“นราพัฒน์ แก้วทอง” อีกหนึ่งขุนพล ปชป. เสนอชื่อชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคคนใหม่

09 ก.ค. 2566 | 06:26 น.

นายนราพัฒน์ แก้วทอง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลพื้นที่ภาคเหนือ เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ได้รับการเสนอชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ ในการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี ที่กำลังมีขึ้นในวันนี้ (9 ก.ค.) เขาเป็นใคร มีโปรไฟล์ดีขนาดไหน เรามีคำตอบที่นี่

 

นายนราพัฒน์ แก้วทอง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลพื้นที่ภาคเหนือเนื่องจากเป็นคนพื้นเพจังหวัดพิจิตร เกิดและเติบโตมาในครอบครัวนักการเมือง บิดาคือนายไพฑูรย์ แก้วทอง อดีต ส.ส.พิจิตรหลายสมัยและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

นราพัฒน์ ชื่อเล่น “ตุ้ม” เกิดเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2512 เป็นบุตรชายคนโตของนายไพฑูรย์ แก้วทอง กับนางอัจฉราภรณ์ แก้วทอง เขามีน้องชาย-หญิง 2 คน คือ นางสาวพัชราภรณ์ แก้วทอง น้องสาว และนายพูนทรัพย์ แก้วทอง น้องชาย

ประวัติด้านการศึกษา

นราพัฒน์เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี บริหารธุรกิจ สาขาบัญชี จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาโท บริหารธุรกิจ (M.B.A) จาก National University ประเทศสหรัฐอเมริกา

ด้านชีวิตครอบครัว

เขาสมรสแล้วกับนางอุมาพร แก้วทอง (สกุลเดิม บุญนาน) มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายตฤณพัฒน์ แก้วทอง และ ด.ญ.พรนภัส แก้วทอง กิจกรรมที่เป็นความชื่นชอบส่วนตัว คือ การติดตามชมฟุตบอลต่างประเทศ รวมถึงการวิเคราะห์วิจารณ์การแข่งขัน โดยมีแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เป็นสโมสรฟุตบอลทีมโปรด นอกจากนี้ ยังมีงานอดิเรกตกปลา

ประวัติการทำงาน

  • 2535 - 2537 สมุห์บัญชี บริษัทเพชรพล จำกัด
  • 2540 - 2543 กรรมการผู้จัดการ บริษัทสระหลวงก่อสร้าง จำกัด
  • กรรมการผู้จัดดการ บริษัท ก นราพัฒน์ จำกัด

ประวัติผลงานบนเส้นทางการเมือง

ในปี พ.ศ. 2544 นายไพฑูรย์ แก้วทอง ผู้เป็นบิดา ได้รับการวางตัวจากพรรคประชาธิปัตย์ ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรค นายนราพัฒน์ แก้วทอง จึงลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ประจำเขตเลือกตั้งที่ 2 ของจังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมของบิดา และเขาก็สามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งได้เป็น ส.ส. ครั้งแรก เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2544

ต่อมาในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 นราพัฒน์ แก้วทอง ลงสมัครรับเลือกตั้ง เขต 1 จังหวัดพิจิตร ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนนำเป็นเป็นอันดับ 1 ของจังหวัดพิจิตร และเป็น ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เพียงหนึ่งเดียวของจังหวัดพิจิตร

ในการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 นราพัฒน์ลงสมัครรับเลือกตั้ง เขต 2 จังหวัดพิจิตร และได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เพียงคนเดียวของจังหวัดพิจิตรอีกครั้ง เช่นเดียวกับการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้า

หลังการเลือกตั้งในครั้งนั้น ในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2554 พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปีเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ชื่อของนราพัฒน์ก็ได้รับเสนอชื่อและได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกับนายนิพนธ์ บุญญามณี และนายศุภชัย ศรีหล้า

กระทั่งปี 2562 นราพัฒน์ แก้วทอง ได้รับแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ดูแลพื้นที่ภาคเหนือ และในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปในพ.ศ. 2562 เขาลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ(ปาร์ตี้ลิสต์พรรคประชาธิปัตย์ ลำดับที่ 27) แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง

ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จนเมื่อพ.ศ. 2565 เมื่อนายอภิชัย เตชะอุบล ได้ขอลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ ทำให้นราพัฒน์ได้ขยับขึ้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนนายอภิชัย

ล่าสุด ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพ.ค.ปีนี้ (2566) นราพัฒน์ได้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคประชาธิปัตย์ในลำดับที่ 7 และเป็นหนึ่งใน 25 ส.ส.ประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นยุคที่ทางพรรคมีจำนวนส.ส.ในสภาน้อยที่สุดนับตั้งแต่ที่มีการจัดตั้งพรรค  

นายนราพัฒน์ แก้วทอง รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

นายนราพัฒน์ แก้วทอง รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวก่อนเข้าร่วมประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ 9 ก.ค. 66 ว่า ยังไม่ทราบว่าจะมีการเสนอชื่อชิงหัวหน้าพรรคฯ แต่หากมีผู้เลือกก็พร้อมจะทำหน้าที่ 

ทั้งนี้หากจะมีการแสดงวิสัยทัศน์ต่อสมาชิกพรรคเพื่อนำพาพรรคประชาธิปัตย์ในอนาคตนั้น ก็จะแสดงถึงความเป็นวันประชาธิปัตย์ สื่อถึงความเป็นหนึ่งเดียว 

จากนั้น นายนราพัฒน์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมใหญ่ฯ ของพรรคฯ ไม่สามารถเลือกหัวหน้าพรรคฯ คนใหม่ได้ว่า หลังจากนี้ จะต้องปรับเปลี่ยนการสื่อสารใหม่ทั้งภายใน และภายนอกพรรค และยังคงต้องดำเนินการไปตามข้อบังคับพรรค ซึ่งกรรมการบริหารพรรคฯ ชุดรักษาการ จะเรียกประชุม เพื่อดำเนินการต่อไป

และเชื่อว่า หากมีการพูดคุยปรับความเข้าใจกันได้ พรรคฯ ก็จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และการเลือกหัวหน้าพรรคฯ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นตนเองก็ได้ แต่หากใครเห็นด้วยกับแนวคิดของตน ที่สามารถทำให้พรรคฯ กลับมาเข้มแข็งได้ ตนก็ยินดีขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคฯ โดยจะต้องขึ้นอยู่กับสมาชิกพรรค ที่จะลงคะแนนให้ 

นายนราพัฒน์ ยังมองว่า เหตุการณ์ในวันนี้ เป็นเสน่ห์ความเป็นประชาธิปไตยของพรรคฯ ซึ่งถือเป็นทั้งจุดอ่อน และจุดแข็งในเวลาเดียวกัน และตนเองก็ต้องเคารพเสียงในการตัดสินใจของสมาชิกพรรคฯ ว่า จะเดินไปในทิศทางใด ซึ่งในวันข้างหน้า ตนเองก็หวังว่า พรรคฯ จะเป็น "วันเดโมแครต" หรือ "One ประชาธิปัตย์” ให้ได้ 

ส่วนวิสัยทัศน์ดังกล่าว เป็นการสะท้อนว่าจะไม่ถอยในการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคฯ หรือไม่นั้น นายนราพัฒน์ ระบุว่า ตนเองใช้เวลาตัดสินใจระยะหนึ่ง ที่เสนอตัวชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคฯ แต่มีผู้ใหญ่มาทาบทาม เสนอมุมมอง และแนวคิดหาบุคคลที่เป็นกลาง สามารถพูดคุยกับทุกฝ่ายได้ เพื่อให้พรรคฯ รวมกันเป็นหนึ่ง

จึงเห็นว่า เป็นเหตุผลที่สอดคล้องกัน และในวันข้างหน้า หากได้รับโอกาสจากสมาชิกในการเป็นหัวหน้าพรรคฯ ก็ยินดีที่จะมาเป็นคนขับเคลื่อนกฎ และร่างข้อบังคับ หรือกติกาให้มีความทันสมัยต่อโลก ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง และข้อบังคับต่าง ๆ ในพรรคฯ รวมถึงผนวกผู้อาวุโส กับคนรุ่นใหม่เข้าด้วยกัน

นายนราพัฒน์ ยังยอมรับด้วยว่า ตนเองคิดว่า จะอยู่ในตำแหน่งประมาณ 1 ปีครึ่ง ไม่เกิน 2 ปี เพื่อคืนอำนาจให้สมาชิกได้พิจารณาอีกครั้ง เพราะในที่ประชุมได้พูดคุยกันว่า สัดส่วนคะแนน 70:30 นั้น ไม่เป็นธรรม จึงถือเป็นโอกาสที่สมาชิกฯ จะได้มาพูดคุยกัน เพื่อให้กฎระเบียบกติกาเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และหากพรรคฯ ยังเป็นแบบนี้ ก็ถือว่า แพ้ภัยตัวเอง