ปมตั้งผบ.ตร.- ตั๋วผู้กำกับ สะเทือนสถานะ เศรษฐา เปลี่ยนตัวนายก ฯ

25 ธ.ค. 2566 | 20:15 น.

ทุกวงล้อมนักการเมืองพรรครัฐบาล-ฝ่ายค้าน และแกนนำม็อบทุกสีเสื้อ ทั่วกระดานการเมือง ไม่มีบทสนทนาใดเผ็ดร้อนเท่ากับเสียงลือเสียงเล่าอ้าง เศรษฐา ประมุขตึกไทยคู่ฟ้าอยู่ไม่ครบวาระ-เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี

อุบัติเหตุทางการเมืองปี 67 ที่จะเกิดขึ้นเขย่าสถานะนายกรัฐมนตรีของ “เศรษฐา ทวีสิน” ต่อคิวรอบรรจุวาระเข้าสภา โดยเฉพาะ “กฎหมายการเงิน” ที่ส่งผลต่อการอยู่-การไปของรัฐบาลเศรษฐาทั้งคณะ  

ทั้งการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ตามปฏิทินงบประมาณจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาพิจารณาในวาระที่ 1 ระหว่างวันที่ 3-4 มกราคม 2567

พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ดิจิทัลหมื่นบาท วงเงิน 5 แสนล้านบาท ตามไทม์ไลน์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะส่งความเห็นทางกฎหมายกลับมายังกระทรวงการคลังในเดือนมกราคม 67 โดยนายเศรษฐามีธงไว้ให้ได้ใช้เงินพฤษภาคม 67 

"วิษณุ เครืองาม" เนติบริกร ออกจากม่านเมฆ ฟันธงฉับ หากร่างพ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ไม่ผ่านการพิจารณาจากสภาใน "วาระแรก" เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล คือ "ยุบสภา" หรือ "ลาออก" เพราะถือว่าไม่ไว้ใจรัฐบาล และเป็นไปตามธรรมเนียม แต่กฎหมายบังคับ 

"เป็นธรรมเนียมประเพณี​ ไม่เช่นนั้นจะถูกตำหนิติเตียน ในสมัยจอมพล ป.​ พิบูลสงคราม​ เมื่อกฎหมายไม่ผ่าน ก็ลาออก รัฐบาลพล.อ.เปรม​ ติณสูลานนท์ เมื่อเสนอกฎหมายเข้าไปแล้วไม่ผ่านก็ประกาศยุบสภา ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ"

นายวิษณุกล่าวว่า หากร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ผ่านวาระแรกไปได้ แต่ไม่ผ่านในวาระ 2 หรือ วาระ 3 หรือไม่ผ่านในชั้นวุฒิสภา ถือว่าพ้นมือ-พ้นความรับผิดชอบของรัฐบาลไปแล้ว ไม่ต้องยุบสภาหรือลาออก 

ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ที่พรรคก้าวไกลในฐานะพรรคแกนนำฝ่ายค้าน เก็บข้อมูล-จัดทัพขุนพลฝีปากแจ๋ว ไว้ลับฝีปาก รัฐมนตรีที่เห็นเงียบ ๆ แต่ฟาดเรียบทุกโครงการ อย่างน้อยหวังผลให้ขยายผลกระเทือนไปถึงการปรับครม.เศรษฐา  

พุ่งเป้า-ล็อกเป้าใหญ่ จองกฐินนายเศรษฐา ในฐานะ “หัวหน้ารัฐบาล” เรียกหาความรับผิดชอบทางการเมืองในนโยบายประชานิยม “แจกเงินดิจิทัลหมื่นบาท” ติดปลายนวมหาคะแนนเสียงเข้ากระเป๋าพรรคเพื่อไทย หลังจาก "เทหมดหน้าตัก"   

การแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนใหม่ และการ “หลุดปาก” กลางที่ประชุม สส.พรรคเพื่อไทย เรื่องการแต่งตั้ง-โยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับ “ผู้กำกับ” 

เศรษฐา ประกาศในที่สาธารณะทุกฟลอร์มั่นอก-มั่นใจเสถียรภาพ 314 เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลจะสามารถฟันฝ่าทุกสมรภูมิในสภาไปได้ 
ทว่านอกจากเกมการเมืองในสภาแล้ว เศรษฐายังต้องแก้กลกฎหมายในองค์กรอิสระ หลังจากมี “คำร้อง” ของ “นักร้อง” อย่าง นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ที่อยู่ใน ป.ป.ช. และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

  • คำร้องให้ตรวจสอบนายเศรษฐา ในฐานะประธานคณกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) กรณี “ตั๋วผู้กำกับ” เป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 185(3) ประกอบ มาตรา 186 วรรคสอง 

รวมถึงอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ข้อ 7 ข้อ 11 ข้อ 12 ข้อ 15 ข้อ 17 ข้อ 21 และข้อ 26

  • คำร้องขอให้ไต่สวนและมีความเห็นกรณีนายเศรษฐา ซื้อผ้ามัดหมี่จำนวน 6,000 บาท มอบให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.พ.ศ.2561 มาตรา 128 และฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่
  • คำร้องขอให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบการกระทำที่ไม่เป็นไปตามพ.ร.บ. ว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 53 และอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 62 วรรคแรก มาตรา 140 หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 219 ประกอบ พรป.ป.ป.ช.2561 กรณีออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท มาดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท  

หรือกรณี “ทนายอนันต์ชัย” - พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีต สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบนายเศรษฐา ในฐานะประธาน ก.ตร. แต่งตั้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็น ผบ.ตร. โดยมิชอบ 

“สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีต กกต. โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ถึงพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและ บรรดา สส. พ้นจากตำแหน่งได้ ด้วยผิดรัฐธรรมนูญหลายมาตรา

  • มาตรา 185 (3) ห้าม สส. หรือ สว. ก้าวก่ายแทรกแซง ในการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง ข้าราชการ
  • มาตรา 186 ห้ามรัฐมนตรี (รวมนายกรัฐมนตรี) ก้าวก่าย การแต่งตั้งโยกย้าย ข้าราชการ
  • มาตรา 234 (1) ให้อำนาจ ป.ป.ช. ไต่สวน กรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ
  • มาตรา 235 (2) หาก ป.ป.ช. เห็นด้วยด้วยเสียงเกินครึ่ง ให้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการสูงสุด เพื่อส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 

ศาลรับฟ้อง ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ศาลบอกผิด ต้องพ้นจากตำแหน่ง เพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต และอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปีก็ได้ 

อุบัติเหตุทางการเมืองในปี 2567 จะกระเทือนสถานะ “เศรษฐา” เขย่าเก้าอี้นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ได้แค่ไหน และจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลัง สว.250 คน ที่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีหมดวาระหรือไม่ อย่ากระพริบตา