มติศาลรธน. 5 ต่อ 4 ตีตกคำร้อง ป.ป.ช. คาดปมขอไม่เปิดผลสอบนาฬิกาหรู“บิ๊กป้อม”

22 พ.ย. 2566 | 10:05 น.

มติศาลรธน. 5 ต่อ 4 ตีตกคำร้อง ป.ป.ช. ปมขอวินิจฉัยไม่เปิดเอกสารตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เหตุไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ คาดเกี่ยวกับคดีศาลปกครองที่สั่งเปิดผลสอบนาฬิกาหรู "บิ๊กป้อม"

วันนี้ (22 พ.ย. 66) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย ในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป ป.ช.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ 

กรณีมีมติมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร โดยอาศัยบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เป็นหน้าที่และอำนาจ เป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 59 และมาตรา 63 และพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 36 และมาตรา 180 ที่กฎหมายบัญญัติไว้ เป็นการเฉพาะ ต่อมามีการโต้แย้งอำนาจดังกล่าว ป.ป.ช.จึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 

โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติให้องค์กรอิสระมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณา วินิจฉัยในปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่เป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจระหว่างองค์กรอิสระตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป 

การยื่นคำร้องในกรณีดังกล่าวจะต้องเป็นหน้าที่ และอำนาจที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยตรง หรือ มีการกำหนดบทบาทและอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญได้บัญญัติหน้าที่และอำนาจของผู้ร้องไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 วรรคหนึ่ง (1) (2) (3) และ (4) 

และพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 28 กรณีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการซึ่งมิใช่หน้าที่และอำนาจของป.ป.ช.ผู้ร้อง ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยตรง บุคคลใดได้รับความเดือดร้อน หรือ เสียหาย หรือ อาจจะเดือดร้อนหรือเสียหาย โดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ย่อมมีสิทธิขอให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารทางราชการดังกล่าว หากมีข้อโต้แย้งประการใด ย่อมเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษา 

กรณีตามข้อกล่าวอ้างของป.ป.ช.จึงมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำร้องของป. ป.ช.ดังกล่าว คาดว่าน่าจะมาจากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ ป. ป.ช. เปิดเผยรายงานผลการสอบสวนคดี นาฬิกาหรูของ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ถูกกล่าวหาว่าจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จ หรือ ปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ 

ตามคําวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผย ข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค 333/2562 แก่ นายวีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายต้านคอร์รัปชัน  ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคําพิพากษา 

ต่อมาป.ป.ช.ได้มีการยื่นคำฟ้องขอให้ศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ และศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับพิจารณาคดีใหม่

โดยเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ป.ป.ช.มีมติ 4 ต่อ 1 ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา หรือ คำสั่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ปฏิบัติ ว่าขัดหรือแย้งพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 36 และมาตรา 180 หรือไม่