"พีระพันธุ์" ท้าฝ่ายค้านโชว์หลักฐานทุจริต ลั่นเกิดขึ้นก่อนรัฐบาลปัจจุบัน

03 เม.ย. 2567 | 11:26 น.

"พีระพันธุ์" ท้าฝ่ายค้านโชว์หลักฐานทุจริต ลั่นเกิดขึ้นก่อนรัฐบาลปัจจุบัน แนะยื่นเรื่องไปที่ ป.ป.ช. ชี้ไร้ประโยชน์ในการถกเถียงหาผู้กระทำผิด ยันพร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เกี่ยวกับประเด็นที่ถูกอภิปรายว่ามีการทุจริตเชิงนโยบาย โดยยืนยันว่าไม่มี สิ่งที่พูดเกิดขึ้นก่อนรัฐบาลปัจจุบัน 

แต่หากมีพยานหลักฐาน มีข้อมูลชัดเจนว่า กคพ.มีเจตนาทุจริต ตนก็ไม่ชอบ และขอให้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เลย ไม่มีประโยชน์ที่จะมาถกเถียงกันตรงนี้ว่าใครผิดใครถูก ตนยินดีให้ความร่วมมือทุกประการ

ส่วนประเด็นเรื่องการแก้ปัญหาพลังงานนั้น ในส่วนของค่าไฟ หลังหมดช่วงระยะเวลาที่รัฐบาลกำหนดนั้น ในช่วงต่อไปจะอยู่ที่ 4.18 บาท ส่วนกลุ่มเปราะบางจะอยู่ที่ 3.99 บาทเหมือนเดิม
 

ขณะที่เรื่องน้ำมัน ตั้งแต่รัฐบาลก่อนหน้านี้พยายามยืนราคาดีเซลอยู่ที่ 30 บาท แต่ปัจจุบันใช้ระบบกองทุนน้ำมันมา 51 ปีแล้ว ในความคิดเห็นส่วนตัวแล้ว ไม่เห็นด้วยที่จะนำเงินไปรักษาระดับราคาน้ำมัน โดยได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานช่วยพิจารณาปรับปรุงในส่วนนี้ 

ในส่วนของน้ำมันมีราคา 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นราคาแท้จริง โดยที่ผ่านมาไม่เคยทราบต้นทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งก็แปลกใจว่าไม่เคยมีกำหนดว่าต้องแจ้งต้นทุน ตนจึงออกประกาศกระทรวงพลังงานลงนามเมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา กำหนดให้ผู้ประกอบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงต้องแจ้งต้นทุนให้เราทราบในวันที่ 15 เม.ย.นี้ถือเป็นครั้งแรก ดังนั้นในเรื่องราคาน้ำมัน ตนจะปรับปรุงรูปแบบการทำงานและโครงสร้างต่างๆ ให้ดีขึ้น

ด้านภาษีน้ำมันก็น่าแปลกว่า เป็นภาษีสรรพสามิต ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นฝ่ายเก็บ แต่กระทรวงพลังงาน กลับต้องรับผิดชอบเรื่องราคา 

อย่างไรก็ดี ที่น่าแปลกต่อไป คือ การกำหนดภาษีสรรพสามิต ซึ่งมีคณะกรรมการกองทุนน้ำมันเป็นฝ่ายกำหนดเพดานว่าราคาไม่ควรเกินเท่าไรนั้น ปรากฏว่าอำนาจนี้หายไป ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องแก้ไขเพื่อให้เรามีอำนาจกำหนดส่วนนี้ได้

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อไปอีกว่า เรื่องที่จะทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีต้นทุนสูงขึ้นนั้น ในส่วนของ 5 พันเมกะวัตต์ ตรวจสอบแล้วราคาอยู่ที่ 2 บาทกว่า ซึ่งไม่ได้เป็นภาระ แต่กลับช่วยลดภาระด้วยซ้ำไป 

โดยยืนยันว่าราคาที่ซื้อขายกัน ไม่ได้ทำให้เกิดภาระกับ กฟผ. อย่างที่กล่าวมา ขณะที่ในส่วนของ 3 พันเมกะวัตต์ซึ่งระบุว่า เป็นการกีดกันหรือเปิดกว้างนั้น ตนเห็นด้วยกับที่กล่าวมา ขณะนี้ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนหลักเกณฑ์นี้แล้ว ยืนยันว่าทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนรัฐบาลนายเศรษฐาเข้ามา