นักวิชาการ เสียงแตก ปมรัฐบาลเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ?  

14 ก.ย. 2566 | 10:50 น.

เปิดมุมมอง 2 นักวิชาการ "ทวี" อดีตอธิบดี ม.สุโขทัยธรรมาธิราช "สมชัย" อดีต กกต. ขยายประเด็นร้อน รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เป็น รัฐบาลรัฏฐาธิปัตย์ หรือไม่ มีอำนาจยกเลิกคำสั่ง และประกาศ คสช. ได้จริงหรือ  

รัฐบาลรัฏฐาธิปัตย์ กลายเป็นประเด็นเดือดหลังจากที่ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เตรียมยกเลิกคำสั่ง และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ซึ่งสามารถทำได้เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้เป็นรัฏฐาธิปัตย์นั้นเกิดความสับสนขึ้นในกลุ่มประชาชนว่า ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้เป็นอย่างไร และรัฐบาลของนายเศรษฐานั้นสามารถทำได้แค่ไหน และมีขอบเขตอย่างไร 

นายทวี สุรฤทธิกุล อดีตคณบดีสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" โดยอธิบายหลักการให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า คำว่า รัฏฐาธิปัตย์ นั้นหลายคนอาจนึกว่า เป็นเฉพาะรัฐประหาร ซึ่งคำว่า รัฏฐาธิปัตย์ หมายถึง ผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในรัฐ มาจากคำว่า รัฐ + อธิปัตย์ คือ ผู้ที่ถืออำนาจอธิปไตยของรัฐ 

ทั้งนี้ ในมุมของนักรัฐศาสตร์แล้ว รัฐบาล ถือเป็นหนึ่งในรัฏฐาธิปัตย์ เพราะฉะนั้น การดำเนินการของรัฐบาลที่จะสั่งการใด ๆ ในหน้าที่ของฝ่ายบริหารที่ในสมัย คสช.เข้ามาบริหารโดยใช้อำนาจเด็ดขาด มีกฎหมายออกมาเพื่อใช้ในการทำงานมากมายซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับรัฐบาลใหม่ที่จะดำเนินการยกเลิก เพราะหากนับตั้งแต่ยกเลิกกฎหมายพิเศษ ม.44 แล้วก็มีหลายส่วน หลายคณะที่ถูกตั้งขึ้นมาในช่วงนี้ก็ไม่มีงานทำ อย่างไรก็ดี เข้าใจว่า กฎหมายบางส่วนนั้นก็ถูกยกเลิกไปแล้วโดยอัตโนมัติซึ่งรัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องมายกเลิกอีก นายทวี กล่าว

ก่อนตั้งข้อสังเกตต่อว่า เป็นเรื่องปกติกฎหมายพิเศษที่ออกมาก่อนหน้านี้ของ คสช.เพื่อให้สามารถทำงานได้จึงต้องออกมาเป็นคำสั่งโดยอาศัยกฎหมายพิเศษเพราะบางเรื่องจำเป็นต้องมีคนที่รับผิดชอบ อาทิ กรรมการ หรือ คณะทำงานชุดต่าง ๆ ต่อเนื่องถึงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐบาลก่อนหน้านี้ตั้งขึ้นมาเพื่อใช้เป็นหลักการทำงานภายใต้กฎหมายรองรับ  

ทั้งนี้ กฎหมายบางประเภทที่รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องออกกฎหมายมายกเลิกคำสั่ง หรือ ยกเลิกประกาศของ คสช. รวมถึงกฎหมายบางส่วนที่ออกโดยรัฐบาลก่อนหน้านี้ ยกตัวอย่างเช่น  กฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ ที่มีการตั้งคณะกรรมการข้าว คณะกรรมการถั่วเหลือง ชุดต่าง ๆ เอาไว้ เมื่อมีรัฐมนตรีใหม่เข้ามาก็อาจจะมีการสั่งยกเลิกได้ หรือ ปรับใหม่ กฎหมายเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจนายกฯ แต่อย่างใด ใช้อำนาจรัฐมนตรีเปลี่ยนได้เลย  

ขณะที่กฎหมายบางเรื่องที่ออกตามพระราชบัญญัติ หรือ ออกตามรัฐธรรมนูญ 2560 เช่น กรณีการตั้งคณะทำงานภายใต้รัฐธรรมนูญปี 60 กฎหมายลักษณะนี้จำเป็นต้องเสนอเป็นพระราชบัญญัติเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ยกตัวอย่างเช่น การตั้ง กอ.รมน. หากจะปรับแก้ก็ต้องมีการนำเสนอเข้าสู่สภาเพื่อพิจารณาตามขั้นตอน เป็นต้น ซึ่งจะต้องไปดูตั้งแต่เรื่องของกฎอัยการศึกซึ่งมีศักดิ์เท่ารัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี กฎหมายลักษณะนี้มีอยู่น้อยมาก

"การที่โฆษกรัฐบาลกล่าวเช่นนั้นอาจเป็นการส่งสัญญาณถึงประชาชนว่า รัฐบาลกล้าที่จะทำในเรื่องเหล่านี้ กล้าที่จะยกเลิกคำสั่ง คสช. หรือ ประกาศ คสช. เพราะมีอำนาจสูงสุด เป็นผู้ที่ถืออำนาจอธิปไตยของรัฐแล้ว" นายทวี กล่าวทิ้งท้าย 

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง

ขณะที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า "ขออภัยจริง เห็นข่าวท่านโฆษกแล้ว สงสารรัฐบาลทันที ท่านบอกว่า คำสั่งนายกรัฐมนตรี เทียบเท่า มติ ครม. และ มติ ครม. สามารถเหนือคำสั่งคสช. 

ใจจริงก็อยากจะเชียร์ให้ทำเช่นนั้นได้ จะได้ใช้คำสั่งนายกรัฐมนตรี ล้างคำสั่ง คสช. ที่แย่ ๆ ให้หมด แต่ในทางกฎหมาย คำสั่ง คสช.มีฐานะ เทียบเท่า พ.ร.บ.การจะแก้หรือยกเลิกคำสั่ง คสช. ต้องเสนอเป็น กม.เข้าสภาฯ ไม่สามารถใช้มติครม.ได้

อีกทั้งคำสั่ง หรือ การสั่งการของนายกรัฐมนตรี ไม่เท่ามติครม. ไม่เช่นนั้น จะเสียเวลาประชุมครม.ทำไม นายกรัฐมนตรีสั่งเลยไม่ดีกว่าหรือ

อีกทั้งการกล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ก็เป็นความเข้าใจผิด เพราะรัฏฐาธิปัตย์ หรือการเป็นผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่สุดในรัฐ นั้น คือ คณะรัฐประหาร ที่รวมอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการไว้ที่เดียว สถานะปัจจุบันของรัฐบาล เป็นแค่ หนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตย หาใช่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ไม่

ทั้งหมดนี้ คือ เหตุผลว่า ทำไมเราจึง ต้องมีรองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย และไม่ควรมีสัตวแพทย์เป็นโฆษกรัฐบาล