‘สามเหลี่ยมมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืน’ ชูโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจดับไฟใต้

11 ก.ย. 2559 | 07:30 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

แนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกเข็นออกมาต่อเนื่อง กระทั่งเกิดโมเดล "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ของรัฐบาล คสช. เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนาในหัวข้อ "โมเดลเศรษฐกิจ: ดับไฟใต้?" ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล

กอ.รมน. นสถิติรุนแรงลดลง

พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร รองผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป 5 เผยสถิติเหตุความรุนแรงว่า จากผลดำเนินการ่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 12 ปี โดยเป้าหมายระยะสั้นเพื่อลดความรุนแรง ขณะที่ระยะยาว ต้องการสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบ พบว่า สถิติความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ลดลงโดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ซึ่งจากข้อมูลสถิติจำนวนเหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547-2559 รวมทั้งหมด 15,541 เหตุการณ์ ในจำนวนนี้คิดเป็น 61 % มีแนวโน้มของการเกิดเหตุในภาพรวม ลดลง โดยในปี 2558 มีเหตุการณ์ความมั่นคงจำนวน 264 เหตุการณ์ ขณะที่ปี 2559 มีจำนวน 193 เหตุการณ์ ลดลง 71 เหตุการณ์ ต่อคำถามที่ว่า เหตุการณ์ต่างๆจะจบลงเมื่อใดนั้น คงต้องใช้เวลาแต่จากสถิติข้างต้นมองว่ามีความหวัง

"สิ่งสำคัญวันนี้ คือ ต้องปลด เก็บกู้ระเบิดในหัวใจคน สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในพื้นที่ เชื่อว่า หากมีการพัฒนา นำเศรษฐกิจลงสู่พื้นที่จะช่วยให้กลุ่มผู้เห็นกลุ่มต่างชะลอตัว ลดลงได้"

แผนพัฒนาฯ 4 ปี 6 พันล.

ด้านนายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า แผนพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นดำเนินการมาตลอดจนถึงปี 2559 นี้ โดยแผนของกอ.รมน.ช่วงต้นนั้นให้น้ำหนักที่เรื่องของ"ความมั่นคง"และ"งานพัฒนา" แบ่งเป็น 70:30 กระทั่งวันนี้เดินเข้าสู่เฟสที่สอง คือ แผนงานระหว่างปี 2559-2560 ที่จะให้นำหนักทั้งสองด้านในสัดส่วนที่เท่ากัน คือ 50:50 โดยไม่ได้จะพัฒนาแค่ 3 จังหวัด แต่จะเป็นการพัฒนาทั้ง 33 อำเภอ โดยจะเริ่มจาก อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ที่จะเป็นเมืองหน้าด่านอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันที่สำคัญโดยพัฒนาเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ธุรกิจโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆรวมถึงการแปรรูปสินค้าเกษตรและสินค้าฮาลาลที่มองว่า มีศักยภาพเช่นเดียวกัน

ขณะที่ในส่วนของ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นเมืองชายแดน และจะเป็นเมืองต้นแบบด้านการท่องเที่ยว เปลี่ยนให้เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มีเพิ่มมากขึ้นได้ โดยในอนาคต อำเภอเบตง จะมีท่าอากาศยานเบตงซึ่งดำเนินการไปแล้วพร้อมให้บริการรองรับทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติในปี 2562

ขณะที่ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส จะเป็นเมืองต้นแบบในด้านการค้าชายแดนระหว่างประเทศ นำสินค้าเข้า-ออกเป็นจำนวนมาก มูลค่าซื้อขายสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของพื้นที่ภาคใต้ มีมูลค่ารวมกันเฉพาะในปี 2558 จำนวน 2,890.79 ล้านบาท คิดเป็น 0.59 % ของมูลค่าการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่มีอัตลักษณ์เชื่อมโยงกับมุสลิม เนื่องจากคนในพื้นที่และประเทศใกล้เคียงมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นจำนวนมากและยังตั้งเป้าให้เมืองสุไหงโก-ลกเป็น สิงคโปร์ในประเทศไทย ทั้งยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้แผนการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจภาคใต้นั้น เตรียมส่งเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เพื่อทำการอนุมัติ โดยคาดว่า จะสามาถเข้าสู่การพิจารณาได้ภายในวันที่ 20 กันยายนนี้

ปาล์มน้ำมันเส้นเลือดใหม่ปัตตานี

ขณะที่นายศิริชัย ปิติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี ระบุว่า ภาคเอกชนจับมือกับทางศอ.บต.ในการแก้ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นซึ่งแนวคิด "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ถือเป็นแนวคิดหนึ่งที่จุดประกายร่วมกันโดยมองถึงจุดแข็งของแต่ละอำเภอ แต่ละจังหวัดเป็นหลัก ที่ผ่านมาเส้นเลือดใหญ่ของคนในจังหวัดปัตตานีอยู่ที่ยางพารา และการทำประมง แต่ประสบปัญหาเรื่องราคายางตกต่ำ ขณะที่ประมงมีปัญหาเรื่องไอยูยูซึ่งต้องใช้เวลาแก้ปัญหาให้กลับฟื้นขึ้นมา

"วันนี้ทางจังหวัดจะพัฒนาดำเนินการให้ ปาล์มน้ำมัน ซึ่งมองว่า มีศักยภาพและความต้องการสูง มาเป็นเส้นเลือดใหม่ โดยเป็นหนึ่งในโครงการแผนพัฒนา หนองจิก เมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมแนวใหม่ เป็นเมืองหน้าด่านของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน โดยวางระบบให้เป็นกลุ่มคนเดียว ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ"

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกปาล์มรวมกัน 6 หมื่นไร่ ขณะที่ในพื้นที่มีโรงงานน้ำมันปาล์มที่สามารถรองรับการแปรรูปผลผลิตได้มากกว่า 1.2 แสนไร่ และจะมากขึ้นจากการลงทุนขยายธุรกิจโดยนักธุรกิจทั้งในและนอกพื้นที่ที่สนใจจะเข้าไปลงทุนเกี่ยวเนื่องกับปาล์มน้ำมันกว่า 2 แสนไร่ อาทิ โรงสนัดน้ำมันปาล์ม ขนาด 45 ตันทะลาย/ชั่วโมง โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 2 เมกะวัตต์ ขายไฟแล้ว โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 6.5 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 9.9 เมกะวัตต์ และโรงปุ๋ยจากเศษของเหลือต่างๆในกระบวนการสกัดน้ำมันปาล์ม เป็นต้น

"ที่ผ่านมาโรงงานในพื้นที่แปรรูปผลผลิตให้กับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประมาณ 30 % และรับผลผลิตจากนอกพื้นที่มาแปรรูปอีก 70 % หากสามารถขยายพื้นที่ พัฒนาให้เกษตรกรหันมาปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อป้อนโรงงานที่มีกำลังผลิตที่ยังมีศักยภาพเหลืออีกจำนวนมาก เชื่อว่า จะสร้างรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกร รวมถึงต่อยอดเกิดการแปรรูปต่อไปได้" ประธานหอการค้าปัตตานี กล่าวย้ำ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,191 วันที่ 11 - 14 กันยายน พ.ศ. 2559