ย้อนรอยคำสั่ง "หยุดปฏิบัติหน้าที่" ศาลรธน. จากนายกฯ ประยุทธ์ ถึง ทวี สอดส่อง

14 พ.ค. 2568 | 07:55 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ค. 2568 | 08:09 น.

ย้อนรอยคำสั่ง "หยุดปฏิบัติหน้าที่" โดยศาลรัฐธรรมนูญ จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ สู่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมต.ยุติธรรม ผู้ถูกสั่งพักงานล่าสุดจากข้อหาแทรกแซง กกต. พร้อมเจาะลึกกระบวนการตามมาตรา 82 และ 170 แห่งรัฐธรรมนูญ

กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หยุดปฏิบัติหน้าที่ใน 2 ฐานะ คือในฐานะผู้กำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ และรองประธานกรรมการคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยถึงที่สุด สะท้อนให้เห็นถึงกลไกการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

 ที่มาของอำนาจในการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

โดยทั่วไป การหยุดปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีตามมาตรา 170 ประกอบมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เกิดขึ้นเมื่อมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภาเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่าความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลง

หากศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว และปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ารัฐมนตรีผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐมนตรีผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

กรณีศึกษาที่ผ่านมา

1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี)

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 รับคำร้องที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้านยื่นขอให้พิจารณาเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่าครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่ พร้อมทั้งมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยออกมา

คำสั่งดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 แม้ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ความเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่สิ้นสุด ทำให้ยังเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีได้

2. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม)

ศาลรัฐธรรมนูญมีการประชุมพิจารณาคำร้องที่ประธานวุฒิสภาส่งขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่

คำร้องดังกล่าวกล่าวอ้างถึงการที่ผู้ถูกร้องมีมติให้การกระทำความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นการแทรกแซงหรือครอบงำอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์เห็นว่า ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้อง จึงมีคำสั่งให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง หยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ใน 2 ฐานะ คือในฐานะผู้กำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ และรองประธานกรรมการคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ โดยคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นี้มีผลตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

 กรณีที่ศาลไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

ส่วนรัฐมนตรีที่ถูกร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ คือ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คำร้องนี้เกิดขึ้นจากการที่ประธานวุฒิสภาได้ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของ นายภูมิธรรม เวชยชัย (ผู้ถูกร้องที่ 1) และ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง (ผู้ถูกร้องที่ 2) สิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่

คำร้องกล่าวอ้างว่า การที่ทั้งสองคนมีมติให้การกระทำความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ เป็นการแทรกแซงหรือครอบงำหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องเพิ่มเติมนี้แล้ว และสำหรับกรณีของ นายภูมิธรรม เวชยชัย (ผู้ถูกร้องที่ 1) ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ศาลมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นว่า "ยังไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้องที่จะสั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1 หยุดปฏิบัติหน้าที่"

กรณี ส.ส. ที่เคยถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

นอกจากนี้ ยังมีกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในคดีที่เกี่ยวกับสมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามมาตรา 82 เช่น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในคดีถือหุ้นสื่อ และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในคดีหุ้นสื่อไอทีวี ซึ่งเป็นกลไกที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเช่นกัน

การหยุดปฏิบัติหน้าที่นี้เป็นมาตรการทางกฎหมายที่ให้บุคคลที่ถูกดำเนินการตามกฎหมายในศาลต่างๆ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษา แล้วแต่กรณี โดยเฉพาะในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาที่หยุดปฏิบัติหน้าที่จะไม่ถูกนับรวมเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภานั้น

สำหรับรัฐมนตรีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ให้พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่