“แก้รัฐธรรมนูญ”จบเห่ รัฐสภาล่มซ้ำ องค์ประชุมไม่ครบ

14 ก.พ. 2568 | 04:22 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.พ. 2568 | 04:35 น.

รัฐสภาประชุมพิจารณาวาระ“แก้รัฐธรรมนูญ” เป็นวันที่สอง บรรยากาศเป็นไปด้วยความวุ่นวาย จนต้องสั่งพักการประชุม แต่สุดท้ายไปไม่รอด รัฐสภาล่มซ้ำ องค์ประชุมไม่ครบ แสดงตนแค่ 175 จาก 620 คน

วันนี้(14 ก.พ. 68)  เวลา 09.40 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยมี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม 

ทั้งนี้มีวาระพิจารณาเรื่องด่วน 1.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ…. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา256 และเพิ่มหมวด15/1) ที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และคณะ เป็นผู้เสนอ และ 2.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ…. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา256 และเพิ่มหมวด15/1) ที่นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะ เป็นผู้เสนอ

ประธานที่ประชุมได้เริ่มดำเนินการเพื่อเข้าสู่ระเบียบวาระ และให้ นายพริษฐ์ แถลงญัตติ 

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วงประธานฯว่า ขณะนี้องค์ประชุมยังไม่พอที่จะเข้าสู่ระเบียบวาระ ทำให้ขัดข้อบังคับ แต่นายวันมูหะมัดนอร์ ยืนยันว่า ดำเนินการไปตามข้อบังคับ เพราะสมาชิกมาลงชื่อครบองค์ประชุม ก็ต้องดำเนินการประชุม ขณะนี้องค์ประชุมมาลงชื่อครบแล้ว 

แต่ นพ.ชลน่าน แย้งว่า แม้สมาชิกจะลงชื่อครบองค์ประชุม เป็นไปตามข้อบังคับ ประธานสามารถเปิดองค์ประชุมได้ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ องค์ประชุมที่อยู่ในห้องประชุมก็ต้องครบด้วย ประธานรัฐสภา จึงชี้แจงย้ำอีกครั้งว่า ตนทำตามหน้าที่ เมื่อครบจำนวน ก็เปิดประชุมไปตามระเบียบวาระ หากในระหว่างการพิจารณา นพ.ชลน่าน ก็สามารถใช้สิทธิ์นับองค์ประชุมได้ หากไม่ใช้สิทธิ์ ตนก็ต้องดำเนินการไปตามระเบียบวาระ

ทำให้ นพ.ชลน่าน ใช้สิทธิ์เสนอขอนับองค์ประชุม แต่ฝั่งพรรคประชาชน พยายามประท้วง โดยนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ประธานฯวินิจฉัยให้นายพริษฐ์ เข้าสู่ญัตติแล้ว แต่ นพ.ชลน่าน ใช้สิทธิ์ประท้วง ชัดเจนว่า นพ.ชลน่าน จงใจทำผิดข้อบังคับ เพื่อเสนอญัตติแทรกเข้ามาในระหว่างการพิจารณาญัตติของ นายพริษฐ์ ซึ่งสมาชิกไม่มีสิทธิ์เสนอใดๆ จึงขอให้ประธานวินิจฉัย ทำให้ นพ.ชลน่าน โต้ว่า การลุกขึ้นเสนอขอนับองค์ประชุม เป็นเอกสิทธิ์สมาชิก จะทำเวลาใดก็ได้ ประธานฯก็วินิจฉัย และรับญัตติตนแล้วว่ากระทำได้

บรรยากาศการประชุมเริ่มวุ่นวาย เพราะนายพริษฐ์ ได้พยายามชี้แจงที่จะเดินหน้าแถลงหลักการและเหตุผลในการเสนอญัตติ แต่ สส.พรรคเพื่อไทย ได้ประท้วงและขอให้นับองค์ประชุมก่อนเสนอญัตติ 

นายวันมูหะมัดนอร์ จึงวินิจฉัยว่า แม้ว่าจะให้เริ่มแถลงญัตติแล้ว แต่เมื่อมีการเสนอให้ตรวจสอบองค์ประชุม สามารถทำได้ ประธานก็ต้องดำเนินการนับองค์ประชุม โดยไม่มีเหตุผลอะไร เพราะการเสนอนับองค์ประชุมเป็นเอกสิทธิ์ พร้อมกับแจ้งให้สมาชิกรัฐสภากดบัตรแสดงตน

“เจตนาผมเมื่อองค์ประชุมครบต้องเปิดการประชุม เป็นไปตามข้อบังคับ หากมีสมาชิกขอนับองค์ประชุมตรวจสอบองค์ประชุม ผมต้องดำเนินการ เพราะเป็นเอกสิทธิ์ ระหว่างนับองค์ประชุมต้องทำให้จบก่อนดำเนินการต่อไปได้” ประธานรัฐสภา ระบุ

ขณะที่มีสมาชิกรัฐสภายกมือประท้วงจำนวนมาก แต่นาย วันมูหะมัดนอร์ ไม่อนุญาตพร้อมแจ้งว่า จะให้สิทธิประท้วงทุกคน แต่หลังจากที่นับองค์ประชุมแล้วเสร็จ และได้ปิดไมโครโฟนของสมาชิกรัฐสภา

ก่อนอธิบายว่า “ผมไม่มีเจตนาว่าจะทำให้ประชุมได้หรือไม่  แต่ประชาชนจะตัดสินเองว่าการลงมตินั้นสมควรหรือไม่ ผมไม่มีอำนาจอะไร ต้องดำเนินการไปตามข้อบังคับ ไม่เช่นนั้นภาพประท้วงจะออกไปข้างนอก ภาพของสภาจะเสีย ต้องดำเนินการตามวาระ ผมขออธิบายถึงเหตุผลที่ต้องบรรจุวาระหลังจากที่มีการเสนอญัตติ ผมได้เสนอให้ที่ปรึกษากฎหมายของประธานสภาฯ” ประธานรัฐสภา ชี้แจง

แต่ในระหว่างนั้น ห้องประชุมเป็นไปอย่างวุ่นวาย มีสมาชิกรัฐสภา ตะโกนประท้วงนายวันมูหะมัดนอร์ จนทำให้ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวขึ้นว่า “หากไม่อยู่ในระเบียบ ต้องให้เจ้าหน้าที่มาเชิญ มาว่าผมเข้าข้างฝ่ายรัฐบาลหรือ ขอให้ประธานวิปแต่ละฝ่ายดำเนินการ”

นายพริษฐ์ จึงขอหารือว่า การเสนอนับองค์ประชุมที่ผ่านมา มีการให้หารือ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้ให้สิทธิเพื่ออธิบายให้กับสมาชิกรัฐสภาที่เสนอขอนับองค์ประชุมได้รับทราบ

ทำให้ นายวันมูหะมัดนอร์ ชี้แจงว่า “หากองค์ประชุมไม่ครบ ขอให้ไปแถลงกับสื่อมวลชน ผมเข้าใจนายพริษฐ์ ถึงบรรจุ คุณไม่ต้องส่ายหัว หากผมไม่จริงใจ ก็จะไม่บรรจุ ผมให้ความสำคัญกับคุณ แต่คุณไม่ให้ความสำคัญกับประธานเลย เราจะดื้อเอาตามใจของแต่ละคนไม่ได้ ท่านคงไม่ใส่ร้ายผมว่าไม่เป็นกลาง หากไม่กลาง คงไม่บรจุวาระ”

น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. ต้องลุกขึ้นเสนอให้นับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าจะมีสมาชิกรัฐสภากี่คนและยินดีพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ นพ.ชลน่าน อภิปรายว่า การนับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ เป็นไปตามข้อบังคับ แต่ข้อบังคับข้อที่ 56 กำหนดว่าการนับองค์ด้วยการขานชื่อ ต้องให้รัฐสภาอนุมัติ หากรับญัตติดังกล่าวต้องถามให้สมาชิกรัฐสภาอนุญาตและต้องตรวจสอบองค์ประชุม

บรรยากาศในห้องประชุมยังประท้วงวุ่นวาย ทำให้ นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒนสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ขอให้พักการประชุมเพื่อให้ทุกฝ่ายหารือร่วมกัน 

ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ สั่งพักการประชุม 20 นาที  ในเวลา 10.10 น. หลังจากที่ประชุมได้เปิดประชุมไปเพียง 30 นาที

หลังกลับมาประชุมใหม่ และมีการนับองค์ประชุม ปรากฏว่า มีผู้มาแสดงตนรวม 175 คน องค์ประชุมไม่ครบ  จึงต้องปิดประชุมไปเมื่อ 10.47 น. หลังจากที่เปิดประชุมรอบสออง เพียง 7 นาที ทำให้ “สภาล่ม” อีกครั้ง

สำหรับการแสดงตนที่มีผู้แสดงตน 175 คนนั้น จากการตรวจสอบการลงชื่อเข้าประชุม พบว่า มีสมาชิกรัฐสภาร่วมลงชื่อ 620 คน