มหาวิกฤต 48 ยุโรป/รัสเซียใครตายก่อน

17 เม.ย. 2565 | 05:34 น.

“ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” วิเคราะห์ ทิศทางพลังงานรัสเซีย “ ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซ” มหาวิกฤต 48 ยุโรป/รัสเซียใครตายก่อน

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล  โพสต์ Facebook  Thirachai Phuvanatnaranubala -ข้อความตอนหนึ่งระบุ “เฝ้าระวังมหาวิกฤตเศรษฐกิจ” บทความที่ 48

 

สงครามยูเครนกำลังจะเปลี่ยนสมการเศรษฐกิจโลก และอาจนำไปสู่การถดถอยหลายปี

 

ขณะนี้ 41% ของถ่านหินที่ยุโรปใช้ ยุโรปซื้อจากรัสเซีย (รูป 1) / 27% ของน้ำมัน (รูป 2) / และ 41% ของก๊าซ (รูป 3)

 

ยุโรปจึงวางแผนจะลด ถามว่า ถ้าลดทันที รัสเซียจะล้มละลายไหม?

ปี 2021 รัสเซียส่งออก 450 พันล้านดอลลาร์ เป็นพลังงาน 300 พันล้าน สินค้าอื่น 150 พันล้าน

รูป 4 ยุโรปซื้อพลังงานจากรัสเซีย ในปี 2021 มูลค่า 108 พันล้าน ดังนั้น ส่งออกรัสเซียจะลดเหลือคร่าวๆ 300 พันล้าน

ส่งออกที่เหลืออยู่ 300 พันล้าน ก็ยังพอที่จ่ายค่าสินค้านำเข้า 200 พันล้าน   นี่เอง ที่แซงชั่นไม่สามารถยุติสงคราม

 

วิธีเดียวที่เศรษฐกิจจะทรุดอย่างเร็ว ก็คือต้องห้ามทุกประเทศ ไม่ให้ซื้อพลังงานจากรัสเซีย

 

กรณีนี้ ส่งออกจะเหลือ 150 พันล้าน รัสเซียจะอยู่ได้ ก็ต้องบีบให้ประชาชนลดซื้อสินค้านำเข้า แต่การห้ามทุกประเทศทั่วโลก ย่อมเป็นไปไม่ได้

 

ถามว่า ถ้ายุโรปลดทันที รัสเซียจะหาลูกค้าใหม่แทนได้หรือไม่?

รูป 5 ยอดขายให้ยุโรป เป็นสัดส่วนต่อส่งออกของรัสเซีย สำหรับถ่านหิน 32% น้ำมัน 49% ก๊าซ 74% ยุโรปจึงเป็นลูกค้ารายยักษ์

มหาวิกฤต 48 ยุโรป/รัสเซียใครตายก่อน

รูป 6 ปี 2020 มูลค่าส่งออกไปทั่วโลกของพลังงานแต่ละชนิดของรัสเซีย ถ่านหิน 17 พันล้านดอลลาร์ น้ำมัน 72 พันล้าน ก๊าซ 32 พันล้าน

 

ดังนั้น เมื่อคูณด้วยตัวเลขในรูป 5 มูลค่าที่ยุโรปซื้อจากรัสเซียคร่าวๆ ถ่านหิน 5 พันล้าน น้ำมัน 35 พันล้าน ก๊าซ 23 พันล้าน

มหาวิกฤต 48 ยุโรป/รัสเซียใครตายก่อน

*** ถ่านหิน ***

 

 ถ้ายุโรปเลิกซื้อถ่านหิน 5 พันล้าน (262 ล้านตัน) รัสเซียน่าจะขายให้จีนได้บ้าง เพราะในปี 2020 จีนนำเข้ามากถึง 335 ล้านตันอยู่แล้ว รูป 7

 

และเนื่องจากจีนแซงชั่นออสเตรเลีย จึงน่าจะพอใจที่จะมีแหล่งใหม่เพิ่มเติม ดังนั้น กรณีถ่านหิน ผลกระทบรัสเซียน่าจะไม่มาก

มหาวิกฤต 48 ยุโรป/รัสเซียใครตายก่อน

*** น้ำมัน ***

 ยุโรปซื้อน้ำมันจากรัสเซียอยู่ 35 พันล้าน (ประมาณ 4.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน)

จีนใช้น้ำมันวันละ 14 ล้านบาร์เรล และในรูป 8 ในปี 2019 จีนก็นำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย 2 ล้านบาร์เรลต่อวันอยู่แล้ว เป็นอันดับหนึ่งคู่กับซาอุดิ

 

น้ำมันจากรัสเซียไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา จึงปลอดภัยกว่าจากตะวันออกกลาง ดังนั้น จีนน่าจะเพิ่มการซื้อจากรัสเซียได้อีก

 

แต่คงไม่มากนัก เพราะคงต้องรักษาสัมพันธ์กับแหล่งเดิมเอาไว้

 

อินเดียนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ในปี 2021 เพียง 12 ล้านบาร์เรล คิดเป็น 2% ของนำเข้าทั้งหมด รูป 9 จึงคำนวนปริมาณนำเข้าทั้งประเทศแบบคร่าวๆ เพียง 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน

 

โอกาสที่อินเดียจะนำเข้าจากรัสเซียเพิ่ม จึงมี แต่ไม่มากนัก

 

ดังนั้น กรณีน้ำมัน รัสเซียน่าจะหาลูกค้าใหม่แทนได้เพียงบางส่วน รายได้อาจจะหายไปถึง 25-30 พันล้านดอลลาร์ต่อปี

 

อย่างไรก็ดี การที่ยุโรปต้องแย่งซื้อน้ำมันในตลาดโลก ราคาจะสูงขึ้น เพราะปริมาณที่ยุโรปใช้อยู่ 4.7 ล้านบาร์เรลต่อวันนั้น คิดเป็น 5% ของการผลิตในโลก

 

และซาอุดิยืนกราน จะไม่ผลิตเพิ่ม นอกจากนี้ ต้นทุนขนส่งจะสูงขึ้นด้วย

 

ในรูป 10 จะเห็นได้ว่า รัสเซียส่งน้ำมันทางระบบท่อ ซึ่งวิ่งตรงไปถึงโรงกลั่น และมีหลายจุด (ในสี่เหลี่ยมสีแดง) ที่โรงกลั่นตั้งอยู่ห่างไกลจากท่าเรือ

มหาวิกฤต 48 ยุโรป/รัสเซียใครตายก่อน

*** ก๊าซ ***

 

 ในเดือน พ.ค. จะมีการยื้อกันเรื่องจ่ายก๊าซเป็นรูเบิล มีปัญหาว่า ถ้ายุโรปไม่จ่ายและรัสเซียปิดท่อ ใครจะตายก่อน?

 

ถ้ายุโรปไม่ซื้อก๊าซ 23 พันล้าน รัสเซียเหลือทางเลือกเดียว คือต้องเร่งสร้างท่อไปจีน ซึ่งจะใช้เวลาอีก 2-3 ปี

 

ส่วนการจะขายเป็นก๊าซเหลวนั้น เครื่องมือที่มีอยู่ก็ไม่พอ ดังนั้น รัสเซียต้องปิดหลุมก๊าซเอาไว้ ต้องกัดฟันอดอยากไป 2-3 ปี

 

สรุปแล้ว ในระยะสั้น รัสเซียจะหาลูกค้าก๊าซแทนยุโรปได้ยาก สำหรับน้ำมันและก๊าซรวมกัน ส่งออกอาจจะลดถึง 50-60 พันล้าน

 

คนรัสเซียต้องรัดเข็มขัด ฐานะจะจนลง แต่ไม่ถึงกับล้มละลาย เพราะถึงแม้ส่งออกลดลง แต่ก็จะยังเกินดุล

 

🕵️ ในทางกลับกัน ฝ่ายยุโรปจะกระเทือนหนัก เพราะหาซื้อก๊าซเหลวทดแทนได้ยาก ไม่มีท่าเรือและถังเก็บ

 

นอกจากนี้ หลายคนลืมคำนึงว่า ยุโรปผลิตสินค้า value added สูง ดังนั้น ผลกระทบย่อมจะมากกว่า

 

👨‍🎓 รูป 11 Business Insider คาดว่า ถ้าไม่มีน้ำมันและก๊าซรัสเซีย เพียงแค่ 2 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจเยอรมนีจะหายไปมากถึง 240 พันล้านดอลลาร์ นี่แค่ประเทศเดียว!

 

รูป 12 รัสเซียขายน้ำมันให้เยอรมนี 6.2 พันล้าน และขายก๊าซให้เยอรมนี คือ 6.2 พันล้านเช่นกัน (คำนวนจาก 19.4% ของส่งออกทั้งหมด ในรูป 13)

 

ทั้งสองรายการรวมกัน 12.4 พันล้านต่อปี คูณด้วยเวลาสองปี ก็ยังแค่ 25 พันล้าน แต่ปรากฏว่า เฉพาะเยอรมนีประเทศเดียว เศรษฐกิจจะลดลงมากถึง 240 พันล้าน

 

อธิบายแบบชาวบ้าน ผู้ขายวัตถุดิบ(ยากจนกว่า)เจ็บ 1 ดอก ผู้ซื้อเอาไปทำอุตสาหกรรม(ร่ำรวยกว่า)เจ็บ 10 ดอก

 

🧐 ดังนั้น รัสเซียต้องเดินกะโพรกกะเพลก แต่น่าสงสัยว่า ยุโรปอาจจะต้องนั่งรถเข็นกันเลย และน่าเป็นห่วงว่า เศรษฐกิจโลก 2-3 ปีข้างหน้า คงถดถอยไม่น้อย

 

วันที่ 17 เมษายน 2565

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล

Facebook Thirachai Phuvanatnaranubala

(เครดิตภาพตามแหล่งที่แสดงชื่อ)

หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ