เวนคืนผ่า 61ตำบล 4จ. 1.7หมื่นไร่ รถไฟ ทางคู่ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ"

28 พ.ค. 2564 | 11:52 น.

เริ่มแล้ว (28 พ.ค. 64) เวนคืน 61ตำบล 4จ. สร้างทางคู่ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ”1.74หมื่นไร่ 


หลังจาก ราชกิจจานุเษกษา ประกาศ ใช้พระราชกฤษีกาเวนคืนที่ดิน เพื่อก่อสร้าง ทางรถไฟทางคู่ใหม่สายเหนือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง323 กิโลเมตร มูลค่า 7.2หมื่นล้านบาท โดยมี ค่าชดเชยประมาณ  10,255ล้านบาท  ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เคยประเมินไว้ ทั้งนี้การเวนคืนจะมีผลทันทีตั้งแต่วันที่28 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไปมีระยะเวลา4ปี แนวเส้นทางตัดผ่าน 61ตำบล 16อำเภอ 4จังหวัด  ประกอบด้วย แพร่,ลำปาง,พะเยาและเชียงราย  1.74หมื่นไร่ กว่า7,000แปลง ขณะเดียวกัน การประมูลก่อสร้างเส้นทางได้ตัวผู้รับเหมาทั้ง3สัญญาซึ่งจะประกาศผลชนะประมูลอย่างเป็นทางการวันที่9กรกฎาคม ที่จะถึง เซ็นสัญญา วันที่2สิงหาคม นี้  ใช้เวลาก่อสร้าง6ปี เปิดใช้เส้นทาง ปี2571

การขยับโครงการรถไฟทางคู่เส้นนี้สร้างความยินดีปรีดาให้กับ ประชาชน นักธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ในพื้นที่เป็นอย่างมาก เพราะกว่า60ปีที่ดิน ที่อยู่ใน แนวเวนคืนถูกล็อก ไม่สามารถทำอะไรได้หากย้อนวันวาน ช่วงเริ่มต้น  เดิมโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายชุมทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ  มีระยะทาง  326 กิโลเมตร  รัฐบาลในสมัยนั้นได้ศึกษาเส้นทางมาตั้งแต่ปี 2503  ลงพื้นที่สำรวจปี 2512 โดยกำหนดให้ใช้เส้นทางเด่นชัย - แพร่ - สอง - เชียงม่วน - ดอกคำใต้ - พะเยา - ป่าแดด - เชียงราย ระยะทางรวม 273 กิโลเมตรต่อมาปี 2537-2538

รฟท. ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาทำการทบทวนผลการศึกษาได้ข้อสรุปว่าเส้นทางชุมทางเด่นชัย - แพร่ - สอง - งาว (ลำปาง) - พะเยา -เชียงราย ย่นระยะทางเหลือประมาณ 246 กิโลเมตร ทำให้ในปี 2539-2541 ใช้งบประมาณราว 2.2 ล้านบาท ทาง รฟท.จึงได้ว่าจ้างเอกชนให้สำรวจออกแบบและศึกษาผลกระทบ จนมีพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินในปี 2544 กระทั่งปี 2547 รัฐบาลในขณะนั้นได้ให้ศึกษาความเหมาะสมอีกโดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้เชื่อมกับจีนตอนใต้ กระทั่งปี 2551 ยังให้ศึกษาเพื่อให้เชื่อมชายแดน จังหวัดเชียงราย และระบบรางของจีนได้  จนถึงปี 2553-2554 จึงเริ่มศึกษารถไฟแบบทางคู่ เพื่อให้มีขนาดกว้างขึ้นเป็น 1.453 เมตร และกรณีเส้นทางใน เชียงราย ให้แยกเส้นทางไปยังท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 2 ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน และสะพานข้ามแม่น้ำโขงไทย-ลาว ที่ อ.เชียงของ อีกด้วย 

ทั้งนี้ แนวเส้นทางล่าสุดที่ศึกษาจึงมีระยะทางรวมประมาณ 323.1 กิโลเมตร กำหนดให้มีทั้งหมด 26 สถานีผ่าน จ.แพร่ ลำปาง พะเยา และเชียงราย และมีการเจาะภูเขาเป็นอุโมงค์เพื่อเชื่อมเส้นทาง อ.เชียงของ
ปี 2561 คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ประกอบด้วย สถานี 26 สถานี ลานขนถ่ายสินค้า 4 แห่ง ลานกองเก็บตู้สินค้า 1 แห่ง ก่อสร้างอุโมงค์รถไฟ 4 อุโมงค์ ก่อสร้างถนนยกข้ามทางรถไฟ 40 แห่ง และถนนลอดใต้ทางรถไฟ 102 แห่ง โครงการเริ่มเริ่มต้นจาก จ.แพร่, จ.ลำปาง, จ.พะเยา, จ.เชียงราย จนถึงเชียงของ

นอกจากรถไฟทางคู่ใหม่สายเหนือ เส้นนี้จะสนับสนุนการขนส่งสินค้า เชื่อมโยง สปป.ลาว-เมียนมา และจีนตอนใต้แล้ว อนาคตยังเป็นแลนด์มาร์คใหม่ทางราง ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ เข้าใช้บริการสร้างรายได้ให้กับประเทศ หากก่อสร้างแล้วเสร็จ และเนื่องจากพะเยาและเชียงราย ภูมิประเทศเต็มไปด้วยภูเขาสูงชัน บางช่วงมี เหวลึก และเป็นเขตอุทยานมีสัตว์ป่าอยู่อาศัยชุกชุม รฟท. จึงศึกษารูปแบบให้รถไฟวิ่งทะลุภูเขาลอดใต้ผืนป่าอุทยาน

ด้วยการเจาะอุโมงค์ 4 แห่ง รวมระยะทาง 13.4 กิโลเมตร ซึ่งถือได้ว่า รถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นเส้นทางที่มีอุโมงค์ยาวที่สุดในประเทศ ประกอบด้วย อุโมงค์อำเภอสอง แห่งที่ 1 และแห่งที่ 2 จังหวัดแพร่ ระยะทางรวม 7.5 กิโลเมตร สำหรับที่เป็นไฮไลต์ได้แก่ อุโมงค์มหาวิทยาลัยพะเยา และอุโมงค์ดอยหลวง เชียงราย ที่ว่ากันว่าวิวตลอดเส้นทางสวยงาม เนื่องจากพื้นที่โดยรอบเป็นเขาสูงป่าที่มีความเขียวชอุ่ม อลังการไม่ต่างจากสิบสองปันนา จีนตอนใต้