บาทเปิดเช้านี้ 29พ.ค. แข็งค่าแทบไม่เปลี่ยนแปลงที่ระดับ 36.62 บาทต่อดอลลาร์

29 พ.ค. 2567 | 00:59 น.

ค่าเงินบาทยังมีปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่า ด้วยโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินเยนระหว่างวันที่อ่อนค่าลง -มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.55-36.75 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 29พ.ค. 2567   ที่ระดับ  36.62 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.63 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่าสำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า ค่าเงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยไม่ถึง 2 ครั้ง ในปีนี้ จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ทยอยออกมาดีกว่าคาดในช่วงนี้

และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทก็อาจยังแกว่งตัว sideways ในกรอบ 36.55-36.75 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะมีการรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในช่วงคืนวันศุกร์นี้

ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างวัน เรามองว่า การอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่นอาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยกลับเข้าซื้อเงินเยนได้บ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็อาจเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่า เช่นเดียวกับแรงขายสินทรัพย์ไทยโดยนักลงทุนต่างชาติ โดยในสัปดาห์นี้ นักลงทุนต่างชาติได้ทยอยขายสินทรัพย์ไทย

 

 

โดยเฉพาะหุ้นไทยมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยซึ่งอาจจะพอช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้นั้น ต้องรอลุ้นทิศทางราคาทองคำ โดยหากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านได้อีกครั้ง เราเชื่อว่าผู้เล่นในตลาดก็อยากทยอยขายทำกำไรออกมาบ้าง ก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำดังกล่าวก็จะสามารถช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้

อนึ่ง ควรระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดทยอยรับรู้ รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ (Fed Beige Book) เพราะหากภาพเศรษฐกิจและกิจกรรมของภาคธุรกิจดูมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้บ้าง ทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสย่อตัวลงได้บ้าง

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.55-36.75 บาท/ดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแกว่งตัวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.54-36.64 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง ตามการพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ หลังรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ ที่สำรวจโดย Conference Board ออกมาสูงกว่าคาด

ขณะเดียวกัน บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างก็ย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี เงินบาทยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากการปรับตัวขึ้นราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ของราคาทองคำ ที่สวนทางกับการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ  ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยรวมยังคงถูกกดดันจากความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงนี้ทยอยออกมาดีกว่าคาด อีกทั้งบรรดาเจ้าหน้าที้ฟดต่างก็ย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้น Nvidia +7% (รวมถึงหุ้นธีม Semiconductor/AI อื่นๆ) ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.59% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.02%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลงราว -0.60% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดที่กดดันให้ ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยขายทำกำไรหุ้นยุโรปซึ่งปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างตามความหวังการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ขณะเดียวกัน บรรดาหุ้นธีม Semiconductor/AI ต่างก็ปรับตัวขึ้น นำโดย ASML +1.5% ตามอานิสงส์ของรายงานผลประกอบการของ Nvidia ที่เติบโตได้ดีกว่าคาด

 ในส่วนตลาดบอนด์ ความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด จากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ทยอยออกมาดีกว่าคาดในช่วงนี้ ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาด ปรับลดความคาดหวังการลดดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้

โดยล่าสุดผู้เล่นในตลาดให้โอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้ง เพียง 23% ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ทะลุระดับ 4.50% สู่ระดับ 4.54%

ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสผันผวนสูงขึ้นได้ไม่ยาก หากผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งเรามองว่า ทุกจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อ เนื่องจากระดับบอนด์ยีลด์ที่สูงกว่า 4.50% จะทำให้การถือครองบอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ มี Risk/Reward ที่น่าสนใจ

 ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ยิ่งกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ผันผวนอ่อนค่าลงสู่ระดับ 157.3 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 104.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.3-104.7 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) มีจังหวะรีบาวด์ขึ้น ราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ก่อนที่ตลาดจะรับรู้รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ ซึ่งหนุนให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น กดดันให้ราคาทองคำไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซน 2,385 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ไปได้ อย่างไรก็ดี การรีบาวด์ขึ้นบ้างของราคาทองคำ มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทผ่านโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ

 สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อของเยอรมนี ที่จะรายงานในช่วงราว 15.00 น. ตามเวลาประเทศไทย เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของทาง ECB ซึ่งล่าสุดผู้เล่นในตลาดต่างมั่นใจว่า ECB จะเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนมิถุนายน

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ หรือ Fed Beige Book รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด (ทยอยรับรู้ในช่วง 01.00 น. ของเช้าวันพฤหัสฯ ตามเวลาประเทศไทย) เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยในปีนี้ได้ไม่ถึง 2 ครั้ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า
เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 36.62-36.64 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.21 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 36.59 บาทต่อดอลลาร์ฯ

เงินบาทและสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ขยับอ่อนค่าลง ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากท่าทีของเจ้าหน้าที่เฟด (Neel Kashkari) ซึ่งระบุว่า แม้จะมีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย แต่ก็ยังไม่ตัดโอกาสที่เฟดจะกลับมาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป และข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นไปที่ระดับ 102 ในเดือนพ.ค. (สูงกว่าตลาดคาดที่ 96.0 และสูงกว่า 97.5 ในเดือนเม.ย) ซึ่งถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดังกล่าวยังคงตอกย้ำว่า เฟดอาจไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตอันใกล้นี้

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 36.55-36.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ของสกุลเงินในเอเชีย ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด  และรายงาน Beige Book ของเฟด