สนามส.ส.ภาคใต้ เดิมพัน ปชป. ยุค“จุรินทร์”

24 ก.พ. 2566 | 08:56 น.

สนามส.ส.ภาคใต้ เดิมพัน ปชป. ยุค“จุรินทร์” : สัมภาษณ์พิเศษ นิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลพื้นที่ภาคใต้ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3865

นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลพื้นที่ภาคใต้ เปิดใจกับรายการ “คุยกับผมหน่อย โดยโพสต์ทูเดย์” ดำเนินรายการโดย ธรรศพงศ์ หิรัณย์ธนาคุณ ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหารโพสต์ทูเดย์ ตอบคำถามคาใจเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ท่ามกลางโหมดเลือกตั้ง ส.ส.

ในฐานะผอ.เลือกตั้งมันคือภาระกิจใหญ่โดยเฉพาะสนามภาคใต้ เป็นเดิมพันครั้งสำคัญทางการเมืองของทั้ง 3 คน ไม่ว่าจะเป็น จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค หรือ แม้แต่ตัว นิพนธ์ เอง ซึ่งเจ้าตัวก็ยอมรับว่า “ใช่” 

แต่ออกตัวว่า สนามภาคใต้ไม่หนักใจ และก็มีความมั่นใจ มีความมั่นใจว่าประชาธิปัตย์จะกลับมาแม้ไม่เท่าเดิมในอดีตแต่ว่าก็ใกล้เคียงในอดีต ที่พูดอย่างนี้เพราะว่าในอดีตปี 2548 ส.ส.ประชาธิปัตย์ ภาคใต้มี 54 คน ประชาธิปัตย์เคยทำได้ถึง 52 คน รอบนี้การที่ประชาธิปัตย์พูดว่า 35-40 จากส.ส. มีที่นั่งทั้งหมด 58 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์เสียหายไปอีก 18 ที่นั่งนะ ถือว่าเยอะมากในความรู้สึกของผม

ยุทธศาสตร์ ปชป.

ส่วนยุทธศาสตร์อะไรที่คิดว่าจะชนะในสนามเลือกตั้งภาคใต้ นิพนธ์ ตอบว่า 1. ยุทธศาสตร์ 3 สร้าง คือ “สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ” ถ้าในสมัยก่อนก็เรียกว่าเศรษฐกิจ สังคม การเมือง แต่ว่าวันนี้ถ้าลงไปพูดเศรษฐกิจ สังคม การเมือง มันรู้สึกว่าล้าสมัย 

มาวันนี้ประชาธิปัตย์ชูนโยบายสันติภาพสู่สันติสุข ปี 2548 เราเคยใช้คำประกาศปัตตานี เพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วก็ปี 2552 เราใช้สันติสุขสู่ชายแดนใต้ รอบนี้หลังจากเหตุการณ์ผ่านพ้นมานับจากวันที่มีการปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็งไป กว่า 400 กระบอกจากวันนั้นมาถึงวันนี้ 19 ปี เราใช้งบประมาณในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนไม่รวมเบี้ยเลี้ยงไม่รวมเงินเดือนไปเกือบ ๆ 5 แสนล้านแล้ว 

“เรามานั่งทบทวนกันว่า เราถมเงินไปเท่าไหร่ก็ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนได้ ถ้าเราไม่สร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นก่อน ถ้าหากว่าเราพูดจากันเข้าอกเข้าใจแล้ว เราเชื่อว่าสิ่งยุทธศาสตร์ที่ประชาธิปัตย์ประกาศนั่นก็คือ ทำให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่มั่นคงทางด้านอาหาร นี่คือยุทธศาสตร์สำคัญ นี่คือสิ่งที่ทุกคนอยากเห็นว่า ปัญหาความขัดแย้งกัน ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้จะสงบได้เมื่อไหร่ ผมคิดว่าเรื่องพูดคุยกันเป็นสิ่งจำเป็น” 

ปชป.ไร้เจ้าของพรรค

เมื่อถามว่านิพนธ์คือผู้มีบารมีคนหนึ่งในจังหวัดสงขลา จังหวัดสงขลามี ส.ส. 9 ที่นั่งมั่นใจจะได้ส.ส.กี่ที่นั่งในสงขลา ขุนพลภาคใต้ของพรรค ปชป. ตอบว่า เบื้องต้นเราบอกว่าที่จริงเราจะเอาหมดทั้ง 9 แต่เพื่อนก็บอกว่า ไม่แบ่งเพื่อนเลย ผมบอกว่ามั่นใจไม่ต่ำกว่า 7 ก็แล้วกัน แต่ว่าถ้าเอาได้อีก 2 ที่นั่ง เราก็พยายามเอาหมด 

ประชาธิปัตย์เราเคยกวาดมาหมด เราครองพื้นที่นี้มายาวนานมากหลายยุคหลายสมัย ผมได้เรียนไปแล้วว่า ผมเข้ามาสู่การเมืองตั้งแต่ปี 2535/1 มีครั้งแรกเท่านั้นที่ประชาธิปัตย์ได้ไม่ยกจังหวัด หลังจากนั้นมาประชาธิปัตย์ยกจังหวัดทั้งหมดแล้วก็มาเมื่อครั้งที่แล้วที่เสียพื้นที่ไป เพราะฉะนั้นรอบนี้เราหวังว่า เราจะดูแลพื้นที่ทั้งหมดทั้ง 9 ที่นั่ง แต่ยังไงก็สู้กันเต็มที่อยู่แล้ว เต็มพื้นที่

ส่วนปัญหาใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งคนในประเทศ และ คนแวดวงการเมืองก็รู้ดี และจับจ้องอยู่ก็คือ ความเป็นเอกภาพของพรรคประชาธิปัตย์ แล้วกระแสเลือดไหลไม่หยุดยังมีออกต่อเนื่อง นิพนธ์ ชี้แจงว่า ที่จริงประชาธิปัตย์ไม่มีใครเป็นเจ้าของพรรค ต่างจากพรรคอื่น พรรคอื่นเขามีเจ้าของ 

เพราะว่าเขามีคนที่สั่งคนเดียวแล้วหยุดทุกเรื่องได้ ผมไม่อยากจะเอ่ยชื่อว่าคนโน้นคนนี้นะแต่ว่าไปดูได้ในพรรค ถ้าคนนั้นคนนี้สั่งนี่เขาบอกว่าเขาพูดแล้วก็จบ แม้กระทั่งพรรคที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ มีท่านเสธ.นั่น เสธ.นี่ หรือว่า แม่ทัพคนนั้นคนนี้ นี่ถ้าเขาบอกว่าหยุดก็คือ หยุด แต่ประชาธิปัตย์มันไม่ใช่ เพราะทุกคนเป็นเจ้าของ ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงเท่ากันหมด 

จุดแข็งของ ปชป.

เพราะฉะนั้นความเป็นอิสระอย่างนี้แหละเขาเรียกว่า อิสระชนในประชาธิปัตย์มีเยอะ ประชาธิปัตย์จึงให้ความสำคัญกับความเป็นบุคคล ไม่มีใครมาบังคับ ไม่มีใครมาสั่งการ ในประชาธิปัตย์ประชาธิปไตยในพรรคสูงมาก เวลาเราจะคัดเลือกผู้แทนหรือว่าคัดเลือกคนมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องใช้การโหวตใช้ลงคะแนนกัน 

มติสำคัญเราเคยเห็นกันมาแล้ว เวลาก่อนที่จะนำไปสู่การลงมติ ได้ใช้เวลาเกือบ ๆ วัน ถกเถียงกันก่อน ก่อนที่จะได้ข้อยุติ เพราะฉะนั้นจึงบอกว่า ประชาธิปัตย์เหมือนกับว่าต้องฟังกลุ่มนี้กลุ่มโน้นก่อน ที่จริงไม่ใช่กลุ่มแต่ว่าฟังทุกคนในพรรค เพราะทุกคนมีคุณค่า ในพรรคประชาธิปัตย์มีความสำคัญเหมือนกันหมด 

เพราะฉะนั้นนี่คือจุดแข็ง จะบอกว่าจุดอ่อนก็ได้ แต่ว่านัยยะกลับกันคือ จุดแข็งของพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าไม่มีจุดแข็งอยู่ไม่ได้มา 77 ปี เพราะฉะนั้นจะบอกว่าประชาธิปัตย์มีหลายกลุ่ม มันก็เป็นธรรมชาติของพรรคการเมือง ไม่มีใครสั่งให้คิดเหมือนกันให้หมด คิดต่างกันได้แต่เมื่อมีมติอย่างไรทุกคนปฏิบัติตามมติหมดในประชาธิปัตย์นี่คือ ความแข็งของประชาธิปัตย์

                                       นิพนธ์ บุญญามณี

“จุรินทร์”นักปชต.

เมื่อเจอคำถามว่าจุดยืนทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ในวันนี้อยู่ตรงไหนในวันที่กลุ่มคน White Collar หรือ คนรุ่นใหม่คนชั้นกลางประสบเรื่องเบื่อนายกฯ คนปัจจุบัน แล้วก็กลัวนายกฯ คนก่อนหน้าที่อยู่ต่างประเทศ 

นิพนธ์ ตอบว่า เราไม่ได้เป็นพรรคของใครคนใดคนหนึ่ง เราเปิดโอกาสทุกคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาอยู่ในประชาธิปัตย์ ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียง เพราะฉะนั้นประชาธิปัตย์จึงเป็นโอกาสของคนรุ่นใหม่อยู่ต่อเนื่อง 

“เราจะเห็นว่าท่านอภิสิทธิ์ กลับมาจากเมืองนอก ท่านอภิสิทธิ์ ก็กลับเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคให้ประชาธิปัตย์ได้แล้ว ก็ยืนยันถึงวันนี้ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เคยเป็นนายกฯ มาแล้ว 4 คน แล้ววันนี้ อดีตนายกฯ อดีตหัวหน้าพรรคท่านชวน ท่านบัญญัติ ท่านอภิสิทธิ์ ยังช่วยอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ เพราะฉะนั้นบุคลากรเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นบุคลากรที่มีคุณค่าของประชาธิปัตย์ เราจะทำอะไร เรามีอดีต เรามีปัจจุบัน และอนาคต” 

ไม่ใช่พูดนะว่าประชาธิปัตย์พูดแต่เรื่องซ้ำซาก พรรคการเมืองบางพรรคเขาไม่มีเรื่องอะไรให้พูด เขาไม่มีประวัติศาสตร์ เขาไม่เคยทำ ไม่เคยผ่านการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ท่าน จุรินทร์ มาเป็นหัวหน้าพรรค ที่จริงลองไปย้อนดูประวัติ ท่านจุรินทร์เป็น ส.ส.มา 11 สมัยนะ เป็นรัฐมนตรีมาตั้งแต่อายุ 36 ปี แล้วทุกครั้งที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ท่านจุรินทร์ ได้เป็นรัฐมนตรีทุกครั้ง อาจจะมีอยู่คนเดียวคนนี้มั้ง คนอื่นได้เป็น 2 ครั้ง ก็ต้องเว้นพรรคให้เพื่อนแล้ว แต่ จุรินทร์ เป็นทุกครั้งถ้าไม่เก่งจริงประชาธิปัตย์จะไม่ให้เป็นทุกครั้ง 

"มาวันนี้ถ้าพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า ในกระบวนการหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีอยู่เนี่ย คนที่อยู่แล้วทนต่อแรงเสียดทานในการตรวจสอบ ไม่หวั่นไหวในการตรวจสอบตามระบอบประชาธิปไตย คือ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าสภาตั้งกระทู้แล้วต้องหนี ต้องไม่ตอบ หรือว่าอภิปลายไม่ไว้วางใจแล้วจะต้องพยายามไป ไม่ให้มีการอภิปลาย ไม่มี ผมติดตามท่านจุรินทร์มานาน ผมรู้ว่าคนคนนี้เป็นนักประชาธิปไตย แล้วสู้ทนแรงเสียดทานในระบอบประชาธิปไตยได้ดีที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย”

ลบภาพ“ดีแต่พูด”

เมื่อถามว่าภาพที่ติดตัวประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นภาพลบ “ดีแต่พูด” จะแก้ปัญหานี้อย่างไร นิพนธ์ ชี้แจง อันนี้คือสิ่งที่ตั้งแต่หัวหน้าจุรินทร์ เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้า ท่านรู้ปัญหานี้ดี ท่านบอกว่าเมื่อเรามีโอกาสรอบนี้ขอให้เราได้ตั้งหน้าตั้งตาทำงาน อะไรที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องพูด ท่านเป็นคนให้คำฝันที่บอกว่าประชาธิปัตย์ยุคนี้ทำได้ไว ทำได้จริง 

เพราะฉะนั้นตั้งหน้าตั้งตาทำงานเช่น นโยบายประกันรายได้ เป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาล ประกันรายได้ให้เกษตรกร ในพืชเกษตร 5 ชนิด ในที่สุดรับ รับแล้วก็ไปร่วม แล้วก็ทำได้ตั้งแต่ปีแรก นี่คือ สิ่งที่เราไม่เห็นว่าในรอบ 4 ปี ที่ผ่านมาชาวนามาล้อมทำเนียบฯ ไม่มีเกษตรกรเอาพืชผลทางการผลิตใน 5 ชนิดนั้น มาทิ้งมาเทมาขว้างอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล ไม่มี เพราะมันมีเสถียรภาพทางราคา 

นโยบายนี้ที่บอกว่าประชาธิปัตย์ทำได้ไว ทำได้จริง แล้วตอนหลังมาพรรคอื่นก็เห็นประชาธิปัตย์ทำได้ ก็อาจจะมีคำขวัญอื่นขึ้นมาบ้าง อะไรบ้าง ผมก็ไม่อยากไปพูดมาก เพราะฉะนั้นนี่คือ สิ่งที่ประชาธิปัตย์ในรุ่นในยุคของ จุรินทร์ พยายามที่จะลบครหาเรื่องที่บอกว่า ประชาธิปัตย์ดีแต่พูด ทำอย่างเดียว 

“พอท่านพูดการเมืองน้อยไปหน่อย คนอาจจะว่า เอ๊ะทำไมประชาธิปัตย์เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไป ไม่มีการพูดทางการเมือง เพราะถ้าไปพูดทางการเมืองมาก เพื่อนก็บอกว่าไอ้เนี่ยดีแต่พูด ถ้าไปเอารัฐมนตรีมาวางกันทั้งหมดแล้ว ดูว่ารัฐมนตรีไหนที่ทำงานมาก ผมว่า ท่านจุรินทร์ ติดเรื่องการทำงานมากที่สุด

ล่าสุดขนาดจะรู้อยู่แล้วว่า คนอื่นเขาตระเวนหาเสียงแล้วท่านยังไปเจรจากับสหภาพยุโรปแล้วท่านยังไปเจรจากับดูไบทำ FTA กัน ท่านเป็นอาเซปอาอะไรเนี่ยท่านเป็นประทานทั้งหมด ท่านยังมุ่งสิ่งที่จะทำสิ่งเหล่านี้ให้เห็นว่า ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติบ้านเมือง จนนาทีสุดท้าย เพราะฉะนั้นเรื่องการทำ ผมเชื่อว่า ท่านจุรินทร์ ท่านตั้งใจ มุ่งมั่นที่จะไปสู่ที่บอกว่าทำมากกว่าพูด”

ดัน“จุรินทร์”นายกฯ

นิพนธ์ ย้ำว่า ในสายตาตนเองคนในประชาธิปัตย์เขามีประเพณีว่า วันที่เขาตัดสินใจเลือกหัวหน้าพรรค นั่นคือคนนั้นต้องพร้อมเป็นนายกฯ จนมาถึงวันนี้ตนยังเชื่อว่า นายจุรินทร์ สามารถเป็นนายกฯ ประเทศไทย แล้วก็เป็นนายกฯ ที่ดีได้คนหนึ่งของประเทศไทย 
“เพราะฉะนั้นพวกผมมีหน้าที่ที่จะทำอย่างไรก็แล้วแต่ ร่วมกันที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมายนั้นให้ได้ในวันนี้” นิพนธ์ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามรายการ “คุยกับผมหน่อย โดยโพสต์ทูเดย์” ดำเนินรายการโดย ธรรศพงศ์ หิรัณย์ธนาคุณ ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหารโพสต์ทูเดย์ ได้ทุกวันพุธ เวลา 19.30 น. ทาง Facebook และ YouTube : Posttoday