IBM ชี้คนรุ่นใหม่ซื้อแบรนด์มุ่งความยั่งยืน แนะองค์กรมองเป็นโอกาสธุรกิจ

13 มิ.ย. 2565 | 04:20 น.

IBM ชี้คนรุ่นใหม่ซื้อแบรนด์มุ่งความยั่งยืน แนะองค์กรมองเป็นโอกาสธุรกิจ

ไอบีเอ็ม แนะองค์กรไทย มองการสร้างความยั่งยืนเป็นโอกาสธุรกิจ พร้อมขับเคลื่อนองค์กรสู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน เผยข้อมูลสำรวจล่าสุด คนรุ่นใหม่ตัดสินใจซื้อแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน
 

การสร้างองค์กรที่มุ่งสู่ความยั่งยืน เป็นโอกาสทางธุรกิจและเป็นปัจจัยช่วยขับเคลื่อนองค์กร สู่ยุคดิจิทัลทรานฟอร์มเมชั่น โดยการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี เพื่อบรรลุเป้าหมาย ZERO CARBON และโมเดลธุรกิจเพื่อชีวิตที่ยั่งยืน   ไอบีเอ็มเป็นหนึ่งในองค์กรระดับโลกที่ได้ดำเนินการเรื่องนี้ไปแล้วอย่างเป็นรูปธรรม  และได้ร่วมมือกับเนชั่น กรุ๊ป ถ่ายทอดแนวคิด ประสบการณ์ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีมาช่วยองค์กรต่างๆ ไปสู่เป้าหมาย Net Zero ผ่านเวทีสัมมนาออนไลน์  “Enterprise of the Future Sustainability as Digital Transformation Catalyst”

IBM ชี้คนรุ่นใหม่ซื้อแบรนด์มุ่งความยั่งยืน  แนะองค์กรมองเป็นโอกาสธุรกิจ

IBM ชี้คนรุ่นใหม่ซื้อแบรนด์มุ่งความยั่งยืน  แนะองค์กรมองเป็นโอกาสธุรกิจ

โดยนายสวัสดิ์ อัศดารณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด และ Managing Partner กลุ่มธุรกิจไอบีเอ็ม คอนซัลติ้ง  เปิดเผยว่าวันนี้องค์กรไม่ควรมองเรื่องความยั่งยืนว่าเป็นสิ่งที่มีก็ดี หรือเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพราะมีกฎข้อบังคับกำหนดไว้ แต่องค์กรควรมองเรื่องการสร้างความยั่งยืนเป็นโอกาสทางธุรกิจ เป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กร และช่วยขับเคลื่อนองค์กรสู่ก้าวย่างดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน
 

ผลการศึกษาเผยให้เห็นแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคในการให้ความสำคัญกับความยั่งยืน โดยนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ความยั่งยืนมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคและความชอบที่มีต่อแบรนด์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่เลือกผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์โดยพิจารณาจากการให้ความสำคัญต่อความยั่งยืน ดังเห็นได้จาก 62% ของผู้บริโภคที่สำรวจ ระบุว่าเต็มใจที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อของตนเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และครึ่งหนึ่งเต็มใจจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อแลกกับความยั่งยืน

IBM ชี้คนรุ่นใหม่ซื้อแบรนด์มุ่งความยั่งยืน  แนะองค์กรมองเป็นโอกาสธุรกิจ

IBM ชี้คนรุ่นใหม่ซื้อแบรนด์มุ่งความยั่งยืน  แนะองค์กรมองเป็นโอกาสธุรกิจ

ไอบีเอ็มได้เริ่มจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมเป็นครั้งแรกเมื่อ 30 ปีที่แล้ว และได้เริ่มตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นครั้งแรกในปี 2543 ก่อนที่จะเป็นผู้ร่วมผลักดันเรื่องดังกล่าวในระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ในปีที่ผ่านมา ไอบีเอ็มยังได้ประกาศตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2573 ผ่านการดำเนินการในหลายมิติ อาทิ การตั้งเป้าให้คลาวด์ดาต้าเซ็นเตอร์ของไอบีเอ็มใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นสัดส่วน 75% ในปี 2568 และ 90% ในปี 2573 หรือการกำหนดให้ซัพพลายเออร์หลักของไอบีเอ็มต้องมีระบบบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยเมื่อปีที่ผ่านมา ไอบีเอ็มได้รับพระราชทานตรา Terra Carta จากเจ้าชายแห่งเวลส์ ซึ่งถือเป็นการตอกย้ำการให้ความสำคัญและความมุ่งมั่นในการสร้างความยั่งยืนอย่างจริงจังและต่อเนื่องของไอบีเอ็ม
 

ผลสำรวจ Global CEO Study โดยสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBV) ประจำปี 2565 ระบุว่า เป็นครั้งแรกที่ซีอีโอทั่วโลกมองประเด็นความยั่งยืนเป็นความท้าทายสูงสุด โดยซีอีโอกว่าครึ่งมองว่าความยั่งยืนจะเป็นเรื่องที่องค์กรให้ความสำคัญสูงสุดในอีกสองปีข้างหน้า
 

ในประเทศไทย ประเด็นด้านความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่องค์กรยังต้องการเครื่องมือที่จะเข้ามช่วยในแง่การจัดทำรายงาน เพราะในการจัดทำรายงานเกี่ยวกับโครงการด้านความยั่งยืนนั้น องค์กรจำเป็นต้องวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก อาทิ ข้อมูลความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ ข้อมูลคาร์บอนฟุตปรินท์ ข้อมูลการบริหารจัดการอาคาร ข้อมูลเมทริกซ์การผลิต ข้อมูลการขนส่งและการใช้พลังงาน ข้อมูลการใช้น้ำ/ไฟ ตลอดจนข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั้งทางตรง ทางอ้อม และตลอดเส้นทางซัพพลายเชน เป็นต้น และด้วยปริมาณและความซับซ้อนของข้อมูลเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีอย่าง AI เข้ามาช่วย
 

ไอบีเอ็มตระหนักถึงความจำเป็นในเรื่องนี้ และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา จึงลงทุนเข้าซื้อกิจการซอฟต์แวร์ Envizi เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้องค์กรสามารถวิเคราะห์ บริหารจัดการ และรายงานเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ พร้อมวิเคราะห์โอกาสและประเมินความเสี่ยงด้านความยั่งยืนได้ ตามแนวทางที่มาตรฐานและกฎข้อบังคับต่างๆ กำหนดไว้ ขณะเดียวกันก็ให้มุมมองด้านความยั่งยืนที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ธุรกิจสามารถนำไปปรับเสริมเข้ากับกลยุทธ์ขององค์กรได้
 

ด้านนายเรืองศักดิ์ ไหลเวชพิทยา ผู้บริหารสายงาน Data and Technology Transformation   IBM Consulting  กล่าวว่าธุรกิจในประเทศไทย มีการตื่นตัว และได้เริ่มมีการผลักดันจากภาพรัฐบาลดังจะเห็นได้จากเรื่องแนวนโยบายที่เกี่ยวข้องในหลายๆ ด้านทั้งด้านพลังงาน การขนส่ง เราจะเห็นการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจทั้งในเรื่องของการปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น
 

 “การวางเป้าหมาย Net Zero Carbon ต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน   โดยต้องรู้ให้ได้ก่อนว่าองค์กรเรา จุดไหนคือจุดที่ปล่อย Carbon ออกมาบ้าง พอเราทราบแล้ว ก็มาพิจารณาวางกลยุทธ์ต่อว่า จะปรับเปลี่ยนอย่างไร เช่น ลดการใช้พลังงานอย่างไร หรือเปลี่ยนมาติด Solar Farm บนหลังคาเพื่อปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานที่สะอาด ลดการปล่อย Carbon พอ optimize มาถึงจุดหนึ่ง ภาพของการ Trading ก็จะเข้ามา เพื่อให้เราสามารถ offset carbon ของเราที่ยังเกินอยู่กับคนที่ไม่สามารถ offset จะมี carbon credit การผลักดันให้เกิดขึ้นก็ต้องอาศัยการพัฒนาทั้งหน่วยงานเอกชน และภาครัฐไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้การ sustainability สามารถเกิดขึ้นจริงได้ตามที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนตั้งเป้าหมายเอาไว้”
 

ส่วนนายภากร สุริยาภิวัฒน์  ผู้บริหารสายงานธุรกิจพลังงานและภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย IBM Consutling  กล่าวว่า อยากให้องค์กรมองเห็นภาพการทำเรื่องความยั่งยืน  (Sustainability) ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนวิธีการทำงานเพื่อลดการใช้ทรัพยากรเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วเป็นหลายหน่วยงานมองความยั่งยืนเป็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจ
 

ไอบีเอ็ม จึงช่วยลูกค้า 2 ด้าน คือการทำความเข้าใจว่า Carbon Footprint ของแต่ละบริษัทเป็นอย่างไร การปฎิบัติการ (Operate) อยู่ในขอบข่ายใดบ้าง และจะเพิ่มประสิทธิภาพ (Optimize) อย่างไรเพื่อให้สามารถเดินไปสู่ Net Zero ได้ นอกจากนี้ก็ยังมีวิธีการที่เรียกว่าการาจ โมเดล (Garage Model) ในการสร้างแนวทางในการสร้างสรรค์แนวทางทางธุรกิจใหม่ๆ ทำให้เกิดขึ้นจริง แพลตฟอร์มเล็กๆ แต่สร้างให้เกิดผลกระทบ (Impact)  และการปรับปรุง (Improvement) เพื่อเพิ่ม Impact ต่อไปเรื่อยๆ
 

ขณะที่ นางสาวภาวศุทธิ ศรีวิโรจน์  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซอฟต์แวร์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด  กล่าวว่าองค์กรในไทยตื่นตัว เรื่อง ESG  (Environment, Social, Governance) การลดการปล่อยคาร์บอน   การบริหารพนักงาน การลดต้นทุน  และความโปร่งใส   โดยปีนี้ และปีหน้า จะเห็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทุกบริษัทมุ่งไปสู่  ESG  
 

อย่างไรก็ตามองค์กรจะต้องมีการวางเป้าหมายให้ชัดเจน   ความท้าทายที่องค์กรเผชิญ ประกอบด้วย  3 เรื่องหลัก คือ 1.การบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย   ทั้งพนักงาน ชุมชน พาร์ทเนอร์ ซัพพลายเออร์ ทุกคนต้องมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน 2. หลังจากวางเป้าหมาย จะมีการติดตาม (Track) อย่างไร ช่องว่าง (Gab) คืออะไร และสุดท้ายคือดาต้า มีการนำ IoT เข้ามาช่วยจัดการ  เช่น เส้นทางเดินรถ ซึ่งจะต้องมีการจัดการข้อมูลที่ดี  มีซอฟต์แวร์เข้ามาช่วย 
 

โดยไอบีเอ็มมีเครื่องไม้เครื่องมือเข้ามาช่วยในการจัดการดาต้า  ทั้งที่มีโครงสร้างและไม่มีโครงสร้าง สามารถวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลง และมีการจัดทำรายงานที่เป็นมาตรฐาน  มีเครื่องมือเข้ามาช่วยในการเชื่อมต่อ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้ามาอยู่ในระบบเดียวกัน    เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน 
 

สามารถชมงานสัมมนา IBM Enterprise of the Future Sustainability as Digital Transformation Catalyst ย้อนหลังได้ที่ Facebook Thansettakij : https://www.facebook.com/thansettakij/videos/1080137219588781