เสรีรวมไทย โว เลือกตั้ง66 ได้ ส.ส. ทะลุ10 พร้อมจับมือ ลุงป้อม เมินบิ๊กตู่

10 ม.ค. 2566 | 22:43 น.

สมชัย ศรีสุทธิยากร โว เลือกตั้ง66 เสรีรวมไทยได้ ส.ส. ทะลุ10 ที่นั่ง พร้อมจับมือ ลุงป้อม หากต้องร่วม รบ. - เมินบิ๊กตู่

เมื่อเข้าสู่ ปี 2566 อันเป็นปีที่จะต้องมีการเลือกตั้งเพื่อให้ได้รัฐบาลใหม่ เพียงแค่ช่วงต้น ของเดือนแรกของปี บรรยากาศการเมืองก็เริ่มคึกคัก และเห็นความชัดเจนต่างๆมากขึ้น ทั้งการคำนวณจำนวนส.ส. รายจังหวัด ตามกติกาการเลือกตั้งฉบับใหม่ การรวมตัวของพรรคการเมืองต่างๆ การย้ายพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

ทีมข่าวฐานเศรษฐกิจ พูดคุยกับ อ. สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นโยบายพรรคเสรีรวมไทย (สร.) และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อประเมิณสถานการณ์ทางการเมือง ทั้งในภาพใหญ่ และสถานการณ์ของพรรคเสรีรวมไทย หลังจากนี้

สมชัย ศรีสุทธิยากร เสรีรวมไทย

ตามที่ทราบกันว่า กติกาเลือกตั้งใหม่นี้ เอื้อต่อพรรคการเมืองขนาดใหญ่ และทำให้พรรคขนาดกลาง ขนาดเล็กตกที่นั่งลำบาก อ.สมชัยมองว่า ในส่วนของพรรคเสรีรวมไทย ใช้กลยุทธ์มุ่งเน้นที่ตัว ส.ส.เขตมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีความมั่นใจในฐานเสียงพอสมควร

 

โดยประมาณตัวเลข ส.ส.เขตไว้ที่ 7 ที่นั่ง หากรวมกับ จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่คาดว่าจะได้นั้น คาดว่าจำนวนส.ส. ของพรรคเสรีรวมไทย ที่ได้ในการเลือกตั้ง 2566นี้ จะอยู่ที่ 12-15 ที่นั่ง

 

และหากได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาล อ.สมชัยมองว่า สูตรรวมรัฐบาลที่เหมาะสมที่สุดคือ พรรคที่ร่วมเป็นฝ่ายค้านด้วยกันอยู่ ณ ขณะนี้ ได้แก่ พรรคเพื่อไทย ,พรรคก้าวไกล ,พรรคเสรีรวมไทย ,พรรคประชาชาติ และพรรคเพื่อชาติ ซึ่งหากรวมกันแล้ว มีจำนวนส.ส. เกิน 350 คน ก็จะเป็นแรงดึงดูดให้พรรคอื่นๆเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งหากได้จำนวนส.ส. เกิน 375 ก็จะสามารถตัดปัจจัยที่จะส่งผลในการเลือก นายกรัฐมนตรี จาก ส.ว. ไปได้เลย

 

แต่หากมีความจำเป็นที่จะต้องจับมือข้ามขั้ว เพื่อจัดตั้งรัฐบาล อ.สมชัยยืนยันในจุดยืนของพรรคว่า

จะไม่จับมือกับพรรคที่สนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ เพราะฉะนั้นจึงปฏิเสธการจับมือกับพรรค รทสช. แต่หากเป็นพรรครวมพลังประชารัฐ ยังสามารถจับมือกันได้

ในส่วนของโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีนั้น ความเห็นส่วนตัวของ อ.สมชัย มองว่า หากพรรค สร. ได้จำนวนส.ส.ตามที่คาดการณ์ไว้ ตามธรรมเนียมแล้ว จะต้องได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง

 

"โดยหากมองตามความเชี่ยวชาญของ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรค สร. งานเกี่ยวกับข้าราชการตำรวจ ถือเป็นงานที่ถนัดที่สุด รองลงมา คืองานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จึงอาจเป็นกระทรวงยุติธรรม หรือกระทรวงกลาโหม ตามที่ท่านเคยพูดไว้ถึงการปฏิรูปทหาร ก็น่าจะเหมาะสม" อ.สมชัยกล่าว

ส่วนผลการคำนวณจำนวน ส.ส. รายจังหวัดโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นั้น อ.สมชัย ระบุว่า เป็นการทำหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 86 ที่ต้องนำจำนวนประชากร ณ วันที่ 31 ธ.ค. 66 มาหารด้วย 400 (จำนวน ส.ส. เขต ตามพ.ร.บ. เลือกตั้งฉบับใหม่) แล้วนำค่าที่ได้ ไปหารจำนวนประชากร ในแต่ละจังหวัด เพื่อให้ได้จำนวน ส.ส. เขตรายจังหวัด

 

แต่ขั้นตอนที่ต้องจับตาดู นั่นคือ การแบ่งเขตพื้นที่เลือกตั้ง เนื่องจาก เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบได้ พร้อมยกตัวอย่าง คำล้อเลียนในต่างประเทศ ที่มีการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบโค้งเว้าไปมา เพราะหวังผลได้เปรียบในการเลือกตั้งว่า เป็นการแบ่งเขตแบบ Salamander (แบบกิ้งก่า)

 

พร้อมยกตัวอย่าง การแบ่งเขตในปี 2554 จ.สมุทรปราการ เขต2 ที่มี 2ตำบลซึ่งพื้นที่จริงไม่ติดกัน แต่ใช้วิธีลากเส้นสมมุตให้มีพื้นที่ติดกัน และปี 2562 จ.ลำปาง เขต2 ที่ให้ อ.ทุ่งเสลี่ยง และบ้านด่านลานหอย อยู่ในพื้นที่เขตเลือกตั้งเดียวกัน ทั้งที่จุดเชื่อมต่อ เป็นแนวสันเขา ไม่มีเส้นทางคมนาคม เป็นต้น


ซึ่งตามหลักการ รายละเอียดที่ต้องคำนึงถึงในการแบ่งเขตพื้นที่เลือกตั้งนั้น ประกอบด้วย

  • จำนวนประชากรในแต่ละเขต ต้องมีจำนวนไม่แตกต่างกันมาก แม้จะไม่มีการกำหนดจำนวนไว้ แต่โดยแนวปฏิบัติที่ผ่านมา มักต่างกันไม่เกิน 10%
  • หากมีความจำเป็นสามารถแบ่งพื้นที่อำเภอออกจากกันได้ ไม่ไม่สามารถแบ่งพื้นที่ตำบลออกจากกันได้
  • ภายในเขตเดียวกันต้องมีเส้นทางคมนานคมถึงกันได้
  • ต้องคำนึงถึงอาณาเขตตามแนวภูมิประเทศ
  • เป็นการแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยประชาชนมีความคุ้นเคย

โดย กกต. จะต้องทำการแบ่งเขตได้ 3 รูปแบบ แล้วนำมาประกาศต่อสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็น ก่อนเลือกรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง โดยขณะนี้ยังไม่เห็น แต่อ.สมชัยมองว่า สามารถดำเนินการได้เลย ไม่จำเป็นต้องรอให้ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ประกาศใช้