KEY
POINTS
การประชุมร่วมรัฐสภา ครั้งที่ 3 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2568 ที่มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้พิจารณาเรื่อง ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1
บรรยากาศการประชุมครั้งนี้เต็มไปด้วยความวุ่นวายตั้งแต่เริ่มต้นการประชุม หลังจาก นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ประกาศไม่ร่วมพิจารณา และ พรรคภูมิใจไทยวอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุม
จากนั้น ยังมีการพักการประชุม และกลับมาประชุมอีกครั้ง แต่ท้ายที่สุดได้การเลื่อนญัตติ และประธานรัฐสภา ได้นัดประชุมใหม่วันที่ 14 ก.พ. 2568 โดยมีรายละเอียดเป็นไทม์ไลน์ในการประชุม เป็นดังนี้
เวลา 9.30 น. นายวันมูหะมัดนอร์ เปิดการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 3 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วาระสำคัญ เป็นการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ (แก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1)
ฉบับที่ 1 ของ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน
ฉบับที่ 2 ของ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
ทั้ง 2 ฉบับ มีสาระสำคัญ คือ ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จำนวน 200 คน จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อใช้แทนรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งจะแตกต่างกันตรงที่ร่างของ ส.ส.พรรคประชาชน เสนอใช้ระบบเลือกตั้ง สสร. ผสมบัญชีรายชื่อ กับแบบแบ่งเขต โดยสสร. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ส่วนของ พรรคเพื่อไทย เสนอระบบแบ่งเขต ห้าม สสร. แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
ช่วงต้นการประชุม นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ประกาศไม่ร่วมพิจารณา อ้างขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และพรรคภูมิใจไทยวอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุมทั้งพรรค
ประธานรัฐสภา ได้หยิบยกญัตติด่วนของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. เรื่องขอให้สภามีมติขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ขึ้นมา
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายตั้งข้อสังเกตว่า การเสนอญัตติด่วนดังกล่าวอาจจะผิดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เพราะตามข้อบังคับต้องเสนอล่วงหน้า 1 วัน แต่ไม่พบรายละเอียดก่อนถึงเวลาประชุม จึงขอเสนอญัตติให้พักการประชุม 15 นาที เพื่อให้วิปแต่ละฝ่ายไปปรึกษาให้ได้ข้อสรุป ประธานรัฐสภา จึงสั่งพักประชุม
เวลา 10.13 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กลับมาเริ่มการประชุมอีกครั้ง
เวลา 10.30 น. นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ เสนอญัตติด่วนขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจรัฐสภา มีผู้ร่วมลงชื่อรับรองทั้ง สส. และ สว. เกิน 40 คน
เวลา 10. 45 น. นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายคัดค้านการเลื่อนญัตติ เวลา 11.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายสนับสนุนให้เลื่อนญัตติ
เวลา 11.20 น. ประธานรัฐสภาขอมติที่ประชุมเรื่องการเลื่อนญัตติผลการโหวต เห็นด้วย 247 เสียง ไม่เห็นด้วย 275 เสียง
หลังจากนั้น นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. ประกาศออกจากที่ประชุม อ้างเหตุผลเป็นการประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดรัฐธรรมนูญ
นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ชี้แจงว่า เป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย มติที่ออกมาต้องยอมรับ ไม่พอใจก็สามารถวอล์กเอาต์ได้
น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. วิจารณ์การวอล์กเอาต์ว่า เป็นภาพลักษณ์ที่พินาศของรัฐสภา เน้นย้ำว่ากำลังถ่ายทอดสดไปยังประชาชนทั่วประเทศ
นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประท้วงการกล่าวหา ยืนยันว่ าพรรคเพื่อไทยยังอยู่ในห้องประชุม แม้จะแพ้มติ
เวลา 11.37 น. นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. เสนอให้นับองค์ประชุม ขณะที่ นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และวิปฝ่ายค้าน เสนอให้นับองค์ประชุม โดยการขานชื่อต่อมาขอถอนการลงมติแบบขานชื่อ และ นายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เสนอให้นับองค์ประชุมแบบเสียบบัตร
เวลา 12.00 น. ผลการนับองค์ประชุม มีผู้แสดงตนเพียง 204 คน ไม่ครบองค์ประชุม ที่ต้องใช้องค์ประชุม 346 เสียง ทั้งที่ช่วงเช้ามีคนเข้าร่วมลงชื่อประชุม 650 คน
เวลา 12.02 น. ประธานรัฐสภาสั่งปิดการประชุม และนัดประชุมใหม่ วันที่ 14 ก.พ. 2568 เวลา 09.30 น.
ผลการประชุมรัฐสภา ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สามารถไปต่อได้ ก่อนหน้านี้มีความเคลื่อนไหวจาก สส.พรรคร่วมรัฐบาล รวมถึง “สว.สายสีน้ำเงิน” ที่แสดงท่าทีชัดเจนไม่เอาด้วย
ทำให้แกนนำพรรคเพื่อไทย ต้องแก้เกม เพราะไม่ต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จบลงแบบเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2564 ที่พรรคเพื่อไทย และ พรรคก้าวไกล ในขณะนั้น ตกหลุมพลางพรรคพลังประชารัฐ ลุยโหวตวาระสาม ผลคือ ถูกตีตก จนไม่สามารถหยิบยกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อรื้อมรดก ของ คสช. ขึ้นมาพิจารณาได้ จนหมดวาระของสภาฯ
ดังนั้น จึงเห็นการแก้เกมของพรรคเพื่อไทย ด้วยการยืมมือ สว.กลุ่มของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ เสนอญัตติเพื่อขอให้รัฐสภามีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา
เกมการ “แก้รัฐธรรมนูญ” ปรากฏให้เห็นชัดถึงรอยร้าว ขัดแย้ง ระหว่าง “เพื่อไทย” และ “ภูมิใจไทย” 2 พรรคร่วมรัฐบาล
พรรคภูมิใจไทย มี “สว.สายน้ำเงิน” เป็นแรงหนุน
ขณะที่ “เพื่อไทย” มี พรรคประชาชน เป็นแนวร่วมที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย
กลเกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีโอกาสสูงที่ “ภูมิใจไทย” จะชนะ
ปิดฉากการแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้อีกครั้ง...
+++
มติ“ภูมิใจไทย”ชัดไม่สังฆกรรมแก้รัฐธรรมนูญ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวหลังการประชุมพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2568 ว่า พรรคภูมิใจไทยมีมติไม่ร่วมพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่า การบรรจุวาระเข้ามา ยังมีความขัดแย้งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญปี 2564 ที่ระบุว่า ต้องมีการถามประชามติจากประชาชนก่อน
“เมื่อการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขั้นตอนการทำประชามติยังไม่ได้รับการปฎิบัติ พรรคจึงเห็นว่ามีความสุ่มเสี่ยง ไม่สามารถที่จะไปรับฟังความคิดเห็นนั้นได้ เพราะเรามี สส. ซึ่งพี่น้องประชาชนได้เลือกให้เราเข้ามาทำงาน ถึง 71 คน เราก็ต้องทำงาน จะไปรับความเสี่ยงโดยมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญออกมาเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างชัดเจนแล้วไม่ได้”
เมื่อถามว่าได้มีการคุยกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลในเรื่องนี้แล้วหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า “เราไม่ได้คุยกับพรรคแกนนำ เพราะเรื่องนี้เป็นการนำเสนอของพรรคการเมืองแต่ละพรรค ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผ่าน ครม. ไม่มีมติพรรคร่วมรัฐบาล ไม่มีการหารือในพรรคร่วมรัฐบาล แต่เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละพรรคเกี่ยวกับการเสนอกฎหมายต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของรัฐสภาล้วนๆ ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล”
เมื่อถามว่าเป็นห่วงว่าพรรคภูมิใจไทยจะเป็นแพะรับบาปขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายอนุทิน ตอบว่า “ไม่ เราไม่ได้ขวาง แต่เราต้องการทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย เราเป็นพรรคการเมืองจะทำขัดต่อกฏหมายไม่ได้ พรรคการเมืองแต่ละพรรคก็มีทีมกฎหมาย มีที่ปรึกษากฎหมาย และมีบุคคลที่เราหารือข้อกฎหมายจำนวนมาก”
นายอนุทิน ย้ำว่า ในส่วนของพรรคภูมิใจไทย ทุกคนให้ความเห็นตรงกันว่าเสี่ยงไม่ได้ เพราะมีความขัดแย้งต่อคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน
“นี่คือแนวทางของพรรคภูมิใจไทยพรรคเดียว เราไม่ต้องการบอกให้ใครทำ เราไม่ได้สนใจว่าเราจะเป็นแพะหรือเป็นอะไร แต่เรามั่นใจว่าเราได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ยืนยันว่า ไม่ใช่ไม่แก้รัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ต้องแก้ไข แต่ต้องเป็นไปตามแนวทางที่กฎหมายกำหนดไว้”
นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า ตนได้แจ้งเรื่องนี้ไปยังนายกฯ แล้ว และแจ้งให้นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ และ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.กลาโหม รับทราบแนวทางของพรรคภูมิใจไทยแล้ว