13 กันยายน 2567 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวปิดการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขประจำปี2567 ที่ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล จ.นครราชสีมา โดยตอนหนึ่งได้กล่าวชื่นชมผู้ที่ได้รับรางวัลทุกคนทั้งระดับบุคคลและองค์กร แม้จะได้รับรางวัลระดับบุคคลแต่เวลาทำงานเราคงไม่สามารถทำงานคนเดียวกัน
ดังนั้น รางวัลระดับบุคคลก็ยังสะท้อนถึงการทำงานเป็นทีม แสดงให้ว่าการทำงานเป็นทีมมีความสำคัญ บางจังหวัดได้รับหลายรางวัลแสดงให้เห็นว่าทีมงานมีความเข้มแข็ง
ส่วนจังหวัดที่ได้รางวัลน้อย ไม่ใช่ว่าผลงานไม่ดี แต่อาจเป็นเพราะว่าไม่มีเวลาเขียน จดบันทึก เพราะการเขียนบันทึกเป็นจุดอ่อนของคนไทยต้องฝึกฝนกันเพิ่ม ทำงานแล้วก็ต้องบันทึก และจัดแสดง ภาพรวมการจัดการประชุมแล้วถือว่าเรียบร้อยดี ดูจากสีหน้าของผู้เข้าร่วมประชุมเห็นว่ามีความสุขดี ก็อาจเป็นเพราะอาหารแซ่บ แต่ที่แซ่บกว่า คือ ผลงานวิชาการที่เรานำเสนอร่วมกัน
เมื่อดูจากแนวคิดการจัดงานประชุมวิชาการปีนี้ คือ การจัดการสุขภาพอย่างยั่งยืน และการบริการสุขภาพในยุคดิจิทัล หลายคนทำงานมาหลายสิบปี
สังเกตเห็นได้ว่า ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคงเป็นไปตามยุคสมัย เมื่อก่อนเราอยู่ในยุคก่อนอนาล็อก
ต่อมา คือ ยุคอนาล็อกและตอนนี้ก็เข้าสู่ยุคดิจิทัลซึ่งตนคิดว่าระบบสุขภาพของเราเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มตัวแล้ว ส่วนอนาคตเชื่อว่าเราจะเข้าสู่ยุคควอนตัมแต่ถ้าเราอยู่ในยุคดิจิทัลแล้วยังคิดแบบอนาล็อค ก็คงไปไม่รอด
ความยั่งยืนของระบบสาธารณสุขคือสิ่งจำเป็นซึ่งความยั่งยืนก็คือ ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที ตนดีใจที่ระบบสาธารณสุขของไทยสามารถปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว และจะเกิดความยั่งยืนถ้าเรานำความรู้ ประสบการณ์มาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์
ถ้าเราคิดแบบเดิม ทำแบบเดิม ก็จะได้แบบเดิม ดังนั้นเราต้องคิดไปข้างหน้า ปรับให้เข้ากับสถานการณ์ และนำความรู้มาแลกเปลี่ยนกัน ตนคิดว่าการประชุมวิชาการไม่ใช่การมาฟังการบรรยาย ดูผลงานวิชาการ แต่การนำผลงานวิชาการมาคุยกันนอกรอบก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน
ตนเชื่อว่า ผู้บริหารพบกันคุยนอกรอบ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ จะเกิดความรู้ที่หลากหลาย และความรู้ก็จะทวีคูณ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้ตามวัตถุประสงค์ครบถ้วนทั้งความรู้ การแลกเปลี่ยนและการถ่ายทอดประสบการณ์จากอธิบดีที่กำลังจะเกษียณอายุราชการ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ
ปีหน้า จะนำนโยบายรัฐบาลมาเป็นโจทย์สำคัญในการทำงานปี 2568 ได้แก่ 1. เรื่องยาเสพติดและสุขภาพจิต 2. การยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว โดยเป้าหมายของเราคือ เมื่อสิ้นปีปฏิทิน 2568 ระบบดิจิทัลฮอสพิทอล และการเชื่อมโยงจะครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเฉพาะหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขกันเอง
ส่วนหน่วยงานภายนอกก็มีปัจจัยหลายอย่างและขึ้นกับความพร้อมของแต่ละแห่ง แต่ตนเชื่อระบบของเราจะเป็นระบบที่เข้มแข็งและระบบที่ใหญ่ นั่นหมายความว่าระบบสาธารณสุขของประเทศไทยเข้าสู๋ระบบดิจิทัลแล้วอย่างต่ำ 60-70%
3. คือ เมดิคับฮับ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และเรื่องใหม่ ที่เราต้องเร่งขยับวางพื้นฐานไว้ เรื่องนี้คงไม่สามารถสำเร็จด้วยกระทรวงสาธารณสุขฝ่ายเดียวกัน แต่เราจะเป็นจุดที่นำนโยบายรัฐบาบมาปฏิบัติเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมอย่างจริงจังในปีต่อไป
4. การป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นนโยบายของนายสมศักดิ์ ซึ่งเป็นไฮไลต์ ที่ผ่านมามีการดำเนินการเรื่องนี้ตั้งแต่ระดับ อสม. รพ.สต. รพ.ชุมชน รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป แต่สิ่งที่เราขาดในขณะนี้ คือ ทำอย่างไรที่จะบูรณาการงาน NCDs ให้เป็นเนื้อเดียวกัน
นายสมศักดิ์ รมว.สธ.ได้ให้นโยบายมาว่า เราอาจจะต้องผลักดันให้มี พ.ร.บ.เอ็นซีดี ขึ้นมา พ.ร.บ.นี้ ไม่ได้มีไว้บังคับคนออกกำลังกาย เพราะยาก หรือบังคับคนกิน แต่เป็น พ.ร.บ.ที่ส่งเสริมให้คนไทยมีพฤติกรรมสุขภาพที่เอื้อต่อการป้องกันการเกิดโรค NCDs ซึ่งจะเป็นไฮไลต์ของกระทรวงต่อไป การผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. ก.สธ. เป็นเรื่องที่ รมว.สธ.ให้ความสำคัญก็จะเป็นอีกจุดหนึ่งที่จะทำให้ระบบสาธารณสุขไทยต่อยอดไปข้างหน้าได้อย่างจริงจัง
รวมถึงการปรับโครงสร้าง สสจ. โดยจะมีกานำร่อง 12 แห่ง และผลักดันให้เขตสุขภาพให้เป็นกรมในระดับภูมิภาคซึ่งทุกเรื่องต้องอาศัยคน งบประมาณ กฎหมาย ดังนั้น การสร้างเครือข่ายบูรณาการกับทุกภาคส่วนจึงเป็นสิ่งสำคัญ