ถก“ปรับ ครม.”จบสัปดาห์นี้“เพื่อไทย”ยึดมท.แลกพาณิชย์

10 มิ.ย. 2568 | 23:00 น.

ปรับ ครม. พรรคเพื่อไทยถกพรรคร่วมรัฐบาลจบภายในสัปดาห์นี้ ก่อนนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ในสัปดาห์ถัดไป “เพื่อไทย”ยันยึดมหาดไทย ยกกระทรวงพาณิชย์ให้พรรคภูมิใจไทยดูแล

KEY

POINTS

  • การปรับ ครม. พรรคเพื่อไทยจะหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล ให้จบภายในสัปดาห์นี้ ก่อนตรวจสอบประวัติ และนำรายชื่อรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ ในสัปดาห์ถัดไป
  • การเจรจากับพรรคภูมิใจไทย ทางพรรคเพื่อไทยยังคงยืนยันที่จะขอนำกระทรวงมหาดไทย มาไว้ในการดูแลเอง โดยเสนอแลกกับกระทรวงพาณิชย์
  • ขณะที่ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” แตก หลัง 21 สส. ปีก สุชาติ ชมกลิ่น ล่าชื่อยื่นหนังสือนายกฯ ขอปรับ ครม.โควต้าของพรรค
     

ความคืบหน้าในการ "ปรับ ครม." ของรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ล่าสุด มีรายงานวันที่ 10 มิ.ย. 2568 ว่า การหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อนำไปสู่การ “ปรับ ครม.” จะมีขึ้นและเจรจาให้จบภายในสัปดาห์นี้ ก่อนตรวจสอบประวัติ และ นำรายชื่อรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ ในสัปดาห์ถัดไป

สำหรับตัวแทนของพรรคเพื่อไทย(พท.) ที่จะเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาลนั้น มีรายงานว่า อาจจะเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือไม่ก็เป็น นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.กลาโหม และ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯและรมว.ดีอีเอส

โดยในการเจรจากับพรรคภูมิใจไทย(ภท.) ทางพรรคเพื่อไทย ยังยืนยันที่จะขอนำกระทรวงมหาดไทย (มท.) มาไว้ในการดูแล เพื่อตอบโจทย์แก้ปัญหาสนองนโยบายรัฐบาลและนโยบายพรรค ซึ่งจะเสนอแลกกับ กระทรวงพาณิชย์

“ประเสริฐ”นั่ง มท.1  

เบื้องต้น “โผ ปรับครม.” ในบางตำแหน่งจะเป็นดังนี้   

1.นายประเสริฐ จันทรรวงทอง จากพรรคเพื่อไทย จะเป็น รมว.มหาดไทย (มท.1)  จากเดิมนั่งในตำแหน่ง รองนายกฯ และ รมว.ดีอีเอส 

2.นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะเป็น รองนายกฯ ควบ รมว.พาณิชย์ จากเดิมเป็น รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย   

3. นายจักรพงษ์ แสงมณี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อดีตรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โควต้าพรรคเพื่อไทย จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง รมว.ดีอีเอส  

4. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ อดีต รมว.พลังงาน หรือ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (โควต้านายทุน) จะนั่ง รมว.พลังงาน แทน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ รมว.พลังงาน คนปัจจุบัน  

5. นายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ มีชื่อนั่ง รมว.อุตสาหกรรม แทน นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ รมว.อุตสาหกรรม คนปัจจุบัน

โดย นายเอกนัฏ หากไม่หลุดจากตำแหน่งรัฐมนตรี ก็อาจยังได้นั่งรัฐมนตรีตำแหน่งในตำแหน่งหนึ่ง

6. นายอรรถกร ศิริลัทธยากร อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ โควต้าพรรคกล้าธรรม อีกครั้ง  

ส่วน “รัฐมนตรี” ที่ส่อหลุดจากตำแหน่ง ประกอบด้วย

1.นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ โควต้าพรรคเพื่อไทย 

2.นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม พรรครวมไทยสร้างชาติ (หากไม่หลุด ได้นั่งรมต.ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง)

3.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.พลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ  

4.นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย สส.กทม. พรรคเพื่อไทย   

5.นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์ พรรคกล้าธรรม 

21 สส.รทสช.ชงปรับ ครม.   

ก่อนหน้านั้น เมื่อค่ำที่ 9 มิ.ย. 2568 บรรดา 21 สส.ของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้ร่วมลงชื่อทำหนังสือถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอให้ “ปรับ ครม.” ในสัดส่วนของพรรค โดยมีเนื้อหา ระบุว่า 

ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และ สังคม อาทิ ความขัดแย้งระหว่างประเทศในภูมิภาค สงครามทางการค้า ปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะการหลอกลวงผ่านคอลเซ็นเตอร์ การชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยว ความเปราะบางของผู้ประกอบการ SME ตลอดจนภาระค่าครองชีพของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน และอาจบั่นทอนเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศในระยะยาว 

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีในสัดส่วนของพรรค รทสช. ยังขาดความรู้ความสามารถในการบริหารงาน รวมถึงการผลักดันนโยบายและการสร้างผลงานของรัฐมนตรี ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของพี่น้องประชาชนได้อย่างเต็มศักยภาพ 

นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับประเด็นด้านจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจากพรรค รทสช. โดยเฉพาะในกรณีที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งปรากฏเป็นข่าวในหลายกรณี อันอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลโดยรวม 

กรณีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับพฤติการณ์ที่อาจเข้าข่ายการกระทำอันขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 และ 184 ซึ่งว่าด้วยการใช้อำนาจแทรกแซงการปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรอิสระที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ตลอดจนประเด็นที่อาจเข้าข่ายการกระทำอันขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 219 ซึ่งว่าด้วยการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันอาจส่งผลต่อสถานภาพและคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี 

ในสถานการณ์เช่นนี้ จึงเห็นว่า คุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “ความสุจริตอันเป็นที่ประจักษ์” ซึ่งถือเป็นหลักคุณธรรมพื้นฐาน และเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอย่างยิ่งของการดำรงตำแหน่งทางการเมือง 

อย่างไรก็ตาม ด้วยกลไกภายในของพรรค รทสช. ในปัจจุบัน ที่ไม่สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ในการสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ที่เหมาะสม มาช่วยขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาให้กับรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำได้ 

สส.ของพรรค รทสช. จึงได้หารือร่วมกัน ขอเสนอให้นายกฯ พิจารณาปรับเปลี่ยนผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในสัดส่วนของพรรคฯ ในทุกตำแหน่ง เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีเอกภาพ เหมาะสมกับสถานการณ์ และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน

                             ถก“ปรับ ครม.”จบสัปดาห์นี้“เพื่อไทย”ยึดมท.แลกพาณิชย์

เปิดรายชื่อ 21 สส.รทสช.

สำหรับพรรค รทสช. มี สส.ทั้งหมด 36 คน โดย 21 รายชื่อ สส.ที่ร่วมลงชื่อ ประกอบด้วย 1.นายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2.นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3.นายศาสตรา ศรีปาน ส.ส.สงขลา 4.น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ส.ส.นครศรีธรรมราช 5.นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ส.ส.ชุมพร

6.นายสันต์ แซ่ตั้ง ส.ส.ชุมพร 7.นายสุพล จุลใส ส.ส.ชุมพร 8.นายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 9.นายวัชระ ยาวอหะซัน ส.ส.นราธิวาส 10.นายพิพิธ รัตนรักษ์ ส.ส.สุราษฎร์ธานี 

11.นายพันธ์ศักดิ์ บุญแทน ส.ส.สุราษฎร์ธานี 12.นายปรเมษฐ์ จินา ส.ส.สุราษฎร์ธานี 13.นายถนอมพงษ์ หลีกภัย ส.ส.ตรัง 14.กุลวลี นพอบรมดี ส.ส.ราชบุรี 15.นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ส.ส.เพชรบุรี

16.จ.อ.อภิชาติ แก้วโกศล ส.ส.เพชรบุรี 17.นายจิรวุฒิ สิงห์โตทอง ส.ส.ชลบุรี 18.นายเกรียงยศ สุดลาภา ส.ส.บัญชีรายชื่อ 19.นายชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 20.นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ 21.นายอนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท

ทั้งนี้รายชื่อรัฐมนตรีที่มาจากพรรค รทสช. ในคณะรัฐมนตรีปัจจุบัน ประกอบด้วย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรมว.พลังงาน นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม นายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ และ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม

“วิชัย”ปัดสส.ชุมพรร่วมลงชื่อ

อย่างไรก็ตาม ภายหลัง นายนายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส.ชุมพร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าวว่า 

“ผมในฐานะตัวแทนของสส.ทั้งสามเขตของจังหวัดชุมพร ขอยืนยันว่า พวกเราไม่เคยได้ลงชื่อในหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้ปรับครม.ในสัดส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ปรากฏตามข่าวเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง“

“เอกนัฏ”โต้เดือดปม 21 สส. 

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม และเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดใจกรณี 21 สส.ลงชื่อเสนอนายกฯ ปรับ ครม. ว่า ยังไม่ทราบว่าเอกสารนี้จริงหรือไม่ มีข้อพิรุธหลายจุด เช่น ลายเซ็นไม่ตรงกับต้นฉบับราชการ และหลาย สส.ที่มีรายชื่อได้ออกมาปฏิเสธแล้ว
เอกสารอาจมีการประกอบร่างลายเซ็นมาจากที่อื่น และขาดความต่อเนื่อง จึงส่อเป็น “เอกสารเถื่อน” หากเป็นการปลอมแปลงเพื่อปลุกปั่นให้พรรคแตกแยก อาจเข้าข่ายผิดจริยธรรมร้ายแรง ถึงขั้นขาดสมาชิกภาพพรรคได้

นายเอกนัฏ ยังพาดพิง นายสุชาติ ชมกลิ่น ที่มีชื่อร่วมลงนาม โดยตั้งข้อสงสัยว่า หากเซ็นจริง ก็เท่ากับ “ด่าตัวเอง” ว่าไร้ความสามารถ ไม่มีจริยธรรม ทั้งที่ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของพรรค ซึ่งพรรคมีข้อบังคับชัดเจน และหากฝ่าฝืน อาจถูกพิจารณาขาดคุณสมบัติ

นายเอกนัฏทิ้งท้ายว่า ตนเอง และ นายพีระพันธุ์ อาจไป "เหยียบเท้าใคร" จนมีคนพยายามปั่นกระแสให้พรรคแตกแยก โดยย้ำว่า พร้อมสู้ ไม่กลัว และจะหาตัวผู้อยู่เบื้องหลังให้ได้
                       +++++++++

เบื้องหลัง“รวมไทยสร้างชาติ”แตก

พรรคพลังรวมไทยสร้างชาติ แตกร้าวหนัก เมื่อปรากฏ สส. 21 คน ลงชื่อส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ “ปรับ ครม.” โควตาพรรคตัวเอง หลังสิ้นศรัทธาต่อผู้นำพรรค “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” และ “เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” ที่ถูกมองว่าทอดทิ้งพรรค ไม่สนใจปัญหา สส. และขาดภาวะผู้นำ  

จดหมายดังกล่าว ถือเป็นสัญญาณชัดเจนของความขัดแย้งภายใน ที่ฝังลึกตั้งแต่หลังเลือกตั้ง โดยเฉพาะเมื่อหัวหน้าพรรค และเลขาฯ ได้เก้าอี้รัฐมนตรี ต่างคนต่างตั้งพรรคพวกเข้ารับตำแหน่งต่างๆทิ้ง สส.ไว้เบื้องหลัง ไม่รับฟัง ไม่สนับสนุนงานพื้นที่ สส.บางรายต้องหันไปพึ่งนักการเมืองนอกพรรค

บรรยากาศในพรรคเต็มไปด้วยความห่างเหิน พีระพันธุ์ ไม่พูดคุยกับ สส.โดยตรง สื่อสารผ่าน เอกนัฏ เพียงหยิบมือ แม้แต่ เอกนัฏ เองยังเข้าถึงยาก ขณะที่คนใกล้ชิดบางรายมีภาพลักษณ์สีเทา และผู้มีฉายา “ตั้งโต๊ะ” ซึ่งถูกพาดพิงว่าหาผลประโยชน์จากโครงการจัดซื้อจัดจ้าง

จุดระเบิดครั้งนี้เกิดจาก กรณีร้องเรียน พีระพันธุ์ “ซุกหุ้น” และนำถุงยังชีพ ที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทหนึ่ง มาแปะชื่อแจกน้ำท่วม ทั้งที่เป็นเรื่องอ่อนไหว แต่เจ้าตัวกลับไม่เคยออกมาชี้แจง ทั้งกับสังคมและ สส.ในพรรค ทั้งยังถูกกล่าวหาว่าเลี่ยงหมายเรียกของ ป.ป.ช.

เสียงเรียกร้องถึงนายกฯ ครั้งนี้ จึงไม่ใช่แค่เรื่อง ปรับ ครม. แต่คือสัญญาณชัดว่า “พรรครวมไทยสร้างชาติแตกแล้ว” เพราะผู้นำพรรคไม่สามารถประคับประคองความเป็นปึกแผ่นได้อีกต่อไป