“มหาดไทย” เร่งออกโฉนดที่ดินปี 65 ทั้ง 70 จังหวัดทั่วประเทศ

27 ต.ค. 2564 | 07:32 น.

“มหาดไทย” จี้กรมที่ดินลุยออกโฉนดที่ดินในปี 65 ทั้ง 70 จังหวัด ดันงบ 372 ล้าน เดินสำรวจทั่วประเทศ หวังช่วยประชาชนมีพื้นที่ทำประโยชน์ แก้ปัญหาคนแอบอ้างครอบครองเอกสารสิทธิ

นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวปฐกถาพิเศษทิศทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจแปลง น.ส.3ก เป็นโฉนด ในงานสัมมนา Virtual Seminar โฉนดเพื่อชีวิต จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ว่า รัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทยมีความมุ่งมั่น มีความตั้งใจในการลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินจึงได้มอบนโยบายให้กรมที่ดินในการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินให้กับประชาชน โดยที่ดินของรัฐ คือพื้นที่ที่ประกาศเป็นพื้นที่เขตป่า พื้นที่ที่ประกาศเป็นพื้นที่สปก. หรือพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ซึ่งที่ดินของรัฐเหล่านี้ไม่สามารถนำมาออกโฉนดที่ดินให้กับประชาชนได้

 

 

“ที่ดินที่อยู่นอกพื้นที่ที่ดินของรัฐและพื้นที่ที่ประชาชนสามารถทำประโยชน์ได้มายาวนานติดต่อกัน ที่ดินเหล่านี้แม้ประชาชนยังไม่มีเอกสารสิทธิใดหรือไม่เอกสารสำคัญใดๆก็สามารถนำมาออกโฉนดที่ดินได้ เมื่อกรมที่ดินได้ประกาศเดินสำรวจที่ดินในเขตจังหวัดนั้นๆโดยกระทรวงมหาดไทยจะออกประกาศให้กรมที่ดินมีหน้าที่ไปเดินสำรวจที่ดิน”

 

 

นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่ดินน.ส.3 หรือที่ดินน.ส.3ก ยังสามารถนำมาออกโฉนดที่ดินได้ โดยปัจจุบันที่ดินน.ส.3หรือที่ดินน.ส.3ก มีอยู่ประมาณ 4,500,000 แปลง ที่ยังไม่ได้ออกเป็นโฉนดที่ดิน กรมที่ดินตั้งใจที่จะเร่งรัดในการเปลี่ยนที่ดินน.ส.3หรือที่ดินน.ส.3ก ให้เป็นโฉนดที่ดิน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้พื้นที่ในการทำประโยชน์ เพราะสถานะของเอกสาร ความสำคัญระหว่างที่ดินน.ส.3และที่ดินน.ส.3ก และโฉนดที่ดิน ฐานะความมั่นคงทางกฎหมายแตกต่างกัน กรณีที่เป็นน.ส.3ก การครองครองใช้เวลาทางกฎหมายแพ่งเพื่อครอบครองเพียง 1 ปี กรณีทีเป็นโฉนดที่ดินจะมีการครองบครองหรือแอบอ้างสิทธิได้ต้องใช้เวลา 10 ปี เพราะฉะนั้นความมั่นคงนี้เป็นที่มาให้สถาบันการเงินบางแห่งเริ่มส่งสัญญาณไม่รับที่ดินน.ส.3หรือน.ส.3ก เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ หากเป็นเช่นนี้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินนั้นอย่างเต็มที่และนำเอาที่ดินนั้นมาใช้ในการทำธุรกิจต่างๆได้

ขณะเดียวกันกรมที่ดินจึงได้เร่งรัดในการเปลี่ยที่ดินน.ส.3และน.ส.3ก ให้เป็นโฉนดที่ดิน นี่คือนโยบายที่ได้มอบหมายให้กรมที่ดินไปดำเนินการควบคู่กับการเดินสำรวจในพื้นที่ที่ถูกประกาศเพื่อเดินสำรวจ โดยเร่งรัดในการออกโฉนดที่ดินให้กับประชาชน โดยที่ดินที่ประชาชนถือครองเอกสารที่เรียกว่า ส.ค.1 ซึ่งภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมา กรมที่ดินได้ประกาศให้ผู้ที่ถือครองเอกสารส.ค.1 ให้มาแจ้งความประสงค์ในการขอออกโฉนดที่ดิน ขณะนั้นมีผู้มาแจ้งความประสงค์กว่า 400,000 ฉบับ ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 200,00 ฉบับ เปลี่ยนจากที่ดินส.ค.1เป็นโฉนดที่ดิน ซึ่งยังอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 200,000 ฉบับ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต้องเร่งรัดดำเนินการเพื่อออกโฉนดที่ดินให้กับประชาชน นี่คือความตั้งใจของกระทรวงมหาดไทย และมอบหมายให้กรมที่ดินเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาได้มาซึ่งโฉนดที่ดินให้กับประชาชน เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่ากรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทยมีความตั้งใจในการให้ประชาชนเข้าถึงการใช้สิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเต็มที่

 

 

นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า การมอบโฉนดที่ดินให้กับประชาชนตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทยและกรมที่ดินอย่างต่อเนื่องตลอดมา โดยปี 2564 กรมที่ดินได้ประกาศเดินสำรวจที่ดินทั่วประเทศใน 50 จังหวัด และในปี 2565 กรมที่ดินได้ประกาศสำรวจจังหวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินเพิ่มขึ้นเป็น 70 จังหวัด โดยใช้งบประมาณ 372 ล้านบาท ในการเดินสำรวจ ซึ่งเริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2564-30 กันยายน 2565

 

 

แม้ว่าจะมีปัญหาในเรื่องภาระงบประมาณในการนำมาใช้จ่ายออกโฉนดที่ดินให้กับประชาชน หากถามว่าทำไมต้องใช้งบประมาณพบว่าในกรณีที่กรมที่ดินประกาศเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินและพื้นที่ใดที่ถูกประกาศแล้ว โดยผู้ที่ขอแจ้งความประสงค์ออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ที่ประกาศ ประชาชนจะเสียค่าคำร้อง เพียง 110 บาทต่อคำร้อง ซึ่งแตกต่างกับในกรณีที่ผู้ต้องการแจ้งความประสงค์เดินทางไปกรมที่ดินและมีความประสงค์จะออกโฉนดที่ดิน ซึ่งในกรณีนี้ผู้ที่ต้องการแจ้งความประสงค์จะเสียค่าใช้ราว 3,000-4,000 บาท ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลเข้ามาดูแลภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ทำให้จำเป็นต้องใช้งบประมาณ

“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้มีการจำกัดการใช้งบประมาณ แม้ว่าปีนี้งบประมาณการเดินสำรวจเพื่อออกโฉนดที่ดินลดลง อีกทั้งที่ผ่านมาไม่มีการเดินสำรวจจังหวัด ทำให้กรมที่ดินปรับกลยุทธ์ให้ที่ดินในจังหวัดได้มีส่วนร่วมในการเดินสำรวจว่าจังหวัดใดบ้างที่ต้องใช้ศูนย์ในการเดินสำรวจ จังหวัดใดบ้างที่ต้องใช้เจ้าหน้าที่ของจังหวัดในการเดินสำรวจออกโฉนดให้ประชาชน ซึ่งกรมที่ดินจะลงรายละเอียดในประกาศต่อไป แสดงให้เห็นว่าแม้มีปัญหาเรื่องงบประมาณ เราจะไม่เอาปัญหาเรื่องการได้รับจัดสรรงบประมาณน้อยมาหยุดโครงการที่ประชาชนได้ประโยชน์ เราพยายามปรับรูปแบบโครงการนี้ให้ประชาชนได้ประโยชน์ นี่คือสิ่งที่กรมที่ดินและกระทรวงมหาดไทยเร่งรัดในการออกโฉนดที่ดินให้กับประชาชนทั่วประเทศ”

 

 

ทั้งนี้ในปี 2565 นี้ กระทรวงมหาดไทยได้ลงนามประกาศและมอบหมายให้กรมที่ดินเดินสำรวจเพื่อออกโฉนดที่ดินทั่วประเทศทั้งหมด 70 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศไทย โดยเพิ่มจากปี 2564 ที่มีการประกาศเดินสำรวจ 50 จังหวัด และเมื่อปี 2563 มีการประกาศเดินสำรวจ 25 จังหวัด

 

 

 “เราตระหนักดีว่าที่ดินคือชีวิต คือที่อยู่อาศัย เป็นที่ทำมาหากิน โดยเฉพาะประชาชนในประเทศไทย เราเป็นประเทศเกษตรกรรม เพราะฉะนั้นที่ดินจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การผลิต ซึ่งการจัดการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเต็มที่ ทำให้ประชาชนมีอาชีพมีรายได้เลี้ยงครอบครัว อีกทั้งเป็นมรดกตกทอดสู่ลูกสู่หลาน ภายใต้ความคิดดังกล่าวจึงเร่งรัดให้ประชาชนได้เข้าถึงการออกเอกสารสิทธิและมีโฉนดที่ดินต่อไป”