ธุรกิจอสังหา ขาดสภาพคล่อง  ชำระหุ้นกู้ 7.8 หมื่นล. ไตรมาส 2

20 เม.ย. 2563 | 23:00 น.

ธุรกิจผวาขาดสภาพคล่องหมุนเงิน ชำระหุ้นกู้ครบกำหนดไตรมาส 2 วงเงิน 7.8 หมื่นล้าน บริษัทรายกลางเลี่ยงจัดเรตติ้ง ระดมทุนจูงใจดอกเบี้ย 5-6% สูงกว่าแบงก์ไม่ยินยอมปล่อยกู้ ขณะแบงก์ชาติเข้ม ออกกองทุนซื้อเฉพาะ rollover กู้ใหม่ชำระหนี้เดิม-มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

มีความกังวลกันว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายกลางในตลาดหลักทรัพย์ อาจไม่มีสภาพคล่องชำระหุ้นกู้ ช่วงไตรมาส 2 ได้ทัน เพราะนอกจากได้รับผลกระทบจากพิษโควิด-19 แล้ว ที่ผ่านมาได้ออกหุ้นกู้เกิน ยังพบว่าบางรายใช้วิธีออกหุ้นกู้โดยไม่มีการจัดอันดับเครดิตหรือเรตติ้ง ระดมทุนจูงใจดอกเบี้ย 5-6% หรือสูงกว่านั้น ซึ่งสูงกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ โครงการของสถาบันการเงิน

สะท้อนว่าบริษัทรายนั้น ไม่มีเครดิตพอที่สถาบันการเงินจะปล่อยกู้ ขณะช่องโหว่การออกหลักทรัพย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อาจส่งผลกระทบตามมา รวมถึงบริษัทรายกลางแม้ผ่านการจัดเรตติ้ง แต่หากอันดับอยู่ที่ต่ำอย่างบีบีลบถือว่าสถานการณ์น่าเป็นห่วง

หากจะขอระดมทุนเพื่อหมุนชำระหนี้รอบใหม่มองว่าน่าจะทำได้ยาก เพราะไม่มีใครเชื่อมั่น ส่วนค่ายใหญ่แม้จะกระทบบ้าง แต่โดยรวมไม่มีปัญหา นอกจากเรตติ้งอยู่ในอันดับที่สูง อีกทั้งยังมีสภาพคล่องจากการขายโครงการลูกค้าให้ความเชื่อมั่นมีแหล่งทุน, เงินสดคงเหลือ, วงเงินกู้แบงก์ อีกทั้งหลักทรัพย์ค้ำประกันที่พร้อมชำระ

ทั้งนี้ ตัวเลขธุรกิจครบกำหนดชำระตราสารหนี้ในไตรมาส 2 ปีนี้ รวมวงเงิน 1.85 แสนล้านบาท แยกเป็นอสังหาริมทรัพย์ 7.8 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามท่ามกลางสถานการณ์ที่น่าวิตก หลายธุรกิจ บาดเจ็บล้มตายจากโรคระบาด ธนาคารแห่งประเทศ ไทยได้ออกกองทุนวงเงิน 4 แสนล้านบาท ช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เหมือนช่วงผลกระทบน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554

ธุรกิจอสังหา ขาดสภาพคล่อง  ชำระหุ้นกู้ 7.8 หมื่นล. ไตรมาส 2

 

แต่จะเลือกสินทรัพย์ชั้นดี ช้อนซื้อ rollover กู้ใหม่เพื่อชำระหนี้เดิม พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่คือดอกเบี้ยที่น่าสนใจ และต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อย่างอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง

 

นายอธิป พีชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สะท้อนว่า การครบกำหนดชำระหุ้นกู้ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว กลุ่มธุรกิจที่น่าเป็นห่วง คือกลุ่มท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์รายกลางที่อาจได้รับผลกระทบจากสภาพคล่อง และการหาแหล่งทุนใหม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการระดุมทุนในช่วงนี้ไม่น่าจะมีใครเชื่อมั่น แม้จะให้ดอกเบี้ยสูงล่อใจ

ขณะกองทุนแบงก์ชาติ มองว่าเป็นเรื่องที่ดี ในการช่วยพยุงธุรกิจในยามวิกฤติ แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าทุกรายได้รับความช่วยเหลือ โดยแบงก์ชาติจะมีเกณฑ์ใหม่ออกมาที่เข้มข้น โดยเลือกเฉพาะซื้อ rollover กู้ใหม่เพื่อชำระหนี้เดิม และต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเท่านั้นเพื่อป้องกันความเสี่ยง

นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีความมั่นใจในการชำระหุ้นกู้ ถึงคิวครบกำหนดชำระว่าสามารถจ่ายคืนได้หมด เนื่องจากจะใช้กระแสเงินสดภายในบริษัท ที่เกิดขึ้นจากการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั้งปี รวมมูลค่าทั้งปี 2.4 หมื่นล้านบาทมารองรับ ขณะสถานการณ์โรคระบาดต้องยอมรับว่าทุกค่ายต้องปรับแผนรับมือ หากผ่านไปได้จะช่วยให้เกิดช่องทางใหม่ๆ ในการดึงลูกค้า

ด้าน บมจ.แสนสิริ โดยนาย วันจักร์ บุรณศิริ ประธานผู้บริหารสายงานการเงินและสนับสนุนธุรกิจ เปิดเผยว่า บริษัทมีหุ้นกู้ที่จะครบไถ่ถอน 1 ล็อต มูลค่า 5 พันล้านบาท โดยเตรียมจะทยอยคืนในช่วง 3 เดือน หลังจากนี้ ได้แก่ เดือนเมษายน, พฤษภาคม และมิถุนายน อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่มีความกังวลแต่อย่างใด ในแง่เงินทุนที่จะนำมาพัฒนาโครงการใหม่ตามแผน ทั้งหมด 18 โครงการ มูลค่ากว่า 2.4 หมื่นล้านบาท ในปี 2563 นี้ เนื่องจากก่อนหน้าได้ประสบความสำเร็จจากการนำเสนอขายหุ้นกู้มูลค่า 4 พันล้านบาทให้กับนักลงทุน เตรียมรองรับไว้พร้อมแล้ว ตอกย้ำความแข็งแกร่งด้านสภาพคล่อง และ Cash flow หรือกระแสเงินสดในการดำเนินธุรกิจทุกสภาวการณ์

ขณะที่ นางสาวอธิกา บุญรอดชู ผู้อำนวยการ สายงานจัดสรรเงินทุนและการลงทุน บมจ. เสนาดีเวลลอปเม้นท์ หรือ SENA กล่าวว่า แม้สถานการณ์โควิดจะกระทบกับการขาย แต่มั่นใจว่าบริษัทสามารถชำระหุ้นกู้ได้ ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมทั้งต่ออายุตั๋ว และการเตรียมความพร้อม สำหรับเงินสดชำระคืนตามกำหนด

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,567 วันที่ 19-22 เมษายน 2563