เรื่องที่นายจ้างต้องรู้ : กองทุนเงินทดแทนจัดเก็บเงินสมทบอย่างไร ?

01 ก.ค. 2565 | 10:18 น.

เรื่องที่นายจ้างต้องรู้ : กองทุนเงินทดแทนจัดเก็บเงินสมทบอย่างไร ?

เคยสงสัยกันไหมว่า กองทุนเงินทดแทนจัดเก็บเงินสมทบอย่างไร ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกองทุนเงินทดแทนกันก่อน กองทุนเงินทดแทน คือ กองทุนที่จ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างแทนนายจ้าง เมื่อลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วย ถึงแก่ความตาย หรือสูญหาย เนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง โดยไม่คำนึงถึงวัน เวลา และสถานที่ แต่จะดูสาเหตุที่ทำให้ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
 

ทั้งนี้ กองทุนเงินทดแทน จะเรียกเก็บเงินสมทบจากนายจ้างเป็น“รายปี” โดยในปีแรกนายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีลูกจ้าง 1 คน สำหรับปีต่อๆไป จ่ายภายในเดือนมกราคมของทุกปี เงินสมทบที่เรียกเก็บต้นปี จะคิดมาจากการจำนวนค่าจ้างที่ประมาณการไว้ล่วงหน้า ซึ่งอาจไม่เท่ากับค่าจ้างจริงที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากในระหว่างปีนายจ้างอาจมีการเพิ่มหรือลดจำนวนลูกจ้าง ปรับอัตราค่าจ้าง เป็นต้น ดังนั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี นายจ้างจะต้องแจ้งจำนวนค่าจ้างรวมทั้งปี ของปีที่ผ่านมาไปยังสำนักงานประกันสังคมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับเงินสมทบที่เก็บไว้เมื่อต้นปี หากจำนวนค่าจ้างจริงของปีที่ผ่านมาสูงกว่าค้าจ้างที่ประมาณไว้ เป็นเหตุให้เงินสมทบที่เก็บไว้เมื่อปีที่ผ่านมาน้อยกว่า ก็จะเรียกเก็บเพิ่มภายใน 31 มีนาคม หากจำนวนเงินค่าจ้างรวมทั้งปีต่ำกว่าเดิมทำให้เงินสมทบที่เรียกเก็บสูงกว่าความเป็นจริง เมื่อตรวจบัญชีนายจ้างแล้ว หากค่าจ้างต่ำกว่าที่ประเมินไว้จะได้รับเงินสมทบส่วนที่จ่ายเกินคืน

เรื่องที่นายจ้างต้องรู้ : กองทุนเงินทดแทนจัดเก็บเงินสมทบอย่างไร ?

สำหรับการคำนวณอัตราการจ่ายเงินสมทบที่นายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน  โดยจะประเมินจากจำนวนเงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างทั้งปีรวมกัน (คนละไม่เกิน 240,000 บาทต่อปี)  คูณกับอัตราเงินสมทบของประเภทกิจการระหว่างอัตราร้อยละ 0.2-1.0 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของธุรกิจหรือกิจการ ตามรหัสประเภทกิจการของนายจ้าง โดยยื่นแบบกท. 26 ก ก่อนสิ้นเดือนมกราคม กท. 20 ก   ก่อนสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ และกท. 25 ค ก่อนสิ้นเดือนมีนาคม
 

นอกจากนี้ ถ้านายจ้างให้ความสำคัญกับการจัดสถานประกอบการให้มีความปลอดภัยแก่ลูกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบตามอัตราหลัก 4 ปีติดต่อกันแล้วจะมีการคำนวณอัตราส่วนการสูญเสีย เพื่อลดหรือต้องจ่ายเพิ่มขึ้นจากอัตราเงินสมทบหลักที่นายจ้างต้องจ่ายในครั้งแรกที่ขึ้นทะเบียนโดยจะเริ่มจ่ายตามอัตราประสบการณ์ ตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไป
โดยมีเอกสารสำหรับการยื่นขึ้นทะเบียนของนายจ้าง มีดังนี้
1.แบบขึ้นทะเบียน (สปส. 1-01) ใช้ชุดเดียวกับการขึ้นนทะเบียนกองทุนประกันสังคม
2.สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล หรือสำเนาในทะเบียนพาณิชย์
3.สำเนาใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.20) หรือสำเนาใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (แบบ ร.ง.4)
4.แผนที่ตั้งของสถานประกอบการ หรือโรงงานของนายจ้าง
5.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านเจ้าของกิจการปละผู้รับมอบอำนาจ
6.หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)

รู้แบบนี้แล้ว นายจ้างหรือบริษัทควรมีแผนงานนี้ในปฏิทินประจำปีของบริษัท หรือหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถาม หรือติดตามข่าวสารสำนักงานประกันสังคมผ่านทางช่องทางต่าง ๆ ได้ที่ 
Website: www.sso.go.th
Facebook: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
Instagram: sso_1506
Twitter: @sso_1506
YouTube: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
Hotline: 1506 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
LINE: @SSOTHAI
TikTok: @SSONEWS1506