รายงานพิเศษ : ศาลรัฐธรรมนูญจุดชี้ขาดการเมืองไทย

26 พ.ย. 2566 | 02:30 น.

คดี “ธนาธร” ถือหุ้นสื่อ และคดีเงินกู้ 191 ล้าน ส่งผลสะเทือนต่ออนาคตทางการเมืองของ ธนาธร และ พรรคอนาคตใหม่ มาแล้ว มาถึงกรณี พิธา ถือหุ้นสื่อ และ คดี ม.112 จะส่งผลสะเทือนต่อ พิธา และ พรรคก้าวไกล หรือไม่ มารอลุ้นกัน : รายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

คดีทางการเมืองที่อยู่ในมือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ขณะนี้มี 3 กรณีที่อยู่ในความสนใจของคอการเมืองว่า สุดท้ายแล้วผลการวินิจฉัยจะออกมาเป็นเช่นใด

ลุ้ย“พิธา”พ้นไม่พ้นส.ส.

คดีแรกเป็นกรณีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6 ) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ จากกรณีเป็นผู้ถือหุ้นสื่อ ใน บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ อยู่ในวันสมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2566 ศาลฯ ได้มีการอภิปรายและเห็นควรไต่สวนพยานบุคคลต่อไป จึงกำหนดนัดไต่สวนพยานบุคคล ในวันพุธที่ 20 ธ.ค. 2566 เวลา 9.30 น

คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณา และสั่งให้ นายพิธา ผู้ถูกร้อง หยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.นับแต่วันที่ 19 ก.ค. 66 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย 

 

คดี พิธา ถือหุ้นสื่อ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า ขัดรัฐธรรมนูญ จะถือว่าขาดสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. เฉพาะบุคคลเท่านั้น ไม่ทำให้พรรคก้าวไกลต้องถูกยุบ

ย้อนคดี“ธนาธร”ถือหุ้นสื่อ

สำหรับคดีถือหุ้นสื่อในอดีตนั้น ย้อนไป เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2562 หลังการเลือกตั้งได้เพียง 2 วัน นายศรีสุวรรณ จรรยา ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบการถือหุ้นสื่อของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ที่ห้ามส.ส.เป็นเจ้าของ หรือ ผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ หรือไม่

ต่อมาวันที่ 16 พ.ค. 2562 กกต.มีมติเอกฉันท์ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยสมาชิกภาพของ “ธนาธร” ให้สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 82 วรรคสี่ กรณีความปรากฏหรือมีเหตุอันควรสงสัยต่อ กกต. ว่า ธนาธร เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. 

กระทั่ง 20 พ.ย. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 วินิจฉัยให้ นายธนาธร สิ้นสภาพการเป็น ส.ส. นับจากวันที่ 23 พ.ค. 2562 ที่ศาลฯ รับคําร้อง และสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.

เนื่องจากพยานหลักฐาน บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ที่ ธนาธร ถือหุ้น เป็นบริษัทที่ระบุวัตถุประสงค์ในการยื่นจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ว่า ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชน พบมีรายได้จากการขายนิตยสาร ให้บริการโฆษณาถือเป็นการประกอบธุรกิจสื่อสารมวลชนและยังคงประกอบกิจการอยู่ ไม่มีการจดทะเบียนยกเลิกบริษัท หรือ เสร็จการชำระบัญชี

ปม“ม.112”ลุ้นยุบก้าวไกล

ส่วนคดีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของพระพุทธะอิสระ ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2566 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ นายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในขณะนั้น ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ.. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่ 

ศาลรัฐธรรมนูญมีการอภิปราย และเห็นควรไต่สวนพยานบุคคลต่อไป จึงกำหนดวันนัดไต่สวนพยานบุคคลในวันจันทร์ที่ 25 ธ.ค. 2566 เวลา 9.30 น.

คดีนี้เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และดำเนินกระบวนพิจารณารวบรวมพยานหลักฐานมาแล้ว 37 ครั้ง 

                              รายงานพิเศษ : ศาลรัฐธรรมนูญจุดชี้ขาดการเมืองไทย

ย้อนคดีล้มล้างการปกครอง

สำหรับกรณีล้มล้างการปกครองฯ นั้น เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยให้ข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ของแกนนำคณะราษฎร เข้าข่ายการกระทำที่ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสั่งให้เลิกการกระทำ รวมถึงการกระทำของเครือข่ายในอนาคต

โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีผลผูกพันทุกองค์กร ดังนั้น การเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบัน ซึ่งรวมถึงการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงนำมาสู่การฟ้องร้องว่า ล้มล้างการปกครองฯ ดังกล่าว

ผลของคดีนี้ หากศาลฯ วินิจฉัยว่า พฤติกรรมของพรรคก้าวไกล เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ คำวินิจฉัยดังกล่าวจะกลายเป็น “สารตั้งต้น” นำไปสู่การยื่นคำร้องให้ยุบพรรคก้าวไกลได้

ส่องคดียุบพรรคอนาคตใหม่ 

สำหรับกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ ก่อนจะกลายมาเป็นพรรคก้าวไกลนั้น เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2562 นายศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นคำร้องให้ กกต.ตรวจสอบสัญญาการกู้เงิน จำนวน 191.2 ล้านบาท ระหว่าง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (ผู้ให้กู้) กับ พรรคอนาคตใหม่ (ผู้กู้) ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 

วันที่ 11 ธ.ค. 2562 กกต. มีมติยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากเห็นว่าการกู้ยืมเงินจาก นายธนาธร ของพรรคอนาคตใหม่ เป็นการกระทำฝ่าฝืน มาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 

ต่อมาวันที่ 21 ก.พ. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า การกู้เงินของพรรคอนาคตใหม่ ไม่เป็นไปตามปกติวิสัยของการให้กู้ยืมเงิน การกระทำของ นายธนาธร ที่ให้กู้เงินแก่พรรคอนาคตใหม่จำนวนมาก ย่อมก่อให้เกิดการครอบงำพรรคการเมือง บงการพรรค เป็นธุรกิจการเมือง มีเจตนาหลีกเลี่ยงการรับบริจาค ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 66 ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72 

จึงมีคำสั่งให้ “ยุบพรรคอนาคตใหม่” เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคการเมือง เป็นระยะเวลา 10 ปี

จากคดี “ธนาธร” ถือหุ้นสื่อ และคดีเงินกู้ 191 ล้าน ส่งผลสะเทือนต่ออนาคตทางการเมืองของ ธนาธร และ พรรคอนาคตใหม่ มาแล้ว มาถึงกรณี พิธา ถือหุ้นสื่อ และคดี ม.112 จะส่งผลสะเทือนต่อ พิธา และ พรรคก้าวไกล หรือไม่ มารอลุ้นกัน... 

                                   +++
 

ย้อนรอยคดีอดีตนายกฯ

กรณี “ศาลรัฐธรรมนูญ” กำลังจะตัดสินชี้ชะตาอนาคตของ พิธา และ พรรคก้าวไกล ในเวลาอีกไม่ช้าไม่นานนี้ ในอดีตที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญ และศาลฎีกานักการเมือง ก็เคยตัดสินชี้ชะตา “อดีตนายกฯ” หลายราย ซึ่งมีผลต่อการเมืองไทยมาแล้ว 

เริ่มจากวันที่ 3 ส.ค. 2544 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 8 ต่อ 7 เสียง ตัดสินให้ ทักษิณ ชินวัตร พ้นผิดคดีซุกหุ้น ภาค 1 ส่งผลให้พ้นข้อกล่าวหาไป

ถัดมา เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 6 ต่อ 3 ตัดสินให้ สมัคร สุนทรเวช มีความผิดในคดีชิมไปบ่นไป ส่งผลหลุดจากเก้าอี้นายกฯ

ขณะที่ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2565 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีมติ 6 ต่อ 3 วินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกฯ ยังไม่ครบ 8 ปี โดยต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับ คือ 6 เม.ย. 2560 ส่งผลดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไปได้