“สัมภาษณ์เพื่อหาความจริง” สอบสวนวิธีใหม่ไม่ต้องใช้ “ถุงคลุมหัว”

03 ธ.ค. 2564 | 07:16 น.

“สัมภาษณ์เพื่อหาความจริง” สอบสวนวิธีใหม่ไม่ต้องใช้ “ถุงคลุมหัว”

สูตรสำเร็จในการคลี่คลายคดีอาชญากรรมในบ้านเรา อย่างน้อยก็ในอดีตที่ผ่านมา คือตำรวจจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ตัวผู้ต้องหา หรือผู้ต้องสงสัยมา จากนั้นก็จะทำทุกวิถีทางเช่นกันเพื่อให้ "รับสารภาพ" เพราะมองว่า "คำรับสารภาพ" คือกุญแจสำคัญที่สุดในการไขคดีและปิดคดี 

กระบวนการแบบนี้ แม้ด้านหนึ่งจะเป็นความพยายามที่ดีในการสืบสวนจับกุมคนร้ายให้เร็วที่สุด เพื่อหยุดยั้งความเสียหายจากตัวอาชญากร และเป็นวิธีการที่สั่งสอนกันต่อเนื่องมา แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงในเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชน การจับกุมดำเนินคดีผิดคน หรือที่เรียกว่า "แพะ" นำไปสู่ความสูญเสียและบาดแผลร้ายแรงที่ยากจะรักษาเยียวยา

และผลโดยตรงอีกข้อหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว แต่มักไม่ถูกนำมาพูดถึงมากนัก ก็คือความเชื่อถือเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมไทยที่ลดต่ำลง กระทั่งถึงขั้นที่มีคนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า กระบวนการที่เป็นอยู่นี้ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้กับพวกเขาได้ ดังคำกล่าวที่ว่า “คุกมีไว้ขังคนจน”

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ผลสำรวจของ TIJ Poll ในคดี “อดีตผู้กำกับโจ้” พบว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมลดลงอย่างมาก และต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เชิงโครงสร้างอำนาจในกระบวนการยุติธรรม ไปจนถึงกระบวนการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ได้ความจริงในคดี

เหตุนี้เองจึงมีการพูดถึงวิธีการสอบปากคำผู้ต้องสงสัยรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า "การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง" หรือ Investigative Interview เพื่อปรับเปลี่ยนทดแทนวิธีปฏิบัติในการสอบสวนผู้ต้องสงสัยแบบเดิมที่มุ่งเน้นให้ได้ "คำรับสารภาพ" เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งนอกจากจะเปิดช่องให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังสุ่มเสี่ยงที่จะได้ "คำสารภาพเท็จ" จนก่อความเสียหายในคดีตามมาด้วย

ในเวทีเสวนา TIJ Forum หัวข้อ “Way Out หนทางใหม่สู่การค้นหาความจริง” ซึ่งสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนนอร์เวย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยออสโล จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้นำประเด็น “การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง” มาถ่ายทอดจากผู้รู้ตัวจริง 

Dr. Asbjørn Rachlew ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง Investigative Interview ซึ่งมีประสบการณ์ด้านงานสืบสวนสอบสวนมากว่า 10 ปี และเป็นผู้สอนในสถาบันการศึกษาของตำรวจหลายแห่งทั่วโลก อธิบายหลักการว่า การจะเปลี่ยนวิธีการสอบปากคำเป็นแนวทางใหม่ จำเป็นต้องเริ่มจาก “เปลี่ยนวิธีคิดของผู้ที่หน้าที่สอบสวนให้มองต่างไปจากเดิม” โดยทำให้พวกเขาพยายามตั้งสมมติฐานทางเลือกแบบต่างๆ ขึ้นมาก่อน แล้วจึงไล่ตรวจสอบสมมติฐานเหล่านั้น แทนที่จะวิ่งตามหาแต่เฉพาะข้อมูลที่มุ่งยืนยันความผิดของผู้ต้องสงสัย ตามสมมติฐานที่จำกัดแบบเดิม

Dr. Asbjørn อธิบายต่อว่า ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามเปลี่ยนแปลงวิธีการสอบปากคำแบบเดิม ไปใช้วิธีที่เรียกว่า “การครอบงำทางจิตวิทยาเพื่อให้ได้คำรับสารภาพ” แต่นั่นก็ยังหวังผลเพียงเพื่อต้องการให้ได้ “คำสารภาพ” จากผู้ต้องสงสัยเท่านั้น ไม่ได้มีความเห็นอกเห็นใจหรือเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และที่อันตรายมากคือแนวทางแบบนี้ ยังถือว่าเป็นข้อมูลความลับเฉพาะของตำรวจกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อวิชาชีพที่ต้องอาศัยความไว้วางใจจากสาธารณชน 

แต่ “การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง” เป็นวิธีการที่ทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือมากขึ้น โดยมีผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์นานถึง 30 ปีเป็นเครื่องยืนยัน แนวคิดและปรัชญาที่เป็นรากฐานของวิธีการนี้ คือ การสอบสวนโดยยึดหลักการ “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์” ซึ่งสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลด้วย 

การฝึกเทคนิคการสัมภาษณ์ มีฐานมาจากโมเดลที่เรียกว่า PEACE ของสหราชอาณาจักร โดยการแบ่งขั้นตอนการซักถามผู้ต้องสงสัยออกเป็นการวางแผนและการเตรียมการ ทั้งการเตรียมร่างกาย เตรียมการเกี่ยวกับคดี และเตรียมการเรื่องสภาพทางจิตใจ (Planning and Preparation) การผูกไมตรีและการอธิบาย (Engage and Explain) การเปิดโอกาสให้ผู้ต้องสงสัยเล่าเหตุการณ์หรือตอบคำถาม (Account) การจบการซักถาม (Closure) และการประเมินผล (Evaluation) 

ทั้งหมดอยู่ภายใต้หลักคิดที่ถูกใช้เป็นหลักสูตรการอบรม ประกอบด้วย การให้ความสำคัญกับการสื่อสาร (Communication) การยึดหลักนิติธรรม (Rule of law) จริยธรรมและความเห็นอกเห็นใจ (Ethics and Empathy) การฟังอย่างตั้งใจ (Active Consciousness) การสร้างความเชื่อใจ (Trust) การให้ความสำคัญกับการเปิดรับข้อมูล (Information) และการตรวจสอบความถูกต้อง (Verification) 

จริงๆ แล้ววิธีการสอบปากคำรูปแบบใหม่นี้ มีใช้ในประเทศไทยแล้ว เพียงแต่ยังไม่แพร่หลาย และไม่ได้ถูกใช้เป็นการทั่วไป ทั้งๆ ที่มีบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมผ่านการอบรมหลักสูตร Investigative Interview มาแล้วจำนวนหนึ่ง TIJ Forum ได้จัดเสวนาอีกครั้งเมื่อวันที่ 4 พ.ย. เป็นภาคต่อในหัวข้อเดิม โดยมี 3 หน่วยงานสำคัญในกระบวนการยุติธรรมเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสรุปบทเรียนจากการใช้แนวทาง “การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง” 

ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี รักษาการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีการค้ามนุษย์และคดียาเสพติด กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แชร์ประสบการณ์จากการปฏิบัติจริงว่า “การได้มาซึ่งข้อมูลเป็นส่วนสำคัญมากกว่าการได้มาซึ่งคำรับสารภาพ” และ “สิ่งสำคัญที่ควรจะมีในเบื้องต้น คือ ผู้ซักถามจะต้องมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เช่น รอยนิ้วมือ หรือ DNA ก่อนไปซักถาม และต้องใช้เทคนิควิธีต่างๆ ร่วมด้วย ทั้งการสังเกตจดจำ การสำรวจ การเฝ้าจุดสังเกตการณ์ การสะกดรอยติดตาม รวมถึงการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการรวบรวมหลักฐาน ซึ่งต้องทำงานบูรณาการร่วมกัน” 

ส่วนประเด็นข้อจำกัดในการนำ Investigative Interview มาใช้ ก็คือ ประเทศไทยยังมีเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ไม่มากพอ เพราะไม่มีโอกาสได้รับการฝึกอบรม โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ในส่วนภูมิภาค ยังไม่มีสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อสร้างบรรยากาศให้ “ผู้ต้องสงสัย” หรือ “เหยื่อ” ให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะคดีที่มีเด็กเป็นเหยื่อ ควรมีสถานที่เฉพาะในการซักถาม 

เรื่องสถานที่ที่เหมาะสม นพ. ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดี DSI ให้ข้อมูลว่า สถาบันพัฒนาการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI Academy กำลังจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นศูนย์คัดแยกเหยื่อของการค้ามนุษย์ โดยออกแบบห้องสำหรับการซักถามให้สอดคล้องกับวิธีการ “สัมภาษณ์เพื่อหาความจริง” ด้วย ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากห้องกระจก one way แบบเดิม ซึ่งสร้างความรู้สึกไม่ไว้ใจ เนื่องจากผู้ถูกซักถามรู้ดีว่าถูกจับตามองอยู่ พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มองว่า “การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง” 

เป็นวิธีการที่สอดคล้องกับกฎบัตรสหประชาชาติ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ และประมวลกฎหมายอาญา “เพราะการได้มาซึ่งพยานหลักฐานต้องไม่ได้มาด้วยวิธีการบังคับขู่เข็ญ” 

พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ บอกด้วยว่า เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ต้องใช้ควบคู่ไปในกระบวนการสืบสวนสอบสวน และจะเป็นข้อมูลที่ช่วยสนับสนุน “การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง” รวมถึงช่วยยืนยันว่าข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์นั้น เป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ 

ขณะที่ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบัน “ต้นธาร” ผลิตพนักงานสอบสวน เสนอว่า ควรเริ่มด้วยการทดลองใช้ “การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง” ในรูปแบบของการทำวิจัย หรือ pilot test ก่อน เพื่อศึกษา วิเคราะห์ และสังเคราะห์ว่าเทคนิคนี้มีข้อดีข้อเสียหรือมีข้อจำกัดอย่างไร สามารถนำไปใช้กับทุกคดีได้หรือไม่ หรือควรใช้กับคดีประเภทไหนบ้าง จากนั้นจึงทำเป็นรูปแบบการสัมภาษณ์
ให้มีมาตรฐานเดียวกัน 

ดร. พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ เผยทิ้งท้ายถึงสิ่งที่ TIJ จะขับเคลื่อนต่อไปในเรื่องนี้ว่า จะร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องดำเนินโครงการนำร่องเพื่อทดสอบสมมติฐานการนำวิธีการ “สัมภาษณ์เพื่อหาความจริง” ซึ่งเป็นหลักการที่ทำได้ดีในบริบทของสังคมอื่น มาลองใช้จริงในบริบทของประเทศไทยว่าจะเกิดความเข้าใจหรือข้อจำกัดในการนำไปใช้อย่างไร เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงประจักษ์ต่อไป