เจาะลึกแผน “กรมชลประทาน” จัดการน้ำพื้นที่อีอีซี

26 ก.พ. 2566 | 03:01 น.

เจาะลึกแผน “กรมชลประทาน” จัดการน้ำพื้นที่อีอีซี

เอ่ยถึง “ภาคตะวันออก” หลายคนนึกถึงทะเล สถานที่ท่องเที่ยว ผลไม้ ทุเรียน หรือเป็นเมืองอุตสาหกรรม ซึ่งคาดว่าจะกลับมาคึกคักอีกครั้งเมื่อสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 คลี่คลาย จะทำให้ความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องเตรียมตัว วางแผนบริหารจัดการและเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ เพื่อมีน้ำเพียงพอสำหรับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
  
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกว่า ปัจจุบัน (20 ก.พ. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางในพื้นที่ภาคตะวันออก มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 1,755 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของปริมาณน้ำรวมกัน ภาพรวมสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกปีนี้ถือได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ดี เพียงพอใช้ทุกภาคส่วนตลอดฤดูแล้งนี้ 

“มีการวางแผนการจัดสรรน้ำ 2,700 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็นเกษตรกรรม 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) (56% ) อุตสาหกรรม 258 ล้าน ลบ.ม. (9%) รักษาระบบนิเวศ 433 ล้าน ลบ.ม. (16%) อุปโภค-บริโภค 188 ล้าน ลบ.ม. และอื่นๆ 321 ล้าน ลบ.ม. (12%)”

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการสนับสนุนน้ำในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา 5 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการผันน้ำคลองพระองค์ไชยานุชิต/คลองพานทอง-อ่างเก็บน้ำบางพระ 2. ท่อผันน้ำแม่น้ำบางปะกง-อ่างเก็บน้ำบางพระ  3.ท่อผันน้ำอ่างเก็บน้ำประแสร์-อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่  

4.ท่อผันน้ำอ่างเก็บน้ำประแสร์-อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล 5. โครงการผันน้ำคลองวังโตนด-อ่างเก็บน้ำประแสร์   พร้อมระบบสูบกลับคลองสะพานเติมอ่างฯ ประแสร์  สูบกลับวัดละหารไร่(แม่น้ำระยอง) เติมอ่างฯ หนองปลาไหล  โดยในส่วนของลุ่มน้ำคลองวังโตนด กรมชลประทาน ได้วางแผนพัฒนาแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง ด้วยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 4 แห่ง ได้แก่  1.อ่างเก็บน้ำคลองประแกด ความจุเก็บกัก 60 ล้าน ลบ.ม. (เริ่มเก็บน้ำตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560) 

2.อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ความจุเก็บกัก 80 ล้าน ลบ.ม. (ผลงานคืบหน้าร้อยละ 89 ของแผนฯ) 3.อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ ความจุเก็บกัก 68 ล้าน ลบ.ม.(ผลงานคืบหน้าร้อยละ 74 ของแผนฯ) ทั้ง 2 อ่างฯ จะเริ่มเก็บกักน้ำในฤดูฝนปี 2567 4.อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ความจุเก็บกัก 99 ล้าน ลบ.ม. (อยู่ระหว่างดำเนินการขอใช้พื้นที่จากกรมอุทยานฯ) หากสามารถดำเนินการได้จนแล้วเสร็จ จะสามารถผันน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูฝนจากลุ่มน้ำวังโตนดมายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ได้ประมาณปีละ 70 ล้าน ลบ.ม. เป็นการใช้น้ำส่วนเกินที่จะไหลทิ้งทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ตามนโยบายของรัฐบาล

ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของจังหวัดตราด กรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการแก้มลิงฉุงใหญ่ ต.ประณีต อ.เขาสมิง ด้วยการขุดลอกแก้มลิง เนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ พร้อมก่อสร้างฝายน้ำล้น และท่อระบายน้ำปากคลอง 2 แห่ง เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 1.6 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของราษฎรในพื้นที่ประมาณ 1,244 ครัวเรือน ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรได้กว่า 1,000 ไร่ ทั้งยังสามารถช่วยชะลอน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก และบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ด้านล่างได้อีกด้วย 

ด้าน พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า เพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้เน้นย้ำให้กรมชลประทาน เร่งดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญ เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยสะตอ จ.ตราด ให้เเล้วเสร็จโดยเร็ว เสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและสร้างการรับรู้ให้กับภาคประชาชน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่ได้อย่างมั่นคงยั่งยืนต่อไป

นี่เป็นส่วนหนึ่งของแผน “กรมชลประทานที่จะสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับพื้นที่อีอีซีที่จะให้ประชาชนได้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืน