วันนี้ (9 เม.ย. 68) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยในคดีที่นายณฐพร โตประยูร และคณะรวม10คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 จากกรณีอ้างว่าถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ผู้ถูกร้อง ที่จัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ตั้งแต่เริ่มกระบวนการจนถึงการประกาศรับรองผลไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หลักนิติธรรม และกระทำการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปโดยไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 มาตรา 5 มาตรา 107 และมาตรา 108
โดยศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม และเอกสารประกอบคำร้อง ปรากฏว่าคำร้องเรียนที่นายณฐพร และคณะ ยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น เป็นคำร้องเรียน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1) มิใช่การยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213
อีกทั้งที่อ้างว่า ตนและคณะถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏว่ านายณฐพร และ คณะ ไม่ใช่บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง อันเกิดจากการกระทำ ของ กกต.
กรณีไม่ต้องด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง ประกอบกับการกระทำของ กกต. เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย หาก นายณฐพร และคณะเห็นว่า เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพอาจใช้สิทธิทางศาลได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 วรรคสาม
ส่วนกรณีขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเลือกสมาชิกวุฒิสภา ตั้งแต่เริ่มกระบวนการ จนถึงการประกาศรับรองผลใช้บังคับมิได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 นั้น
รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนดกระบวนการร้อง หรือ ผู้มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยไว้ เป็นการเฉพาะแล้วตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 47 (2) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา
ดังนั้น นายณฐพร และ คณะ ไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213