"ชลน่าน" ประกาศลุยนโยบาย "บัตรประชาชน" ใบเดียวรักษาได้ทุกที่

12 ก.ย. 2566 | 09:20 น.

หมอชลน่าน ประกาศนำร่อง บัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่ เตรียมตั้ง "คกก.พัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ"เปลี่ยนจากกระทรวงขอเงินเป็นกระทรวงหารายได้ ผลักดันแก้ปัญหาเด็กแรกเกิดเป็น "วาระแห่งชาติ" 

ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญ เป็นวันที่ 2 ของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมนั้น

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สาธารณสุข) ลุกขึ้นชี้แจงนโยบายทางด้านสาธารณสุขโดยตอบข้อซักถามสมาชิกรัฐสภาประเด็นต่าง ๆ ในเชิงของนโยบายรัฐบาลว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้แต่ละกระทรวงนำคำแถลงนโยบายของรัฐบาลนั้นไปแปลงเป็นนโยบายในเชิงปฏิบัติโดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขนั้นจะได้แถลงนโยบายกระทรวงในวันที่ 22 ก.ย.นี้ 

สำหรับนโยบายของรัฐบาลบางเรื่องที่ได้ประกาศเป็น Quick Win นั้นได้ดำเนินการนำร่องไปบ้างแล้วโดยดำเนินการภายใต้กรอบ 5 ด้านซึ่งประกอบด้วย แผนยุทธศาสตร์ชาติ ความต้องการของประชาชน นโยบายของพรรคการเมือง เป้าหมายในอนาคตและผลลัพธ์สุขภาพ ที่ต้องสอดรับกันก่อนกำหนดออกมาเป็นนโยบายสาธาณสุขปี 2567 พร้อมยกระดับกระทรวงสาธารณสุขใหม่ จากกระทรวงที่ใช้เงินเป็นกระทรวงที่จะสร้างเม็ดเงินและหาเงินให้กับประเทศด้วยการให้บริการในเชิงสุขภาพ

พร้อมกันนี้เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าไม่เป็นเอกภาพนั้นจะเสนอให้มีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง นั่นก็คือ "คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ" ซึ่งมีนายกฯเป็นประธาน ที่แยกออกมาจาก "คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ" 

นอกจากนี้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ประเทศไทยประกาศเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ หรือ เมดดิคอลฮับ ซึ่งสร้างความกังวลว่า จะทำให้ประชาชนคนไทยได้รับการบริการไม่ดีหรือเข้าไม่ถึงการให้บริการสาธารณสุขได้หรือไม่ นพ.ชลน่าน ยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับประชาชนในการเข้าถึงการให้บริการ โดยได้นำร่องนโยบายใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ไปแล้ว จึงขอให้มั่นใจว่า แม้กระทรวงจะหารายได้เข้าประเทศก็จะไม่กระทบกับการให้บริการกับประชาชนคนไทย

สำหรับภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่มากเกินไปนั้น นายแพทย์ชลน่าน กล่าวยอมรับว่า บางแห่งมีปัญหารวมถึงเรื่องการถ่ายโอนโรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.)ให้กับท้องถิ่นซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดการให้บริการของโรงพยาบาลขนาดใหญ่นั้น ในเชิงของนโยบายเห็นพ้องกันว่า จะมีการคุยกับ กพ.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลบุคลากรของกระทรวงซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมี "คณะกรรมการบริหารงานบุคคลสาธารณสุข" หรือ กสธ.ที่ดูแลงานส่วนนี้จะเข้ามาบริหารงานเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้หรือไม่

นอกจากนี้ยืนยันว่า พร้อมเดินหน้านโยบาย 50 เขต 50 โรงพยาบาล เนื่องจากที่ผ่านมานั้นจากปัญหาโควิดที่เกิดขึ้นพบปัญหาการเสียชีวิตจำนวนมากใน กทม.เนื่องจากขาดแคลนสถานพยาบาลและไม่สอดคล้องกับจำนวนประชากรในพื้นที่ อย่างไรก็ดี จะดูความจำเป็นในพื้นที่เป็นหลัก 

สำหรับปัญหาเด็กแรกเกิดซึ่งทำให้เกิดปัญหาโครงสร้างปัญหาประชากรของไทยบิดเบี้ยว โดยมีเด็กเกิดใหม่น้อยกว่า 50,000-60,000 คนจะผลักดันเรื่องนี้ให้เป็น "วาระแห่งชาติ" ต่อไป