เปิด "เงินเดือน - สิทธิประโยชน์ สส." หลัง "บิ๊กป้อม" โดนแซะโดดประชุมสภา

04 มี.ค. 2567 | 03:11 น.

เปิด "เงินเดือน - สิทธิประโยชน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร" หลังเกิดประเด็น "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" ควันออกหู ทั้งถูกนักข่าวจี้ถามและสส.ก้าวไกล “ประกาศคนหาย” เพราะไม่เห็นเข้าร่วมประชุมสภาแม้แต่นัดเดียว

KEY

POINTS

  • เปิดเงินเดือน สส.หลัง บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร ควันออกหูถูกจี้ถาม ไม่เข้าร่วมประชุมสภาแม้แต่วันเดียว
  • นอกจาก เงินประจำตำแหน่ง-เงินเพิ่มแล้ว สิทธิประโยชน์รัฐสภามีค่ารักษาพยาบาล และกองทุนผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา
  • เบิกค่าศึกษาบุตร ทุพพลภาพ-ถึงแก่กรรมได้รับเงินช่วยเหลือ ไม่นับรวมเบี้ยประชุม ค่าพาหนะเดินทาง  

บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่สวมหมวก สส.ปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับที่ 1 อีกใบหนึ่ง ถึงกับ “ควันออกหู” หลังจากถูกนักข่าวจี้ถาม โดน สส.พรรคก้าวไกลแซว “ประกาศคนหาย” ไม่เข้าประชุมสภา “แม้แต่วันเดียว” 

ล่าสุด “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทวิตว่า “สส.ขาดประชุมได้ไม่เกิน 1 ใน 4 ของวันประชุมครับ ถ้าเกินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานสภา จะสิ้นสุดสมาชิกภาพครับ” 

ก่อนหน้านี้ พรรคพลังประชารัฐโดนแซะเรื่อง ยึด “ห้องหลังบัลลังก์” ไปใช้โดยพลการ จากสมบัติส่วนรวมกลายเป็น “สมบัติส่วนตัว” โดยหลังจากนี้จะมีการ “ร่างระเบียบใช้ห้องหลังบัลลังก์” เป็น “กติกากลาง” ในการใช้ห้องหลังบัลลังก์ร่วมกัน 

สำหรับ “เงินเดือนสส.” ตามพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ พ.ศ. 2555

  • ประธานสภาผู้แทนราษฎร เงินประจำตำแหน่ง 75,590 บาท เงินเพิ่ม 50,000 บาท  
  • ประธานวุฒิสภา เงินประจำตำแหน่ง 74,420 บาท เงินเพิ่มเดือนละ 45,500 บาท
  • รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เงินประจำตำแหน่ง 73,240 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท 
  • รองประธานวุฒิสภา เงินประจำตำแหน่ง 73,240 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท
  • ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เงินประจำตำแหน่ง 73,240 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท 
  • สส.เงินประจำตำแหน่ง 71,230 บาท เงินเพิ่ม 42,330 บาท 
  • สว.เงินประจำตำแหน่ง 71,230 บาท เงินเพิ่ม 42,330 บาท

นอกจากนี้ยังมีสิทธิประโยชน์สวัสดิการรักษาพยาบาลของ สส.และ สว. ประกอบด้วย การรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการและเอกชน 

กรณีการรักษาพยาบาลผู้ป่วยใน 

  • ค่าห้องและค่าอาหาร/วัน (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง) 4,000 บาท 
  • ค่าห้อง ICU CCU / วัน (สูงสุด 7วัน/ครั้ง) 10,000 บาท 
  • ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป/ครั้ง 100,000 บาท 
  • ค่ารถพยาบาล 1,000 บาท 
  • ค่าแพทย์ผ่าตัด/ครั้ง 120,000 บาท 
  • ค่าแพทย์เยี่ยมไข้/วัน (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง) 1,000 บาท 
  • ค่าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค/ครั้ง 4,000 บาท 
  • ค่าคลอดบุตร คลอดธรรมชาติ 20,000 บาท คลอดผ่าตัด 40,000 บาท 
  • รักษาทันตกรรม/ปี 5,000 บาท 

กรณีรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก 

  • ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป/ปี 90,000 บาท 
  • อุบัติเหตุ ฉุกเฉิน/ครั้ง 20,000 บาท
  • การตรวจสุขภาพประจำปี 7,000 บาท 

รวมถึงยังมีกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา 

  • กรณีเงินเงินทุนเลี้ยงชีพ ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพเป็นรายเดือน 9,000 - 35,600 บาท 
  • กรณีค่ารักษาพยาบาล เบิกได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และคลินิก ผู้ป่วยในเบิกได้ 50,000 บาทต่อปี ผู้ป่วยนอก เบิกได้ 30,000 บาทต่อปี 
  • กรณีการให้การศึกษาบุตร เปิดได้ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา-ปริญญาตรี เบิกได้ไม่เกินอัตราที่กรมบัญชีกลางกำหนด เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายจำนวน 2 คน เบิกได้ทั้งสถานศึกษาของรัฐและเอกชนในประเทศไทยเท่านั้น
  • กรณีทุพพลภาพ ได้รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 5,000 บาท 
  • กรณีถึงแก่กรรม ได้รับเงินช่วยเหลือ 100,000 บาท ค่าพวงหรีด 1,000 บาท 

ไม่นับรวมประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น เช่น เบี้ยประชุม เงินชดเชยค่าพาหนะเดินทาง