ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครังที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ นายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง สมาชิกรัฐสภา กล่าวถึงประเด็นนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ของรัฐบาลว่า ไม่มีสมาชิกรัฐสภาคนใดที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ที่ประกาศยกระดับนโยบาย "30 บาทรักษาทุกโรค" ให้เป็น "นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่" เพียงแค่ใช้บัตรประชาชนใบเดียว
รวมถึงพร้อมสนับสนุนวัคซีน HPV ส่งเสริมป้องกันควบคุมโรค NCDs และบริการทางด้านสุขภาพจิตและยาเสพติด และให้ความรู้กับประชาชน
สิ่งสำคัญ คือ จะทำอย่างไรให้รัฐบาลสามารถก้าวไปตามนโยบายที่วางไว้ได้ โดยเฉพาะนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ใช้ได้จริงตามที่บอกไว้หรือไม่ โดยได้มีการนำร่องครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567 ใน 4 จังหวัด
จากนั้นก็เพิ่มขึ้นเป็นเฟส 2 เฟส 3 ที่รวมพื้นที่กรุงเทพมหานครเอาไว้ด้วยซึ่งได้เริ่มมาแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ โดยมีการเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่า เห็น สติกเกอร์ 30 บาทรักษาทุกที่ ติดอยู่ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ร้านขายยาแห่งใดสามารถถือบัตรประชาชนเข้าไปใช้บริการได้เลย แต่เสียงของประชาชนสะท้อนกลับมาว่า ไม่สามารถเข้ารับบริการได้จริงหรือไม่
ในต่างจังหวัดที่ทำมาแล้วทุกที่พอไปได้ สภาพแวดล้อมทางศูนย์บริการต่างจังหวัดพอไปได้แต่เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีระบบที่แตกต่างจากสาธารณสุขในต่างจังหวัดมากเนื่องจากบริการสุขภาพในต้นสังกัด เช่น โรงเรียนแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลตำรวจ เป็นต้น
กระทั่งออกมาระบุว่า สามารถใช้ได้เฉพาะที่หน่วยบริการปฐมภูมิ ไปใช้บริการได้แค่ ศูนย์บริการสาธารณสุขและคลินิกชุมชนอบอุ่นเท่านั้น รวมถึง ร้านขายยา คลินิกทันตกรรม คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกแพทย์แผนไทย เป็นต้น
นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคที่ใช้มาเกือบ 20 ปีเป็นนโยบายที่ดี แต่ปัจจุบันสิ่งสำคัญ คือ นักเรียน นักศึกษา และวัยทำงานจากต่างจังหวัด ย้ายภูมิลำเนาเข้ามาในกทม.แต่ไม่ได้ย้ายสิทธิมาไม่สามารถใช้สิทธิบริการได้ หรือเมื่อมีการย้ายเข้ามาแล้ว พบว่า เต็มแล้วหรือไม่ก็อยู่ไกลจากที่พักมาก
ประการที่ 2 เรื่องของใบส่งตัว ปัญหาคือใบส่งตัวมีวันหมดอายุ ผู้มีสิทธิจำเป็นต้องกลับไปหน่วยต้นสังกัดเพื่อขอใบส่งตัวมาใหม่ ซึ่งก็ไม่สะดวก เจตนารมย์ของ "30 บาทรักษาทุกที่" เข้าใจว่า ไม่อยากให้มีใครล้มละลายจากการเจ็บป่วย นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ที่เราคาดหวังว่าจะเข้ามาแก้ไขปัญหาสามารถแก้จุดที่สำคัญตรงนี้ได้หรือไม่
ขณะที่เรื่องของงบประมาณผู้ป่วยบัตรทอง ไม่ได้โอนให้กับโรงพยาบาลโดยตรงแต่ให้ผ่านทาง สปสช. โดยมีการจ่ายเป็น 2 แบบคือ จ่ายตามรายหัว จ่าย 3,000 บาทต่อหัวประชากร ส่วนงบผู้ป่วยในจ่ายตามหน่วย 8,350 /หน่วยซึ่งปัญหาพบว่า เมื่อกลางปีจ่ายเพียง 7,000 ต่อหน่วย ลดไป 16.17% เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข ถามว่า 30 บาทรักษาทุกที่ได้จริงหรือไม่ นี่คือ เสียงสะท้อนจากประชาชน