นักกฎหมาย แนะ "พัชรวาท" ลาออกกรรมการบริษัทป้องกันข้อครหา

29 ก.ค. 2566 | 09:27 น.

นักกฎหมายแนะ “พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ” นั่งที่ปรึกษา “พรรคพลังประชารัฐ” ควรลาออกกรรมการบริษัทเอกชน ป้องกันข้อครหาจากประชาชน แม้ไม่รับเงินเดือน หรือผลตอบแทนจากพรรคการเมืองก็ตาม

จากกรณีที่ "พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ" อดีต ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษา พรรคพลังประชารัฐ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป

ซึ่งจากการตรวจสอบฐานข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยฐานเศรษฐกิจพบชื่อของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ นั่งเป็นกรรมการในบริษัทอย่างน้อย 4 แห่ง ซึ่งเป็นบริษัทชื่อดังทำธุรกิจประเภทต่าง ๆ ทั้ง ร้านค้าสะดวกซื้อ ผลิตอาหารสัตว์ พลังงาน และอสังหาริมทรัพย์

ด้าน รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ให้ความเห็นกรณีที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ต้องดูสถานะของคำว่าที่ปรึกษาพรรคฯ ของ พล.ต.อ.พัชรวาท ที่เข้ามารับตำแหน่งที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐ ถ้าเป็นแค่ที่ปรึกษาพรรค และทางพรรคมาขอคำปรึกษาโดยไม่รับเงินเดือนไม่กระทบต่อตำแหน่ง กรรมการในบริษัทจดทะเบียน แต่ถ้าเข้ามาเป็นที่ปรึกษาพรรค และได้รับเงินเดือนอันนี้ก็ต้องดูบทบาท และสถานะที่แท้จริงก่อนว่าเป็นอย่างไร

ด้านนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระและผู้สอนวิชากฎหมาย ณ มหาวิทยาลัยลอนดอน SOAS ได้ให้ความเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า หากว่ากันด้วยข้อกฎหมาย อาจอ้างได้ว่า การนั่งเป็นกรรมการในบริษัทอยู่ในปัจจุบัน แล้วได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาพรรคการเมือง แต่ไม่ได้รับผลตอบแทนไม่มีอำนาจตัดสินใจสั่งการนั้น การไม่ลาออกจากกรรมการบริษัทคงไม่เป็นปัญหา 

แต่หากจะป้องกันข้อครหาจากประชาชน ทำให้ควรที่จะลาออกจากตำแหน่งต่างๆ ที่เป็นกรรมการในบริษัทเอกชน เพราะหากจะเข้ามาทำงานด้านการเมืองเต็มตัวก็ควรที่จะลาออกในทุกๆ ตำแหน่ง เพื่อความสง่างาม และลดข้อครหาในเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน

เพราะอย่างที่ผ่านมามีกรณีของ "นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่มีการถือครองหุ้น ITV ในกองมรดก ที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจสื่อแล้ว แต่กลับมีการถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น 

ดังนั้นในเรื่องนี้ พล.ต.อ.พัชรวาท แม้ในทางกฎหมายจะต่างกัน ก็ควรลาออกจากตำแหน่งต่างๆ  เพื่อป้องกันการตั้งข้อสงสัยจากประชาชนว่าเป็นการปฏิบัติแบบสองมาตรฐานซึ่งอาจทำให้สังคมแตกแยกรุนแรงต่อไป