ประกาศคำวินิจฉัยศาลรธน.คดี“พิธา-ก้าวไกล”ล้มล้างการปกครองฯ ฉบับเต็ม

28 ก.พ. 2567 | 12:07 น.

ราชกิจจาฯ ประกาศคำวินิจฉัยศาลรธน. ฉบับเต็ม กรณีมีมติเอกฉันท์ “พิธา-ก้าวไกล” แก้ ม.112 เป็นการล้มล้างการปกครองฯ มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลาย แบ่งแยกสถาบันออกจากชาติ เป็นเหตุให้สถาบันชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรือ อ่อนแอลง

วันนี้(29 ก.พ. 67) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกสร อดีตทนายความอดีตพุทธะอิสระ ได้ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยว่า การกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่

โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของ นายพิธา และพรรคก้าวไกล เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อ “ล้มล้างการปกครองฯ” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง 

ตอนหนึ่งของคำวินิจฉัยระบุว่า ผู้ถูกร้องทั้ง 2 ยังมีพฤติการณ์หาเสียงทางการเมือง เพื่อเสนอแนวความเห็นทางการเมืองแก่ประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง หากประชาชนทั่วไปไม่รู้เจตนาแท้จริงของผู้ถูกร้องทั้ง 2 อาจหลงกับความเห็นผ่านการเสนอร่างกฎหมาย และนโยบายของพรรค 

                         ประกาศคำวินิจฉัยศาลรธน.คดี“พิธา-ก้าวไกล”ล้มล้างการปกครองฯ ฉบับเต็ม

ประกอบกับศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2562 วินิจฉัยว่า สาระสำคัญหลักการขั้นพื้นฐานของระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ของไทย ดังระบุในความของพระราชหัตถเลขา 1/60 ลงวันที่ 14 พ.ย. 2547 ว่า พระมหากษัตริย์ และ พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง ดำรงฐานะอยู่เหนือการเมือง โดยเฉพาะการไม่เข้าไปมีบทบาท ฝักฝ่าย ต่อสู้ หรือรณรงค์ทางการเมือง อันอาจนำมาซึ่งการโจมตี ติเตียน และกระทบกระเทือนต่อความเป็นกลางของสถาบันฯ ต้องถูกลบล้างไป

ดังปรากฏเป็นที่ประจักษ์ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 6/43 วินิจฉัยว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตย ทรงดำรงอยู่เหนือการเมือง เป็นกลางการเมือง การที่ผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอแก้ไขมาตรา 112 เพื่อลดสถานะของสถาบันฯ เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้นโยบายพรรคโดยนำสถาบันฯ หวังผลคะแนนเสียง และประโยชน์ในการชนะเลือกตั้ง 

มุ่งหมายให้สถาบันฯ อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน ทำให้สถาบันฯเป็นฝักใฝ่ ต่อสู้ แข่งขัน หรือรณรงค์ทางการเมือง อันอาจนำมาซึ่งการโจมตี ติเตือน ไม่คำนึงหลักการพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีหลักสำคัญว่า พระมหากษัตริย์ต้องดำรงฐานะอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมือง

                              ประกาศคำวินิจฉัยศาลรธน.คดี“พิธา-ก้าวไกล”ล้มล้างการปกครองฯ ฉบับเต็ม

การที่ผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอแก้ไข มาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรคหาเสียงเลือกตั้งดังกล่าว มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันฯ เป็นเหตุให้สถาบันฯ ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เป็นเหตุให้นำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องทั้ง 2 ฟังไม่ขึ้น

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 2 ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้ง 2 เลิกการกระทำ แสดงความเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้ยกเลิกมาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ 49 และ พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 74

คลิกอ่านเพิ่มเติม: คำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองฯ