ผี พราหมณ์ พุทธ ในสุวรรณภูมิ

27 ธ.ค. 2566 | 20:30 น.

ผี พราหมณ์ พุทธ ในสุวรรณภูมิ คอลัมน์ ทำมา ธรรมะ โดย ราชรามัญ

สถานะทางด้านความเชื่อ ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิ่งที่เรียกว่า ผี ได้รับความนิยมก่อนใคร และอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นบุคคลที่นำทางด้านจิตวิญญาณด้วยซ้ำไป ศาสนาผี มีพญาแถนและมีผีฟ้า ที่เป็นทั้งศาสดา, ที่เป็นทั้งผู้สืบทอดสืบต่อ ในด้านพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งในแถบอีสานยังคงมีความเชื่อทางด้านผีฟ้าพญาแถนอย่างแนบแน่นถึงในปัจจุบัน

การทำพิธีต่างๆ ที่เกี่ยวกับผี จึงมีการบายศรีมากมาย อาทิ บายศรีสู่ขวัญ คำว่า ขวัญ เป็นตัวแทนวิญญาณอย่างหนึ่ง ขวัญข้าว, ขวัญเรือน ลักษณะของขวัญเป็นเส้นวงกลมๆ อย่างขวัญผมที่อยู่บนศีรษะคนเรา ที่แลคล้ายเลขหนึ่งไทย ขวัญบนเครื่องถ้วยชามยุคทวารวดี เป็นต้น ผีกับขวัญจึงแยกกันไม่ออก

บายศรีจึงใช้กับศาสนาผีมากที่สุด นับแต่โบราณครั้นศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเข้ามาในดินแดนแถบนี้ จึงได้มีการผสมผสานกับศาสนาผีที่อยู่ดั่งเดิมหลายอย่าง ในการทำพิธีกรรมเกี่ยวกับพราหมณ์จึงมีการใช้บายศรี, ฉัตร, ขวัญ, ธง จนมาถึงปัจจุบันแต่พราหมณ์-ฮินดูแท้บายศรีไม่มี เครื่องเซ่นหรือเครื่องบวงสรวงจะไม่มีของคาวใดๆ พวกหัวหมู กุ้งพล่าปลายำ เหมือนศาสนาผีที่มีหมาก, พลู, บุหรี่, เหล้าร่วมด้วย เพราะพราหมณ์แท้จะเป็นมังสวิรัติ ผลไม้ เท่านั้นแม้แต่ธูปพราหมณ์แท้ก็ไม่ใช้ มีเพียงแค่เทียนเนยในการสักการบูชา แต่เมื่อพราหมณ์ถูกรวมกับศาสนาผี อันเป็นเป็นศาสนาดั่งเดิมจึงมีทุกอย่างแบบศาสนาผี

 

ครั้นพุทธศาสนาเข้ามา ก็ต้องปรับแบบแผน และอนุโลม ปฏิโลมเข้ากับศาสนาผีและพราหมณ์ที่ผสมกันแต่เดิม ศาสนาพุทธของเรา เฉพาะเมืองไทยจึงมีเรื่องของ เจ้ากรรมนายเวร ที่คอยจองเวรจองกรรมซึ่งมาจากศาสนาผี จึงมีเทพเทวดาคอยรักษาพระพุทธเจ้าตั้งแต่ประสูติ ตามคติพราหมณ์ พิธีกรรมต่างๆ ผสมปนเปกลายเป็นพุทธพราหมณ์ผีรวมกัน อันควรเรียกว่า ศาสนาแบบไทย ซึ่งหลายอย่างความเป็นพุทธเถรวาทแบบสากลไม่มี

พิธีกรรมบางอย่างของพุทธเถรวาทในศรีลังกา, อินเดีย, บังกลาเทศ ไม่มีเหมือนพุทธศาสนาในเมืองไทย เพราะพุทธศาสนาในไทยเกิดจากการรวมของผีและพราหมณ์เข้าไปด้วยนั่นเอง ง่ายๆ การบวชพระในศรีลังกา ไม่มีการทำขวัญนาค เพราะการทำขวัญเป็นบายศรีอย่างหนึ่ง เป็นอิทธิพลศาสนาผี และผสมเข้ากับพราหมณ์มาสู่ความนิยมว่า ถ้าจะบวชต้องทำขวัญนาค ความจริงไม่ต้องทำก็บวชได้ ไม่ได้เกี่ยวใดๆ ทั้งสิ้น

จึงสรุปได้ว่า ศาสนาพุทธในประเทศไทย เป็นการถูกมิกซ์ รวมด้วยกัน กับศาสนาผีและศาสนาพราหมณ์อย่างไม่ต้องสงสัย และเป็นเช่นนี้มายาวนาน เกือบพันปี ดังนั้น ประเพณีวัฒนธรรมบางอย่างที่เราได้เห็น ถ้าเราจะสกรีน เพื่อให้เหลือไว้แต่แก่นในพุทธศาสนาแล้ว พิธีกรรมเหล่านั้น เป็นเหมือนเนื้องอกออกมาในความเป็นพุทธศาสนาทั้งสิ้น ซึ่งเราจะทำตามก็ได้ไม่ทำก็ได้ เพราะพุทธศาสนาแท้ๆ เริ่มพิธีกรรมนั้นมีน้อยมาก และส่วนมากจะเป็นพิธีกรรมทางสงฆ์ มากกว่าเป็นพิธีกรรมที่สงฆ์ทำร่วมกับญาติโยม

 

พิธีกรรมในพุทธศาสนาแท้นั้น ที่พระสงฆ์ปฏิบัติ อาทิ บิณฑบาต, สวดและฟังปาฏิโมกข์ (พระธรรมวินัย)​, ภาวนา เป็นต้น ส่วนกิจที่ญาติโยมทำกับพระสงฆ์ อาทิ ถวายสังฆทาน, ตักบาตร, ฟังธรรม นอกนั้นเป็นพิธีกรรมที่มาแต่ชั้นหลังๆ เท่านั้น

ถ้าเราจะแยกแยะให้ขาดจากกัน แบบพุทธแท้ ก็จะเป็นไปตามแนวทางแบบพระปฏิบัติในสายพระป่า ในสายพระท่านเจ้าคุณพุทธทาสนั้นล้วนแต่เป็นพุทธแท้ๆ และพิธีกรรมแบบของพราหมณ์แท้ๆ ใช้แยกออกแล้ว เราจะเห็นได้ชัดจากการบวงสรวงเทพเจ้า ในสายวัดแขก สีลม ซึ่งนั่น เป็นของแท้ดั้งเดิม ที่มาจากอินเดีย ไม่มีสิ่งอื่นใดเข้ามาเจือปนผสม

 

พราหมณ์แท้ ในวัดแขก สีลม ทำพิธีสัการบูชาเทพเจ้า

 

เมื่อเราเข้าใจดังนี้แล้ว เราควรพิจารณาด้วยสติปัญญา และเมื่อเห็นการปฏิบัติทางพิธีกรรม ในยุคปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับความเป็นพุทธศาสนา เราก็มิควรรังเกียจเกลียดฉันใดๆ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ถูกผสมปนเปมาแต่โบราณ ถ้าเราคิดและทำด้วยใจที่เป็นกุศลเจตนา บุญทั้งหลายก็ย่อมสำเร็จเช่นเดียวกัน มิได้แตกต่างกัน เพียงแต่มนุษย์เมื่อมีความรู้มากขึ้น มีการแยกแยะออกมากขึ้น จึงปรารถนาได้สิ่งที่เป็นแก่นแท้ ของความเชื่อของความศรัทธา ตามที่ใจปรารถนาก็เท่านั้น