจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อรองรับความต้องการของผู้เช่าที่ต้องการพื้นที่ที่ทันสมัยและเป็นไปตามมาตรฐานด้าน ESG     นอกจากนี้ ดาต้าเซ็นเตอร์กำลังเป็นตลาดที่มาแรงในไทยเนื่องจากการเติบโตของอีคอมเมิร์ซและแพลตฟอร์มออนไลน์   เจ้าของพื้นที่จึงควรศึกษาข้อกำหนดต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสการลงทุนที่อาจเกิดขึ้น”

 

สรุปเทรนด์ที่น่าจับตามองพื้นที่อุตสาหกรรม

  • ผู้ผลิตจะเพิ่มความยืดหยุ่นของซัพพลายเชนที่อยู่ในเครือข่ายเพื่อปกป้องธุรกิจของตน
  • บริษัทต่าง ๆ จะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยที่หน้าไซต์งาน สวัสดิการพนักงาน และการใช้สาธารณูปโภค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ESG
  • นโยบายนการเดินทางระหว่างประเทศยังเป็นอุปสรรคอาจทำให้ต้องชะลอการตัดสินใจซื้อและเช่าที่ดินและสินทรัพย์ใหม่ ๆ
     

ตลาดโรงแรม

ปีนี้จะเป็นอีกหนึ่งปีที่ไทยต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศยังคงผันผวนอยู่   โรงแรมจะต้องนำเสนอโปรโมชันและแพ็กเกจใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดความต้องการในประเทศ  สิ่งที่ท้าทายยิ่งขึ้นในปัจจุบันคือ "Staycation" หรือการไปพักผ่อนในสถานที่ใกล้ ๆ  ไม่ใช่เทรนด์ใหม่อีกต่อไป     ภายในสิ้นปี 2565 จะมีห้องพักใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 7,400 ห้องที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในกรุงเทพฯ ซึ่งจะทำให้ปริมาณห้องพักของโรงแรมในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น 6.7%    

 

สถานการณ์ในปัจจุบันและปัจจัยที่ขับเคลื่อนความต้องการจะทำให้ผู้พัฒนาโรงแรมเกิดคำถามสำคัญว่าตอนนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมในการเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ เปิดเพียงบางส่วน หรือควรระงับโครงการเหล่านี้ไว้ก่อน   เจ้าของและผู้บริหารโรงแรมจะให้ความสำคัญกับอัตราการเข้าพักและการควบคุมต้นทุนเพื่อให้ถึงจุดคุ้มทุนเป็นอย่างน้อย และหาช่องทางอื่นในการสร้างรายได้จากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม การสร้างความร่วมมือและการจัดกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ เมื่อมีโอกาสเหมาะสม   ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อวันจากห้องพักที่ขายได้ (ADR) มีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับเดียวกับช่วงปลายปี 2564 โดย ADR จะเพิ่มขึ้นเป็นครั้งคราวในช่วงวันหยุดยาว    ความช่วยเหลือจากรัฐบาลและความเข้าใจจากผู้ให้สินเชื่อจะยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น

 

นายอรรถกวี ชูแสง หัวหน้าแผนกธุรกิจโรงแรม ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า “การควบคุมต้นทุนผ่านกลยุทธ์การบริหารสินทรัพย์ (Asset Management) ที่เหมาะสมจะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการอยู่รอดในปีนี้ เนื่องจากตลาดโรงแรมยังคงซบเซา    การเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้ก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน เพราะโรงแรมอาจไม่สามารถเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในช่วงที่เหลือของปี 2022”

CBRE เจาะเทรนด์อสังหาฯ ปี 2565 เมื่อ 'โอมิครอน'เขย่าตลาด

สรุปเทรนด์ที่น่าจับตามองตลาดโรงแรม

  • ปี 2565 จะเป็นอีกหนึ่งปีที่โรงแรมจะนำเสนอโปรโมชั่นและแพ็กเกจใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าในประเทศ 
  • โรงแรมใหม่จะพิจารณาเรื่องความเหมาะสมในการเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ เปิดเพียงบางส่วน หรือเลื่อนการเปิดออกไป
  • เจ้าของและผู้บริหารโรงแรมจะให้ความสำคัญกับอัตราการเข้าพักและการควบคุมต้นทุน
     

ตลาดการลงทุน

ความคาดหวังด้านราคาระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายที่ไม่ตรงกันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ธุรกรรมการลงทุนในช่วงสองปีที่ผ่านมาเกิดขึ้นไม่มากนัก   ซีบีอาร์อีคาดการณ์ว่าช่องว่างของความคาดหวังด้านราคาจะแคบลงและมีโอกาสที่จะเกิดธุรกรรมด้านการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ด้วยความคาดหวังที่ว่าปี 2565 จะเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นตัว   และเนื่องจากความคาดหวังด้านราคาเปลี่ยนแปลงไป ซีบีอาร์อีเชื่อว่านักลงทุนต่างชาติจะให้ความสนใจไทยเพิ่มขึ้น   

 

นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะมองหาผู้ร่วมทุนเพื่อช่วยสนับสนุนในด้านการเงินสำหรับโครงการใหม่ ๆ  ขณะที่ธนาคารในไทยยังคงมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อในช่วงนี้ และแม้ตลาดคอนโดมิเนียมเป็นตลาดที่เป็นที่นิยมสำหรับการร่วมทุน แต่เป็นที่คาดการณ์ว่าในปีนี้ ตลาดอื่น ๆ อาจได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นจากแต่ก่อน  โดยเฉพาะตลาดพื้นที่สำนักงานและตลาดพื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์


นายบาร์นาบี้ สเวนสัน หัวหน้าแผนกการลงทุนและที่ดิน ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า“นักลงทุนควรพิจารณาอสังหาริมทรัพย์ที่มีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าทั้งในตลาดโรงแรมและตลาดพื้นที่สำนักงาน ที่การปรับปรุงอาคารในส่วนที่จำเป็นและการพัฒนาสินทรัพย์อาจช่วยสร้างโอกาสในการซื้อจากเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้นำสินทรัพย์ออกเสนอขาย  โครงการใหม่ทั้งที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหรืออยู่ในขั้นตอนการวางแผนอาจแสวงหาแหล่งเงินทุนใหม่ เนื่องจากเป็นที่คาดว่าผู้ให้สินเชื่อแบบดั้งเดิมภายในประเทศจะยังคงมีความระมัดระวังอยู่”

 

สรุปเทรนด์ที่น่าจับตามองเรื่องการลงทุน

  • ช่องว่างของความคาดหวังด้านราคาที่ลดลงจะทำให้มีโอกาสการลงทุนมากขึ้นหลังจากที่มีธุรกรรมการลงทุนไม่นักในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
  • นักลงทุนต่างชาติยังคงมองหาซื้อสินทรัพย์ที่สร้างรายได้ในประเทศไทย
  • ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อจะทำให้เกิดการร่วมทุนมากขึ้น

 

ที่มา : CBRE