บนเส้นทางสู่ความยั่งยืนระดับสากล ไทยออยล์ได้รับการรับรองเป็นสมาชิก DJSI 10 ปีต่อเนื่อง

28 ธ.ค. 2565 | 07:00 น.

ไทยออยล์ พัฒนาอย่างต่อเนื่องบนเส้นทางสู่ความยั่งยืนระดับสากล ได้รับคะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มอุตสาหกรรม Oil & Gas Refining & Marketing และ ได้รับการรับรองเป็นสมาชิก DJSI 10 ปีซ้อน เผย ปัจจัยความสำเร็จยึดหลัก POSITIVE  

 

 

- ประเมิน 3 มิติ 21 เกณฑ์ชี้วัด
 

สำหรับหลักเกณฑ์ในการประเมินด้านความยั่งยืนของ DJSI จะครอบคลุม 3 มิติ คือ Environment-สิ่งแวดล้อม Society-สังคม และ Governance & Economic-บรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ โดยในเดือนเมษายน ไทยออยล์ จะได้รับแบบประเมินจาก DJSI มากรอกข้อมูลทั้ง 3 มิติ 21 เกณฑ์ชี้วัด ทั้งยังมีคำถามละเอียดยิบย่อยให้ตอบอีกประมาณ 100 คำถาม
 

แบบประเมิน DJSI จึงไม่ต่างจากข้อสอบที่ต้องนำมาวิเคราะห์ เพื่อตีโจทย์ หน่วยงานภายในองค์กรที่เกี่ยวข้องร่วมมือกัน ตอบคำถามทุกข้อให้ครบถ้วนสมบูรณ์ พร้อมนำส่งเอกสารและหลักฐานที่มีภายในเดือนมิถุนายน 
 

ข้อมูลบางส่วนจำเป็นต้องได้รับการทวนสอบจากหน่วยงานภายนอก เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ขณะที่ข้อมูลบางส่วนต้องเปิดเผยสู่สาธารณะเพื่อความโปร่งใส เช่น ในรายงานประจำปี รายงานความยั่งยืน หรือบนเว็บไซต์ของบริษัทฯ
 

จากนั้น DJSI โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละด้านจะประเมินคะแนนและจัดอันดับข้อมูลที่บริษัทต่างๆ ส่งมา ความท้าทาย คือ บริษัทที่มีผลประเมินสูงสุดเพียง 10% แรกของแต่ละอุตสาหกรรมจะได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของ DJSI เท่ากับว่าในอุตสาหกรรม Oil & Gas Refining & Marketing จะมีไม่เกิน 2 บริษัทเท่านั้น 

- พัฒนาองค์กรต่อเนื่อง ด้วยค่านิยม POSITIVE 

 

สำหรับปี 2565 นี้ ความพิเศษอยู่ตรงที่นอกจากไทยออยล์จะได้รับการประกาศให้เป็นสมาชิก DJSI เป็นปีที่ 10 แล้วยังมีคะแนนประเมินสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของกลุ่มอุตสาหกรรมอีกด้วย
 

แม้ปีนี้จะมีความท้าทายเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะความมุ่งมั่นด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การยกระดับความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การตั้งเป้าหมาย Net Zero และเรื่องความปลอดภัย ทั้งนี้เพราะไทยออยล์อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่และมีพื้นที่ติดกับโรงกลั่นน้ำมันที่เดินเครื่องอยู่ปัจจุบันและชุมชนโดยรอบ การบริหารจัดการเรื่องแรงงานและความปลอดภัยจึงไม่ใช่เรื่องง่าย 
 

อย่างไรก็ดี ปัจจัยความสำเร็จของไทยออยล์ เกิดจากการที่บุคลากรในองค์กรมีค่านิยม POSITIVE ร่วมกันปรับปรุงและพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง ใส่ใจ วิเคราะห์ หาสาเหตุ และวางแผนปิดช่องว่างหรือจุดอ่อนขององค์กร ตลอดจนการที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างทุ่มเทเวลาปรับปรุงนโยบายและยกระดับกระบวนการทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่เป็นเลิศจึงเป็นประโยชน์สำหรับการประเมิน DJSI ในปีต่อ ๆ ไป 
 

ขณะเดียวกัน แบบประเมินด้านความยั่งยืนของ DJSI จะมีความเข้มข้นขึ้นทุกปี โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ส่วนใหญ่เน้นหนักไปในเชิงนโยบาย จึงจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านและรวดเร็ว เพื่อร่างนโยบายด้านความยั่งยืนที่ตอบโจทย์ออกมา 
 

- แข่งขันพัฒนา และ "ชนะ" ตนเอง 
 

ประโยชน์ที่ไทยออยล์ได้รับจากการเข้าประเมินจาก DJSI มีหลายประการด้วยกัน เช่น สร้างชื่อเสียงของบริษัทให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล, การเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น, ยกระดับการดำเนินงานให้มีประสิทธิผลที่ดีมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างโอกาสทางการแข่งขันทั้งในประเทศและระดับสากล และสร้างความเชื่อมั่นจากผู้มีส่วนได้เสีย
 

สำหรับความท้าทาย 3 มิติ ในปี 2566 ไทยออยล์วิเคราะห์เพิ่มว่า ด้านสิ่งแวดล้อม โลกกำลังให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งปัจจุบันไทยออยล์ได้ศึกษาและปรับปรุงกระบวนการภายในให้สอดรับกับแนวโน้มดังกล่าว ผ่านการวิเคราะห์แนวโน้มผลกระทบระยะยาวอันเนื่องมาจากมาตรการป้องกันการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อผลการดำเนินงานของบริษัทฯ (Climate Scenario Analysis) ตามกรอบการดำเนินงาน “Task Force on Climate-Related Financial Disclosures (TCFD)” ทั้งยังมีการทบทวนและประกาศความมุ่งมั่นด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) โดยเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวผ่านเว็บไซต์ของบริษัทฯ 
 

ด้านสังคม ถือเป็นด้านที่ไทยออยล์ทำได้ดีมาตลอด ทั้งในแง่การดูแลพนักงาน สังคม ชุมชน สิทธิมนุษยชน ซึ่งไทยออยล์จะรักษาคุณภาพและมาตรฐานไว้ และจะยกระดับให้เป็นเลิศขึ้นไป ส่วนเรื่องความปลอดภัยได้ทบทวนและยกระดับนโยบายด้านคุณภาพความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม เพื่อพยายามทำให้เต็มที่และดีที่สุด แม้ว่าไทยออยล์จะอยู่ในช่วงการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด ก็ตาม
 

ขณะที่ด้านบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ จะเน้นการยกระดับบรรษัทภิบาลให้ได้ตามมาตรฐานที่ DJSI กำหนดไว้ ซึ่งในด้านความมั่นคงทางไซเบอร์มีการฝึกซ้อมความพร้อมในการบริหารความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ถึง 2 ครั้งในปีที่ผ่านมา โดยไทยออยล์สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้
 

ไทยออยส์ยังคงเดินทางบนเส้นทางแห่งความยั่งยืน ต้องแข่งขันกับตัวเองอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการพัฒนาองค์กรไปพร้อม ๆ กับแบบประเมินจาก DJSI ที่มักมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมชุดคำถามใหม่ ๆ เข้ามาประมาณ 15% ที่สะท้อนเทรนด์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงและเข้มข้นขึ้นทุกปีด้วย ทั้งนี้เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ “สร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน”